ความขัดแย้งระหว่างความจริงกับความเชื่อ

เรื่องความเชื่อกับความจริง

ความจริง คือสิ่งหรือสภาวะที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ตามธรรมชาติอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ส่วน ความเชื่อ คือความมั่นใจว่าจะเป็นความจริง ซึ่งธรรมชาตินั้นมันมีความจริงของมันอยู่แล้ว โดยความจริงนั้นจะมีเพียงหนึ่งเท่านั้น แต่ความเชื่อนั้นมีมากมายและขัดแย้งกันเอง

ความจริงนั้นเราสามารถรับรู้หรือสัมผัสมันได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเรานี่เอง ส่วนเรื่องราวที่เราได้รับฟังหรืออ่านมา แต่เรายังไม่ได้รับรู้หรือสัมผัสมันด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเราเองจริงๆ เรื่องราวที่เราได้รับรู้มานั้นมันก็ยังเป็นแค่เพียง ความเชื่อ เท่านั้น โดยความเชื่อบางอย่างก็เป็นความจริง แต่บางอย่างก็ไม่เป็นความจริง และความเชื่อบางอย่างก็เป็นประโยชน์ แต่บางอย่างก็ไม่เป็นประโยชน์

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความเชื่อใดถูกต้องและความเชื่อไม่ถูกต้อง ? คำตอบคือ เราก็ต้องพิสูจน์หรือทดลองเพื่อค้นหาความจริง ถ้าพิสูจน์แล้วพบว่าเป็นจริง แสดงว่าความเชื่อนั้นก็ถูกต้อง แต่ถ้าพิสูจน์แล้วพบว่าไม่เป็นความจริง แสดงว่าความเชื่อนั้นไม่ถูกต้อง

ความเชื่อบางอย่างเราก็สามารถพิสูจน์ได้ มันจึงไม่เป็นปัญหา แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า ความเชื่อบางอย่างเราก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ดังนั้นปัญหามันจึงอยู่ที่ว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความเชื่อที่เรายังพิสูจน์ไม่ได้นี้มันถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง

ความเชื่อที่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ (หรือยังไม่ได้พิสูจน์) นั้น ถ้ามันเป็นความเชื่อที่เชื่อแล้วเกิดประโยชน์มากกว่าโทษ เราก็สมควรที่จะเชื่อต่อไป แต่ถ้าเชื่อแล้วมันเกิดโทษมากกว่าประโยชน์ เราก็ไม่สมควรเชื่อ

แล้วอะไรคือประโยชน์ อะไรคือโทษ? ซึ่งนี่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยึดถืออะไรว่าเป็นประโยชน์หรือโทษ อย่างเช่นบางคนเชื่อว่าการได้วัตถุนิยม (คือกามารมณ์, วัตถุฟุ่มเฟือย, และเกียรติยศชื่อเสียง) นั้นคือประโยชน์ ส่วนการสูญเสียวัตถุนิยมนั้นคือโทษ ซึ่งนี่คือเรื่องธรรมดาของชาวโลกที่ยังจมอยู่ในอวิชชา (ความไม่รู้ถึงความจริงสูงสุดของธรรมชาติที่ควรรู้) แต่ถ้าจะพิจารณาถึงเรื่องความหลุดพ้นจากความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันแล้ว เราก็จะพบว่า ความหลุดพ้นจากความทุกนั้นก็คือประโยชน์ ส่วนการที่ต้องจมติดอยู่ในความทุกข์นั้นก็คือโทษ

ดังนั้นเมื่อเรามาศึกษาเรื่องความพ้นทุกข์ เราก็ต้องเปลี่ยนความเชื่อตามตำราหรือตามครูอาจารย์หรือตามการคิดคำนวณเป็นต้น ของเราให้กลายมาเป็นความจริงก่อน ด้วยการพิสูจน์หรือทดลองจนกว่าจะพบความจริง เพราะความจริงที่เราค้นพบนี้จะเป็นปัญญาที่เราจะนำมาใช้คู่กับสมาธิ (โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว) ในการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า  แต่ถ้าเรายังจมอยู่ในความเชื่อที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ หรือเป็นความเชื่อที่ไม่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ เราก็จะยังไม่มีปัญญาสำหรับมาใช้ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่