นิมิตแห่งจิตของตน

[๗๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เปรียบเหมือนพ่อครัวผู้เขลา ไม่ฉลาดเฉียบแหลม บำรุงพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาด้วยสูปะต่างชนิด
มีรสเปรี้ยวจัดบ้าง ขมจัดบ้าง เผ็ดจัดบ้าง หวานจัดบ้าง มีรสเฝื่อนบ้าง ไม่เฝื่อนบ้าง เค็มบ้าง จืดบ้าง
พ่อครัวนั้นไม่สังเกตรสอาหารของตนว่า วันนี้ ภัตและสูปะของเราชนิดนี้ท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะนี้มาก
หรือท่านชมสูปะนี้ วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสเปรี้ยวจัด ท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะมีรสเปรี้ยวจัด
หรือท่านหยิบเอาสูปะมีรสเปรี้ยวจัดมาก หรือท่านชมสูปะมีรสเปรี้ยวจัด
วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสขมจัด ... มีรสเผ็ดจัด ... มีรสหวานจัด ... มีรสเฝื่อน ... มีรสไม่เฝื่อน ... มีรสเค็ม ...
วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสจืดท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะมีรสจืด หรือท่านหยิบเอาสูปะ มีรสจืดมาก หรือท่านชมสูปะมีรสจืด ดังนี้

.......พ่อครัวนั้นย่อม ไม่ได้เครื่องนุ่งห่ม ไม่ได้ค่าจ้าง  ไม่ได้รางวัล
ข้อนั้นเพราะเหตุไร?
เพราะพ่อครัวนั้นเป็นคนเขลา ไม่ฉลาดเฉียบแหลม ไม่สังเกตเครื่องหมายอาหารของตน ฉันใด



[๗๐๕] ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เขลาไม่ฉลาดเฉียบแหลม
ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตย่อมไม่ตั้งมั่น ยังละอุปกิเลสไม่ได้ เธอไม่สำเหนียกนิมิตนั้น
ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ...
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
เมื่อพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ จิตย่อมไม่ตั้งมั่น ยังละอุปกิเลสไม่ได้ เธอไม่สำเหนียกนิมิตนั้น
ภิกษุนั้นย่อมไม่ได้ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันและไม่ได้สติสัมปชัญญะ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร?
เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาดเฉียบแหลม ไม่สำเหนียกนิมิตแห่งจิตของตน.


*****************

[๗๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เปรียบเหมือนพ่อครัวผู้มีปัญญาฉลาด เฉียบแหลม บำรุงพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาด้วยสูปะต่างชนิด
มีรสเปรี้ยวจัดบ้าง ขมจัดบ้าง เผ็ดจัดบ้าง หวานจัดบ้าง มีรสเฝื่อนบ้าง ไม่เฝื่อนบ้าง มีรสเค็มบ้าง จืดบ้าง
พ่อครัวนั้นย่อมสังเกตรสอาหารของตนว่า วันนี้ ภัตและสูปะของเราชนิดนี้ ท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะนี้ หรือ
หยิบเอาสูปะนี้มาก หรือท่านชมสูปะนี้ วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสเปรี้ยวจัด ... วันนี้ ภัต
และสูปะของเรามีรสขมจัด ... มีรสเผ็ดจัด ... มีรสหวานจัด ... มีรสเฝื่อน ... มีรสไม่เฝื่อน ...มีรสเค็ม ...
วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสจืดท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะมีรสจืด หรือท่านหยิบเอาสูปะมีรสจืดมาก หรือท่านชมสูปะมีรสจืด ดังนี้

พ่อครัวนั้นย่อม ได้เครื่องนุ่งห่ม ได้ค่าจ้าง ได้รางวัล
ข้อนั้นเพราะเหตุไร?
เพราะพ่อครัวนั้นเป็นคนมีปัญญา ฉลาด เฉียบแหลมสังเกตรสอาหารของตนฉันใด.


[๗๐๗] ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญาฉลาด เฉียบแหลม
ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตย่อมตั้งมั่น ละอุปกิเลสได้ เธอย่อมสำเหนียกนิมิตนั้น
ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ...
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ จิตย่อมตั้งมั่น ละอุปกิเลสได้ เธอย่อมสำเหนียกในนิมิตนั้น
ภิกษุนั้นย่อมได้ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และได้สติสัมปชัญญะ
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร?
เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้มีปัญญา ฉลาด เฉียบแหลม สำเหนียกนิมิตแห่งจิตของตน.

                                                            จบ สูตรที่ ๘

-----------------------------------

สูทสูตร
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

    เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙  บรรทัดที่ ๔๐๕๐ - ๔๐๙๑.  หน้าที่  ๑๖๙ - ๑๗๑.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=4050&Z=4091&pagebreak=0

    ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=704
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่