แพทย์สภาเตรียมออกประกาศกำหนดมาตราฐานหมอเสริมความงาม

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทย์สภา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้แพทย์สภาประกาศห้ามนำสารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ชนิดไม่สลายตัวเข้ามาใช้ในประเทศเพราะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภค จะอนุญาตให้ใช้เฉพาะชนิดที่สลายตัวเท่านั้น แต่ก็ยังพบรายงานว่าสารฟิลเลอร์ชนิดสลายตัวทำให้ผิวหนังบริเวณที่ฉีดสารตายตัว และเกิดภาวะตาบอดในผู้ใช้บางราย ดังนั้น ล่าสุดคณะอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมการเสริมสวยและการโฆษณาจึงได้มีการหารือและเตรียมจะออกร่างประกาศแพทยสภา เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรฐานของแพทย์ที่จะประกอบวิชาชีพด้านเวชกรรมเพื่อการเสริมความงามที่มีความเสี่ยงสูง และร่างหลักสูตรการอบรมเทคนิคการศัลยกรรมความงาม คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จประมาณวันที่ 14 มี.ค.2557  

นพ.สัมพันธ์ กล่าวต่อว่า ร่างหลักสูตรการอบรมเทคนิคการศัลยกรรมความงามจะกำหนดให้แพทย์ที่จบใหม่ หรือแพทย์ที่ไม่มีความชำนาญเข้ารับการฝึกอบรมเทคนิคการ การใช้เครื่องมือ การใช้สารต่างๆ ในการทำศัลยกรรมที่มีมาตรฐานจากสถาบันฝึกอบรมที่มีมาตรฐานในประเทศซึ่งได้รับการรับรองจากแพทยสภา พร้อมทั้งให้สามารถแก้ปัญหาหรือรักษาผลกระทบที่เกิดจากการทำศัลยกรรมได้ในเบื้องต้นก่อนส่งต่อเพื่อการรักษาต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมมาตรฐานแพทย์ศัลยกรรมให้กับประเทศ ให้เป็นผู้นำทางด้านศัลยกรรมความงามในภูมิภาคอาเซียน เป็นมหาอำนาจทางด้านการแพทย์ของภูมิเอาเซียน โดยมีแพทยสภาเป็นเสาหลักในการดำเนินการเองเพราะขณะนี้สถานภาพของรัฐบาลยังไม่แข็งแรงเท่าไหร่ อีกทั้งทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็ประกาศเรื่องนี้มาตลอดแต่ไม่เห็นดำเนินการอะไร ดังนั้นแพทยสภาจะดำเนินการแทนรัฐบาลเอง

“การที่คุณไปเรียนบอกว่าไปเรียนเสริมความงามที่ต่างประเทศ สถานที่เรียนเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ บางคนไปเรียนตามห้องแถว ไปเรียนมา 2-3 วันกลับมาประกาศตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างนี้ถือว่าไม่เหมาะสม” นพ.สัมพันธ์ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาพบว่ามีการนำเข้าแพทย์ศัลยกรรมความงามจากต่างประเทศสูง 90% ที่ไม่ได้ขออนุญาตจากแพทยสภา ทั้งนี้ไม่ว่าจะเข้ามาทำหน้าที่ในการสอนให้ความรู้ หรือเข้ามาให้บริการถือว่ามีความผิดทางอาญาโทษจะหนักมาก แต่เนื่องจากที่เข้ามาเหล่านี้แพทยสภาไม่รู้เรื่องมาก่อนเลยไม่สามารถจัดการได้ แต่ในกรณีที่รู้ตัวก่อนแล้วจะใช้วิธีเจรจาสกัดไม่ให้เข้ามา

นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ร่างหลักเกณฑ์ที่จะออกมาในระยะแรกไม่ได้บังคับให้แพทย์ทุกคนต้องเข้ามาร่วมอบรม แต่กรณีที่ผ่านการอบรมด้านการศัลยกรรมความงามจากสถาบันที่แพทยสภาให้การรับรองแล้วนั้นเปรียบเสมือนได้รับการยืนยันมาตรฐาน ถ้าเปิดคลินิกก็จะได้การยืนยันในมาตรฐานความรู้ความสามารถ เช่นเดียวกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรแพทย์ จักษุแพทย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามยืนยันว่าสูจิบัตรที่ระบุว่าเป็นแพทย์ผ่านการอบรมเฉพาะทางนั้นไม่ใช่ใบอนุญาตว่าสามารถเปิดคลินิกได้ ยังต้องขออนุญาตที่กองประกอบโรคศิลปะ ซึ่งอนาคตแพทยสภาอยากจะให้หลักสูตรนี้เข้าไปเป็นหนึ่งหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาอนุญาตให้เปิดสถานบริการของกองประกอบโรคศิลป์เหมือนกัน แต่คงเป็นไปได้ยาก เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย

นพ.อิทธพร กล่าวต่อว่า การที่จะนำแพทย์จากต่างประเทศเข้ามาทำงานหรือสอนวิชาการในประเทศจำเป็นต้องขออนุญาตจากแพทยสภาก่อนเพื่อจะได้ตรวจสอบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นแพทย์จริงหรือไม่ ติดคดีความอะไรมาหรือไม่ เพราะกลัวเรื่องการมาชุบตัวในประเทศไทย อีกทั้งก่อนหน้านี้เคยเกิดกรณีนำเข้าแพทย์ศัลกรรมความงามจากต่างประเทศ แต่กลับมาทำให้คนไข้เสียโฉมแล้วหนีกลับประเทศของตัวเองไป อย่างนี้แพทย์สภาไม่สามารถติดตามตัวได้

ด้าน นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โดยธรรมชาติแล้วประเทศไทยมีบริการศัลยกรรมความงามมานานกว่า30 ปี แล้ว ถือว่ามีความเป็นผู้นำทางด้านนี้โดยธรรมชาติ แต่เนื่องจากขาดการจัดการ การตลาด การประชาสัมพันธ์จึงถูกชาติที่มีการบริหารจัดการด้านการตลาด ด้านการประชาสัมพันธ์ที่ดีอย่างประเทศเกาหลีเข้ามาเป็นศูนย์กลางที่โดดเด่น ดังนั้นแพทยสภาจะเริ่มบริหารจัดการใหม่โดยให้ชมรม สมาคมด้านศัลยกรรมที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมมือกันเพื่อทำให้เป็นผู้นำทางด้านวิชาการ โดยเบื้องต้นจะเน้นที่ประชากรในกลุ่มสมาชิกอาเซียนที่กำลังจะรวมตัวกันในปี 2558 ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยจัดเป็นกลุ่มเป้าหมายเลย

นพ.ชลธิศ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 1-2 มี.ค.นี้ สมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับชมรมจักษุศัลยแพทย์ตกแต่งและเสริมสร้าง(ประเทศไทย) จัดงานประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการ Masterclass Asian  Blepharoplasty เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มแพทย์คนไทยที่มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญการด้านจักษุศัลย์แพทย์ และแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งความงามกว่า 30 คนมาร่วมถ่ายทอดความรู้ทางด้านการศัลยกรรมตาโดยเฉพาะเทคนิคการทำตาสองชั้นทั้งแบบเจาะ การปลูกคิ้วเทรนด์การใช้เลเซอร์รอบดวงตา การใช้เสต็มเซลล์มาใช้ในการปรนนิบัติความงาม รวมไปถึงความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง.

เดลินิวส์
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  แพทย์ คุ้มครองผู้บริโภค ศัลยกรรมความงาม
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่