ความเชื่อไม่ต้องมีเหตุผล ไม่ต้องการการพิสูจน์

ความเชื่อนั้น คือความมั่นใจว่าจะเป็นความจริง ซึ่งความเชื่อนั้นเป็นหลักการหรือทฤษฎีของคนอื่น ที่เรารับเอามาเชื่อถือโดยยังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นจริง เช่น เชื่อตามตำรา เชื่อตามคนอื่น เชื่อตามครูอาจารย์ เชื่อสามัญสำนึกของตนเอง เชื่อเหตุผล เป็นต้น

ความเชื่อนั้นเมื่อยังไม่ได้พิสูจน์ จึงต้องอาศัยความมั่นใจมาหล่อเลี้ยงไว้ ยิ่งมีคนเชื่อเหมือนกันมากๆ ความมั่นใจก็จะมีมาก และแก้ได้ยากมาก

ความเชื่อจะไม่มีเหตุผลมาอธิบาย เพราะยังไม่รู้จริง รวมทั้งไม่ต้องการการพิสูจน์ เพราะกลัวว่าจะไม่เป็นไปตามที่เชื่อ ถ้าใครพิสูจน์แล้วไม่เป็นความจริงก็จะบอกว่า ยังพิสูจน์ไม่เต็มที่หรือพิสูจน์ไม่ถูก  

และเพื่อป้องกันไม่ให้ใครโต้แย้งหรือซักถามเรื่องความเชื่อ จึงได้เกิดคำว่า  "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" ขึ้นมา เพราะถ้าลบหลู่ความเชื่อของใครก็เท่ากับลบหลู่ศักดิ์ศรีของเขา ซึ่งจะให้คนที่ถูกหลบหลู่โกรธได้

สรุปได้ว่า ความเชื่อนั้นเมื่อฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของใครแล้วจะยากมากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แม้ใครจะมีเหตุผลมาอธิบายสักเท่าใด และมีความจริงมายืนยัน ก็ยังไม่ทำให้คนที่เชื่อเปลี่ยนแปลงความเชื่อของเขาได้ อย่างเช่น คนที่เชื่อว่ามีการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกาย ที่แม้ความจริงจะบอกอยู่ว่า ถ้ามีชาติก่อนของเราจริง เราก็ต้องจำได้บ้างว่าเคยมีเรามาก่อน แต่นี่เราจำไม่ได้เลยสักนิดว่าเคยมีเราเมื่อชาติก่อน ซึ่งคนที่เชื่อเขาก็อ้างว่า "เพราะเราลืมหมดแล้ว" ซึ่งแม้เพียงการอ้างง่ายๆโดยไม่มีเหตุผลอย่างนี้ คนที่เชื่อเขาก็ยังเชื่อกันอยู่อย่างเหนียวแน่น แต่คนมีปัญญาเขากลับมองว่านี่เป็นความเชื่อที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเลยสักนิด เมื่อไม่มีปัญญาแล้วจะศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าให้ได้ผลจริงได้อย่างไร?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่