เตือนระวังหมอออนไลน์ แนะเช็กก่อนแชร์-อย่าหลงเชื่อ

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้สื่อออนไลน์ และโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ เป็นที่นิยมอย่างสูง ในการใช้เผยแพร่ข่าวสารต่างๆ โดยในส่วนของการแพทย์ก็ได้นำมาใช้อย่างแพร่หลาย การเผยแพร่ข้อมูลทางการแพทย์ผ่านสื่อเหล่านี้ บางครั้งพบว่า แพทย์ใช้ชื่อจริงนามสกุลจริง ซึ่งสามารถตรวจสอบที่มาได้อย่างชัดเจน แต่บางครั้งก็มีการใช้นามแฝง ไม่สามารถตรวจสอบได้

ทั้งนี้หากเป็นแพทย์จริงก็ไม่น่ากังวล แต่สิ่งที่กังวล คือ การอ้างว่าตัวเองเป็นแพทย์แล้วเผยแพร่ความรู้ผิดๆ ซึ่งการเผยแพร่ความรู้ในสื่อเหล่านี้บางครั้งถูกส่งต่อกันเป็นวงกว้างทำให้กระจายความรู้ ความเชื่อผิดๆ ไปด้วย

พล.อ.ต.นพ.อิทธพรกล่าวอีกว่า มาตรา 28 พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้คำหรือข้อความที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญ ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ ทั้งนี้ รวมถึงการใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ ผู้อื่นกระทำดังกล่าวให้แก่ตน เว้นแต่ผู้ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขานั้นๆ จากแพทยสภา เป็นต้น ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นการให้ข้อมูลหรือมีพฤติกรรมคล้ายแพทย์ในโซเชี่ยลมีเดีย แพทยสภาอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

"ฝากให้ประชาชนที่ติดตามบุคคลที่ระบุว่าเป็นแพทย์ในสื่อประเภทต่างๆ ตรวจสอบสถานภาพความเป็นแพทย์ก่อนว่าจริงหรือไม่แล้วค่อยเชื่อข้อมูลเหล่านั้น รวมถึงตรวจสอบบทความที่ใช้อ้างอิงในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ว่าแพทย์ดังกล่าวเขียนจริงหรือไม่ หากเกิดความเสียหายขึ้นจะได้ร้องเรียน" พล.อ.ต.นพ.อิทธพรกล่าว


ข่าวสด

พวกข้อมูลต่าง โดยเฉพาะเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการดูแลสุขภาพ บางทีอ่านแล้วก็งงๆ เพจนั้นบอกอย่างอีกเพจบอกอย่าง สำนักนั้นบอกไปอีกเรื่อง ไม่รู้จะเชื่ออันไหนดี
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่