แชร์ประสบการณ์นักแปลไม่มืออาชีพเป็นแรงบันดาลใจให้คนอยากแปล (บทความยาว)

หากถามว่าอาชีพส่วนตัวอะไรใช้เงินลงทุนเฉพาะหน้าน้อยที่สุดและได้ผลตอบแทนสูง ผมนึกถึง อาชีพฟรีแลนซ์ (Freelance) อาชีพฟรีแลนซ์ทุกชนิดเป็นนายตัวเอง หรือ Self-employed ต้องใช้ทักษะและการบริหารจัดการต่างๆ รวมไปถึงทำการตลาดให้ผลิตภัณฑ์ดั่งเช่นเจ้าของกิจการทุกประการ ต่างกันตรงที่ตัวผลิตภัณฑ์ที่ขายแลกเงินเปลี่ยนจาก Commodity มาเป็น Service ตัวคุณผู้ทำงานฟรีแลนซ์คือ ผลิตภัณฑ์มีชีวิตขายทักษะและความรู้แลกเงิน

หากไม่นับต้นทุนทางความรู้ที่คุณได้แต่ใดมาในอดีตจนทำให้เป็นผู้มีทักษะในการทำงานฟรีแลนซ์ในปัจจุบัน การเริ่มต้นกับอาชีพฟรีแลนซ์ไม่ต้องเปิดหน้าร้าน ไม่ต้องมีสำนักงาน จะมีก็เพียงคอมพิวเตอร์, ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงาน, บัญชีอีเมล์, บัญชีเพย์พาล (Paypal.com) สำหรับรับเงินกรณีติดต่องานกับต่างประเทศ และเว็บไซต์หรือบล็อก ซึ่งเหล่านี้มีต้นทุนอยู่ที่หลักหมื่นบาท หากอุปกรณ์เริ่มต้นพร้อมคุณก็เริ่มก้าวแรกสู่อาชีพฟรีแลนซ์ได้

ที่มาที่ไปในการเริ่มต้นเป็นนักแปลอิสระ

การได้เข้ามาเป็นนักแปลอิสระอยู่ช่วงหนึ่งทำให้ผมได้ทั้งประสบการณ์ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ที่สำคัญคือได้เงินเป็นก้อนเป็นกำให้ฟื้นยืนตัวได้ในช่วงขาลงของชีวิต ผมมีทักษะทางภาษาที่เกิดจากการเล่าเรียนมาแต่เดิมและผมก็คิดอยากลองเป็นนักแปลมาแต่สมัยเด็กๆ เพราะด้วยความที่พ่อผมเป็นอดีตล่ามและนักแปลประจำบริษัทเอกชนข้ามชาติรายหนึ่งซึ่งต้องทำโครงการสำคัญร่วมกับทางราชการ บริษัทนั้นจึงให้ความสำคัญกับนักแปลมาก ตอนนั้นผมจึงเห็นว่าเงินดี มีเกียรติ แถมมีรถประจำตำแหน่งให้พ่อผมอีกต่างหาก!

แต่เมื่อโตมาสถาการณ์หลายอย่างก็เปลี่ยนไป นักแปลประจำเริ่มไม่เป็นที่นิยม อินเตอร์เน็ตสร้างโอกาสให้นักแปลอิสระมากขึ้น ปรากฏนักแปลอิสระน้อยใหญ่รับงานผ่านอินเตอร์เน็ตและในขณะเดียวกันก็ปรากฏนักแปลที่รับงานในราคาหน้าละ 100-200 บาท ผมคิดว่าทำไมมันถูกจังเลยว่ะ แบบนี้เรียกว่าแปลให้ตายกันไปข้างก็ยังได้ไม่เท่าทำงานประจำ

แต่พอผมลองไล่ศึกษาต่อไปอีกผมถึงพบว่า หากเรารับงานแปลโดยตรงจากต่างประเทศ นั่นแหละที่ค่าจ้างจึงจะสูงกว่าหลายเท่าตัว แต่เมื่อรู้แล้วผมก็ยังไม่กล้าลงมือทำเพราะกลัว กลัวตัวเองเก่งไม่พอ กลัวทำไม่ได้ กลัวไม่จ่าย กลัวโดนโกง ฯลฯ สารพัดกลัว ความอยากจึงเป็นเพียงแค่ความอยากต่อไปอีกหลายปีจนกระทั่งเมื่อปี 2010 เกิดมรสุมชีวิตมากมายทำให้ผมมีความต้องการเงินด่วน เงินเดือนอย่างเดียวไม่พอใช้ ลงทุนทำอะไรเสริมก็ไม่ได้แล้ว เงินไม่พอรอไม่ได้ ผมจึงหันกลับมามองทักษะที่มีอยู่กับตัวมายาวนานอีกครั้งนั่นคือ ทักษะภาษาอังกฤษไทย และ การเริ่มคิดรับแปลเป็นอาชีพเสริม

ทำไมต้อง นักแปลไม่มืออาชีพ

ขอบอกตามตรงแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการเริ่มต้นเป็นนักแปลอิสระในประเทศไทยนั้นช่างเบาบางหรือไม่ก็หลักการจ๋าจนมึนหัว ผมเคยเห็นคอร์สสัมมนาหลักสูตรนักแปลมืออาชีพเจ้าหนึ่งที่ผมแค่เห็นตารางรายละเอียดสิ่งที่ต้องเรียนรู้ก็ท้อแล้ว ถึงมันจะดูเป็นมืออาชีพ เรียนแล้วจะถือว่าเป็นผู้จบหลักสูตรนักแปลมืออาชีพ แต่ผมคิดว่าคนอยากทำงาน หรือขอใช้ศัพท์แบบบ้าน คนเสี้ยนงาน คนร้อนเงิน ไม่มีปัญญาเฝ้ารอได้ขนาดนั้น

จุดเริ่มต้นของผมก็บ้านๆ ดีๆนี่เอง คือ หาลูกค้า, หาลูกค้า, แล้วก็หาลูกค้า ส่ง Resume ไปเสนอตัว ส่งๆๆๆ แล้วก็ส่งๆๆ จนกว่าจะมีที่ไหนสักแห่งตอบรับ ซึ่งในที่สุดหลังจากส่งไปเป็นร้อยๆบริษัทก็มี 4-5 บริษัทคิดต่อกลับมาและในจำนวนผู้ที่ติดต่อกลับมาก็เหลือเพียง 1-2 บริษัทที่ได้งานจริงๆ และนี่คือออเดอร์แรกของผม เมื่อมีออเดอร์แรกก็มีออเดอร์ต่อๆไป ทุกอย่างก็ดำเนินไปตาม Momentum ทำงาน แก้ปัญหาต่างๆ ส่งงาน รับเงิน ฯลฯ โดยที่ผมไม่ได้จบอักษรศาสตร์ โดยที่ผมไม่มีใบ Certificate ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นนักแปล ต่างจากกรอบความคิดความเชื่อของบางคน ผมจึงอาจเรียกได้ว่า ผมเป็น นักแปลไม่มืออาชีพ...แต่ก็ได้ตัง

ในโลกของการเป็นนายตัวเอง บางเรื่องก็ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวหรือต้องเดินเป็นเส้นตรงเสมอไป โลกของนายตัวเองซิกแซก ยืดหยุ่น และเต็มไปด้วยช่องของโอกาส สบช่อง ลุย เล็ด ลอด ก็แจ้งเกิดบนเส้นทางในฝันได้

นักแปลอิสระได้เงินเท่าไร

นักแปลอิสระบางคนและศูนย์แปลเอกสารบางแห่งรับแปลกันที่หน้าละ 100-200 หรือ 300 บาท มูลค่านี้เป็นราคาที่ถูกมากและอาจจะมากเกินไปสำหรับทักษะอันมีคุณค่าและเฉพาะทางอย่างนักแปล การแปลไม่ใช่งานง่าย นอกจากความรู้ทางภาษาแล้ว ยังต้องมีความรู้ทางวิชาที่จะแปลก (Subject) และความเข้าใจเรื่องภาษาตามวัฒนธรรม (Culture) รวมไปถึงวินัย สติ สมาธิ โอ๊ย เยอะอ่ะ

ฉะนั้นถ้ารับแปลกันหน้าละร้อยสองร้อยก็น่าห่วงในเรื่องของคุณภาพ ไม่ได้เหมารวมว่าทุกคนจะไม่ดี คนดีแปลถูกอาจมีแต่มีน้อย แล้วแปลถูกๆดีๆจะมีทำไปได้นานแค่ไหน? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทักษะสูงขึ้น ประสบการณ์มากขึ้น และรู้เยอะขึ้นโดยเฉพาะรู้ว่าค่าแปลคู่ภาษาอังกฤษไทยนั้นมีราคามาตราฐานตลาดโลกที่สูงสุดถึงคำละ $0.11 หรือชั่วโมงละ $34.42 อั่ยย่ะ! จากประสบการณ์ส่วนตัวผมเคยรับแปลและนับตามจำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการแปลเทียบกับเงินที่ได้รับได้มูลค่าเฉลี่ยสูงถึงชั่วโมงละ 900 บาทเลยทีเดียว ($27-28)

ส่วนรายงานจาก American Translator Associates รายงานว่ารายได้ของนักแปลอิสระอาชีพ หรือ Full-time ที่อาศัยอยู่นอกสหรัฐฯ เฉลี่ย $56,672 หรือคนละ 1.8 ล้านบาทต่อปี ได้รู้แบบนี้หลายคนที่เก่งภาษาน่าจะเริ่มอยากเป็นนักแปลกันแล้ว

อยากเป็นนักแปลอิสระต้องทำอย่างไร?

คุณสมบัติทางภาษาต่างประเทศ:

คำถามที่พอบ่อยคือ รู้ภาษาบ้าง พอได้บ้างอะไรบ้าง ทำงานแปลได้ไหม ว่ากันตามตรงถ้าพอได้บ้างอะไรบ้างยังทำงานแปลไม่ได้ คนจะทำงานแปลได้ต้องเก่งภาษามาก ผมมีวิธีสำรวจเบื้องต้นคือถ้าคุณอยู่ใน 5 กลุ่มนี้คุณมีแนวโน้มจะเป็นคนเก่งภาษาโดยเรียงลำดับความเข้มข้นจากมากไปน้อย

a) ผ่านการใช้ชีวิตและศึกษาในต่างประเทศ
b) ผ่านการใช้ชีวิตและทำงานในต่างประเทศ
c) ผู้อาศัยและเติบโตอยู่ในครอบครัวที่สื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศ
d) ผู้อาศัยในสภาพแวดล้อมและสังคมที่สื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศ
e) ผู้ที่ได้รับอบรมภาษาต่างประเทศเป็นหลายปี

กล่าวคือถ้าอาศัยอยู่ในต่างประเทศมา 3 ปี 5 ปีขึ้นไปอันนั้นมีแนวโน้มภาษาแข็งแรงที่สุดในกลุ่มเหมาะในการเป็นนักแปล แต่คนอยู่ในไทยแล้วผ่านการอบรมภาษาอย่างเขี้ยวข้นหายใจเข้าออกเป็นภาษาที่เรียนและเรียนนานติดต่อกัน 5 ปี 10 ปีก็มีโอกาสครับ

การตลาด การหาลูกค้า:

มีทักษะทางภาษาแล้วการมีความรู้เฉพาะทางติดตัวจะช่วยให้คุณรับงานใน Niche พิเศษๆ ได้ เช่น Engineer, Medical, IT, Law ฯลฯ เมื่อทรัพยากรในการทำงาน ได้แก่ ภาษา ความรู้ และอุปกรณ์สื่อสาร พร้อมแล้วต่อมาก็คือ การตลาด

การตลาดเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้คุณได้งาน จำไว้ว่า ทักษะความรู้ทำให้คุณทำงานได้แต่ไม่ได้ทำให้ได้งาน การจะได้งานจะต้องทำให้ตลาดรู้ว่าคุณมีตัวตน การเป็นนักแปลอิสระเป็นนายตัวเอง เป็น Entrepreneur ดังนั้นธรรมชาติของ Entrepreneur คือเป็น Marketing หรือนักการตลาดในตัวด้วย คุณต้องบุกตะลุยออกหาลูกค้า ไปยังแหล่งชุมชนออนไลน์ เพื่อป่าวประกาศให้คนรู้ว่าคุณขายอะไร (ขายบริการแปล)

การตลาดขั้นพื้นฐานที่สุดคือ Cold contact เป็นวิธีที่พนักงานขายทั่วโลกใช้กันนั่นคือการ กดโทรศัพท์ไปหาเป้าหมายโดยตรง! หลอนใช่ไหมครับ แต่โชคดีที่นักแปลอิสระไม่ถึงขั้นนั้น ลูกค้าของคุณคือศูนย์แปล หรือ Translation agency คนเหล่านี้อยู่คนละประเทศและสื่อสารด้วยอีเมล์ ดังนั้นคุณใช้วิธีส่งอีเมล์พร้อมแนบ Resume และ Cover letter ไปหาพวกเขาได้โดยไม่ต้องโทรไปเอง

ความท้าทายมันอยู่ในการปฏิบัติจริง

พอพูดถึงโอกาสและรายได้ในการเป็นนักแปลงแล้วอาจเกิดไฟเกิดฝันและแรงบันดาล แต่ความท้าทายของการเป็นนักแปลอิสระมันอยู่ในการปฏิบัติจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องทำควบคู่กับงานประจำไปด้วยนี่แหละ

วิธีบริหารเวลาทำงานประจำคู่งานแปล… เขาดึกเราเช้า เราเช้าเขาดึก

ด้วยความที่ลูกค้าผมส่วนมากเป็นบริษัท Translation agency ในอเมริกา เวลาห่างกันประมาณสิบกว่าชั่วโมง อเมริกาเช้าเราดึก เราดึกเขาเช้า ดังนั้นงานที่ส่งเข้ามาผมจะได้รับอีเมล์ประมาณเช้ามืดของประเทศไทย (ก็คือเย็นๆของอเมริกา) โดยในอีเมล์จากลูกค้าจะแนบไฟล์งานและระบุเงื่อนไขการทำงานว่าต้องการให้นำส่งเมื่อไร ตรงนี้เรามีเวลาตัดสินใจโครตน้อยเลยครับ เพราะอีกไม่นานเขาก็จะเลิกงานแล้ว แต่ฝรั่งหลายคนเหมือนจะเช็คอีเมล์บริษัทตัวเองตอนกลางคืนก็มีน่ะ

พอคุณรับทราบเงื่อนไขกำหนดส่งงานแล้วให้พิจารณาเลยว่าทำทันหรือไม่ โดยดูจากความยากง่ายของงาน และดูว่างานประจำของคุณยุ่งมากไหมในช่วงสัปดาห์นั้นๆ หากทุกอย่างดูโอเคมั่นใจ 100% ก็ตอบตกลง หากคิดว่า 50/50 อย่าเสี่ยงเพราะการปฏิเสธงานที่เราไม่ชัวร์ดีกว่าการรับมาแล้วทำไม่ได้

งานแปล 1-5 หน้าโดยมากต้องส่งภายใน 24-48 ชั่วโมง ถ้าคุณรับงานมาตอนเช้าของประเทศไทยและตรงกับวันทำงานประจำ นั่นหมายความว่าคุณจะเหลือเวลาเพียง 12 ชั่วโมงในการทำงาน เพราะกว่าคุณจะกลับเข้ามาบ้านได้ในตอนค่ำก็ปาไปทุ่มสองทุ่ม ช่วงไหนมีงานแปล ผมจะโครตไฮเปอร์มากๆ ทำงานแข่งกับเวลา ชีวิตติดเทอร์โบมีไดนามิคสูง อยู่ที่สำนักงานผมเร่งทำงานสุดๆ คนคิดว่าขยันแต่เปล่าเลยเรื่องของเรื่องคือ กูรีบ

พอ 6 โมงเย็นปุ๊ป ตีระฆังเด้งออกจากสำนักงาน สำนักงานกับที่พักผมไม่ไกลมาก ห่างกัน 5 ป้ายรถไฟฟ้า BTS แต่ช่วง 6 โมงเย็นบางครั้ง BTS คนเยอะผมเห็นสถานการณ์ไม่ดีผมก็นั่งมอเตอร์ไซต์วินกลับเลย ค่าวิน 120 บาทก็ยอม เพราะค่าแปลแม้เป็นแค่จ็อบเล็กๆแปลชั่วโมงสองชั่วโมงก็ได้เงินเป็นพันบาท

เงื่อนไขการจ่ายเงินของ Translation Agency

ทำงานเสร็จแล้วแต่ยังไม่จบ เพราะเรื่องต่อไปสำหรับแต่ละจ็อบคือ Payment หรือการรับเงินค่าแปล ซึ่ง Translation agency ในต่างประเทศเกือบทุกบริษัทจ่ายเงินผ่านทาง Paypal ดังนั้นหากคุณยังไม่มีบัญชี ให้รีบไปเปิดรอไว้เลย เพราะกว่าจะเปิดเสร็จ กว่าจะ Verify ก็ปาไป 2 สัปดาห์ (ตอนนี้ไม่รู้ช้าเร็วอย่างไรบ้าง)

Translation agency ส่วนมากจ่ายเป็น Credit term อาทิ 15 วัน, 30 วัน, 45 วัน, และ 60 วันหลังจากคุณส่งบิลไปเก็บเงิน พวก 45 วันนี่ก็เรียกว่านานมากแล้ว นานจนเกือบลืม แต่ 60 วันนี่รับไม่ไหวนานเกิ๊น เช็คให้ดีๆ หากเจอเจ้าที่เอา Credit term 60 วันแล้วคุณรู้สึกกระอักกระอ่วนใจก็ไม่ต้องรับก็ได้ครับ ต้องทำงานด้วยกันอีกนาน เลือกคนที่แฟร์ๆ กับเราดีกว่า

และเวลาได้รับการติดต่อแล้วอย่าเพิ่งด่วนดีใจตกปากรับคำ พวกขาจรที่โผล่โพล่งมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย จู่ๆ จะมาให้เราทำงานโดยที่เขาก็ไม่ได้รู้ได้ถามเรื่องราคงราคาเราเลย พวกนี้น่าสงสัยที่สุด ผิดวิสัยคนทำงานเพราะส่วนมากต้องเช็คราคาก่อน ถ้าใครมาแบบไม่สนใจถามราคาให้ระแวงไว้ก่อน เมื่อได้รับการติดต่อจากลูกค้าให้ลองเช็คข้อมูล ดูเว็บไซต์ว่าดูน่าเชื่อถือหรือไม่ ลองเอาชื่อ Search ว่ามีข้อมูลการร้องเรียนหรือการแฉติดใน Google หรือไม่ บางครั้งพวกโกงหนักๆ จะมีคนเอาไปประกาศในเว็บบอร์ดในต่างประเทศแล้วมันอาจติด Google ครับ ที่กล่าวมาเป็นเพียงวิธีเช็คเบื้องต้นนะครับ

สรุปแชร์ประสบการณ์นักแปลไม่มืออาชีพ เพื่อคนอยากเป็นนักแปลมืออาชีพ

อาชีพการแปล เป็นหนึ่งในอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เป็น Evergreen career ทนทานต่อกาลเวลา กล่าวคือยุคสมัยจะผ่านไปนานแค่ไหน อาชีพนี้ก็ยังคงอยู่และอยู่แบบเดิมนั่นคือการแปลจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง ไม่มีเหมือนพวกเทคโนโลยีที่อายุงานสั้น ผ่านไป 5-10 ปีรูปแบบการทำงานต่างๆอาจเปลี่ยนไปรูปแบบไปมากจนความรู้และรูปแบบการทำงานเก่าๆใช้ไม่ได้แล้ว นี่คือโอกาสสำหรับคนเก่งภาษาจะสามารถนำทักษะและความรู้ของตนเองมาใช้งาน สร้างรายได้เสริม หารายได้เพิ่มจากการเป็นนักแปลอิสระครับ

ที่มา http://www.theceoblogger.com/become-freelance-translator/

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่