ปัญญา ๓ ระดับ

ปัญญาในพุทธศาสนาแยกได้ ๓  ระดับ คือ

๑. ปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากการฟังหรืออ่าน คือเมื่อเราได้ฟังหรืออ่านคำสอน (ธรรมะ) ที่ถูกต้องมา แล้วเราก็จำได้  ก็เรียกว่าเป็นปัญญาขั้นจำได้  (หรือรู้จำ) ซึ่งปัญญาขั้นนี้แทบไม่มีผลอะไร เพราะยังเป็นความรู้ของคนอื่นอยู่

๒. ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณา คือเมื่อเรานำเอาคำสอนที่จำได้นั้นมาคิดพิจารณาหาเหตุผล อย่างละเอียดถี่ถ้วน (ในทุกแง่มุม) และเป็นระบบ (มีขั้นตอน) จนไม่พบจุดบอด (จุดที่ไม่เข้าใจ) หรือขัดแย้งกันเอง ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ก็เรียกว่าเป็น ปัญญาขั้นเข้าใจ (ที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ-ความเห็นที่ถูกต้อง) ขึ้นมา ซึ่งปัญญาขั้นนี้ก็ยังมีผลไม่มากนัก คือเพียงทำให้ความทุกข์ที่เคยมีมากลดน้อยลงได้บ้างเท่านั้น (คือถ้าเข้าใจได้น้อยก็ลดลงได้น้อย ถ้าเข้าใจได้มากก็ลดน้อยลงได้มาก แต่ถ้าจะให้เข้าใจได้สูงสุดก็ต้องเกิดปัญญาขั้นเห็นแจ้งก่อนเท่านั้น)

๓. ปัญญาขั้นเห็นแจ้ง คือเมื่อเรานำเอาคำสอนที่เราเข้าใจแล้วนั้นมาพิสูจน์ หรือทดลองปฏิบัติอย่างจริงจัง จนบังเกิดผลเป็นความลดลงหรือดับทุกข์ของความทุกข์จริงๆแม้เพียงชั่วคราว ก็เรียกว่าเป็นปัญญาขั้นเห็นแจ้ง (หรือเห็นจริง หรือรู้จริง หรือ รู้แจ้งเห็นจริง) ซึ่งปัญญาขั้นเห็นแจ้งนี้เป็นปัญญาสูงสุดในพุทธศาสนา เพราะทำให้ความทุกข์ที่เป็นภัยอันใหญ่หลวงของชีวิตดับสิ้นไปได้อย่างถาวร

การที่จะเกิดปัญญาตามหลักพุทธศาสนาขึ้นมาได้สูงสุด จะต้องได้ฟังหรืออ่านคำสอนที่ถูกต้องมาก่อน แล้วได้นำคำสอนนั้นมาคิดพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุหาผลอย่างละเอียดถี่ถ้วนและเป็นระบบ จนเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งขึ้นมา แล้วนำเอาความเข้าใจนั้นมาพิสูจน์ (ว่าเป็นจริงตามที่เราเข้าใจหรือเปล่า?) ด้วยการทดลองปฏิบัติอย่างจริงจัง (คือต่อเนื่องอย่างเต็มตามมาตรฐาน) จนเกิดความเห็นแจ้งขึ้นมาจริงๆว่าคำสอนนั้นปฏิบัติตามแล้วบังเกิดผลจริง คือทำให้ความทุกข์ลดน้อยลงหรือดับหายไปจริงๆ (แม้เพียงชั่วคราว) ก็จะทำให้เกิดเป็นปัญญาขั้นสูงสุดขึ้นมาได้

แต่ถ้าเราบังเอิญได้ฟังหรืออ่านคำสอนที่ไม่ถูกต้อง (หรือผิดเพี้ยน) มาก่อน (คือฟังจากครูอาจารย์หรือคนที่เขาก็มีความเห็นผิดอยู่ก่อนแล้วโดยที่ตัวท่านเองก็ไม่รู้ตัว หรืออ่านจากตำราพุทธศาสนาที่ถูกแก้ไขแต่งเติมจนผิดเพี้ยนก่อนที่จะมาถึงเรา) แล้วเราก็เชื่อว่าคำสอนที่เราได้ฟังหรืออ่านมานั้นคือสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้า เราก็จะไม่ยอมนำมาคิดพิจารณาหาเหตุผล เพราะเชื่อว่ามันถูกต้องแล้ว หรือถึงนำเอามาคิดพิจารณา ก็จะหาเหตุผลไม่ได้ เพราะมันไม่มีเหตุผลที่จะทำให้เราเข้าใจได้ ซ้ำยังจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ขึ้นมาก็ได้โดยง่าย และถึงแม้เราจะนำเอาความเชื่อหรือความเข้าใจผิดนั้นมาทดลองปฏิบัติ ก็จะไม่เกิดความเห็นแจ้ง (คือความทุกข์ลดน้อยลงหรือดับลงจริงๆแม้เพียงชั่วคราว) ขึ้นมาได้อย่างแท้จริง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่