เวทนานุปัสสนาตามแบบพระพุทธเจ้า และ ธรรมกาย

ตามแบบหลวงพ่อวัดปากน้ำ

http://khunsamatha.com/new/043.html
เห็นเวทนาในเวทนา เล่า ถ้าว่าเมื่อทำถูกส่วนเข้าเช่นนั้นละก็ เห็นเวทนาจริงๆ สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ดีใจ เสียใจ เวทนา ๓ หรือ เวทนา ๕ เห็นจริงๆ เป็นดวง เป็นดวงใส เวทนา เวทนาแท้ๆ สุขก็ดวงใส ทุกข์ก็ดวงข้น ดวงขุ่นไม่สุข ไม่ทุกข์ ก็ดวงปานกลาง เห็นชัดๆ เป็นดวงขนาดไหน ถ้าเต็มส่วนมันเข้าก็เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์นั่น ดวงเวทนาขนาดนั้น ถ้าลดส่วนลงไปก็โตได้เล็กได้ นั่นเห็นเวทนาในเวทนา เห็นอย่างนั้นเชียว เห็นเหมือนนอนฝัน กายละเอียดทีเดียว เห็นเวทนาเป็นดวงทีเดียว แต่ว่าสุขก็อยู่ในสุขของมนุษย์นี่ ทุกข์ก็อยู่ในทุกข์ของมนุษย์นี่ไม่สุขไม่ทุกข์กอยู่ก็อยู่ในไม่สุขไม่ทุกข์ของมนุษย์นี่ ดีใจก็อยู่ในดีใจของมนุษย์นี่ เสียใจก็อยู่ในเสียใจของมนุษย์นี่ เขาเรียกว่า เวทนาในเวทนา เป็นดวงพอๆกัน เท่าๆ กัน

ตามแบบคุณ การุณย์  บุญมานุช

http://www.gotoknow.org/posts/85675
พิจารณาเวทนา เมื่อดูดวงกายเสร็จแล้ว เราก็อธิษฐานใจต่อกายธรรมว่า ขอพิจารณาเวทนา
บ้าง ท่องใจหยุดในหยุดกลางดวงปฐมมรรคของกายมนุษย์ เห็นจุดใสเท่าปลายเข็ม พอจุดใสเท่าปลายเข็มว่างออก ก็อธิษฐานดูดวง “เวทนา” เวทนานี้ก็คือใจนั่นเอง เพราะใจมี ต้น-กลาง-ปลาย ใจเบื้องต้นคือใจ ใจชั้นกลาง คือ จิต ใจชั้นปลายคือ วิญญาณ ใจประกอบด้วย ดวงเห็น-ดวงจำ-ดวงคิด-ดวงรู้ ซ้อนกัน พอเราจรดใจลงที่ดวงเวทนา เราจะเห็นอะไรบ้าง? เราก็เห็นดวงใจเป็นดวงใส นิ่งกลางใจก็เห็นจุดใสเท่าปลายเข็ม ส่งใจนิ่งกลางจุดใสเท่าปลายเข็มแล้วนิ่งดูต่อไป

          (ก) ถ้าจุดใสเท่าปลายเข็มมีความใส เราจะรู้สึกว่าเกิดความสุขทางใจ
          (ข) ถ้าจุดใสเท่าปลายเข็มมีความขุ่น เราจะรู้สึกว่าไม่เป็นสุข ถ้าความขุ่นกระเดียดไปเป็นดำ เราจะทุกข์ใจมาก
          (ค) ถ้าจุดใสเท่าปลายเข็มมีสีน้ำตาล เราจะรู้สึกเฉย ๆ บุญไม่ทำกรรมไม่สร้าง จะว่าสุขก็ไม่ใช่จะว่าทุกข์ก็ไม่เชิง

     การพิจารณาจนถึงขั้นเป็นอารมณ์ทางใจเกิดแก่เรา 3 อย่าง คือ อารมณ์เป็นสุข (อารมณ์ของฝ่ายกุศล) อารมณ์เป็นทุกข์ (อารมณ์ฝ่ายอกุศล) อารมณ์เป็นกลาง ๆ (อารมณ์ของฝ่ายอัพยากตาธัมมา) หมายความว่า ธรรมฝ่ายใดมีอำนาจกว่า? ธรรมฝ่ายนั้นก็เข้ามาปกครองใจของเรา เราจึงมีอารมณ์ไปตามธรรมของฝ่ายนั้น ๆ เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงสอนให้เราทำใจให้สว่างใสเข้าไว้ เพื่อเราจะได้เกิดความสุขทางใจ เพราะการทำใจให้ใสนั้นเป็นธรรมของฝ่ายกุศล ธรรมของฝ่ายกุศลส่งผลให้สุขทุกสถาน หากเป็นธรรมของฝ่ายอกุศลแล้ว ให้ผลเป็นทุกข์ทั้งนั้น และหากเป็นธรรมของฝ่ายกลางแล้ว ส่งผลให้ไม่สุขและไม่ทุกข์คือเป็นกลาง ๆ เสมอไป


ตามแบบพระไตรปิฎก

[๒๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้
    เสวยสุขเวทนา(สุข,ความรู้สึกเป็นสุข)อยู่  ก็รู้ชัด(มีสติระลึกรู้)ว่า เราเสวยสุขเวทนา   หรือ
    เสวยทุกขเวทนา(ทุกข์,รู้สึกทุกข์)  ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนา   หรือ
    เสวยอทุกขมสุขเวทนา(เฉยๆ,รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์)  ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา   หรือ

    (เวทนาเหล่านี้ ได้แก่ความรู้สึก สุข ทุกข์ ที่เป็นไปตามสภาพธรรมชาติ เช่น ดังทุกข์ที่เกิดแต่ทุกขอริยสัจ เช่น หิว กระหาย การผัสสะ ที่ไม่ประกอบด้วยกิเลสหรืออุปาทาน ฯลฯ)

    เสวยสุขเวทนามีอามิส  ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนามีอามิส   หรือ
    เสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส  ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส   หรือ
    เสวยทุกขเวทนามีอามิส  ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนามีอามิส   หรือ

    (ดังเวทนาในปฏิจจสมุปบาทธรรม ล้วนเป็นเวทนามีอามิสอันเนื่องมาจากอาสวะกิเลส คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส นั่นเอง มักประกอบด้วยความรู้สึกเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวาย)

    เสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส  ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส   หรือ
    เสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส  ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส   หรือ
    เสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส  ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส

                ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาภายในบ้าง

(เห็นเท่าทันและเข้าใจเวทนาอย่างแจ่มแจ้ง ถูกต้องตามความเป็นจริง ดังเช่นกล่าวไว้ข้างต้นใน เวทนาภายใน ที่หมายถึงในเวทนาของตนเอง,  แล้วจึงอุเบกขา ในโพชฌงค์ ๗ อันมีความหมายดังแสดงในบทสรุปของทุกท้ายบรรพที่กล่าวว่า "ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆในโลก" คือการละอุปาทานเสียนั่นเอง ดังเช่นด้วยการอุเบกขาเสียนั่นเอง จึงยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้)

                พิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาภายนอกบ้าง(ภายนอกที่หมายถึงเวทนาของบุคคลอื่นบ้าง  แล้วอุเบกขา)
                พิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาทั้งภายใน ทั้งภายนอกบ้าง(ทั้งตนเอง ทั้งผู้อื่นบ้าง แล้วจึงอุเบกขา)
                พิจารณาเห็นธรรม(ธรรมชาติ,สภาวธรรม) คือความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง(เห็นเท่าทันและเข้าใจในการเกิดขึ้นบ้าง ตามความเป็นจริงของการเกิดเวทนา ดังเช่น เกิดแต่เหตุปัจจัย ดังตากระทบรูป ดังนั้น สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย  ก็มีความเกิดของเวทนาขึ้นเป็นธรรมดา  แล้วจึงอุเบกขา)
                พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในเวทนาบ้าง (เห็นเข้าใจในการแปรปรวนเสื่อม และดับไปบ้าง ว่าไม่เที่ยงบ้าง, คงทนอยู่ไม่ได้บ้าง, อนัตตาบ้าง แล้วจึงอุเบกขา)
                พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในเวทนาบ้าง (เห็นเท่าทันและเข้าใจทั้งการเกิดขึ้นบ้างและการแปรปรวนเสื่อมไปบ้าง แล้วอุเบกขา)  

                ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า เวทนามีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้(หรือเครื่องรับรู้)  เพียงสักว่าอาศัยระลึก(เพื่อใช้งาน)เท่านั้น  เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิ(ความเชื่อ,ความยึดมั่น)ไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก(ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน  ดังด้วยการอุเบกขาในโพชฌงค์เสียนั่นเอง)

                ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า   พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯ


ช่วยกันเปรียบเทียบหน่อยครับว่าเหมือนหรือต่างกัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่