แนะนักวิจัยรุ่นใหม่รับมือความท้าทายข้าวไทยในตลาดโลก เหตุยังไม่เป็นมืออาชีพมากพอ
เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ สถาบันคลังสมองของชาติ (สคช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการสัมมนา เรื่อง “การก้าวสู่งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรและนโยบายสาธารณะ: จะสร้างความท้าทายได้อย่างไร?” เพื่อเป็นเวทีสำหรับนักวิชาการรุ่นใหม่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัยอาวุโส ให้เข้าใจถึงกระบวนการสร้างงานวิจัยและการยกระดับงานวิจัยเชิงนโยบาย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างฐานความรู้และการต่อยอดเชิงความรู้ด้านเศรษฐกิจการเกษตรและนโยบายสาธารณะ อีกทั้งจุดประกายให้เกิดการใช้ความรู้เพื่อการเฝ้ามอง ติดตาม และรวมถึงการชี้แนะให้กับสังคมไทยโดยรวม
รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการ สกว. ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร กล่าวว่า ประสบการณ์จากการวิจัยด้านเกษตรพบว่าผลงานวิจัยเน้นด้านวิชาการทางวิทยาศาสตร์ระดับลึกในขณะที่คำถาม เช่น นโยบายและประโยชน์สาธารณะมีการสะสมมวลความรู้ค่อนข้างน้อย ทำให้มาตรการเชิงนโยบายของรัฐทุกระดับและการแก้ไขปัญหาขาดการสังเคราะห์ผลกระทบรอบด้านตามเหตุผล ข้อมูลและข้อเท็จจริง สกว.จึงสนับสนุนการวิจัยเชิงนโยบายเกษตรผ่านสำนักประสานงาน“งานวิจัยเชิงนโยบายเกษตรและเสริมสร้างเครือข่ายงานวิจัยเชิงนโยบาย” โดยมี รศ.สมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ เป็นผู้รับผิดชอบประสานงาน
ศ.พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวระหว่างการบรรยายหัวข้อ “เล่าสู่นักวิจัยรุ่นใหม่กับความท้าทายในงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร” ว่าตนอยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความรู้แต่ยังขาดประสบการณ์ในการทำวิจัยภายใต้บริบทต่าง ๆ ของประเทศไทย นำประสบการณ์ของตนไปเป็นตัวอย่างในการทำวิจัยที่สามารถตอบโจทย์วิจัยที่เป็นข้อถกเถียงในประเด็นนโยบายสาธารณะได้อย่างตรงประเด็น โดยตัวอย่างสำคัญที่จะมุ่งเน้นคือ “นโยบายข้าว” เพราะมีทฤษฎีและโจทย์ที่ค่อนข้างง่าย ไม่ซับซ้อน แต่เป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบกับความเชื่อที่ผู้กำหนดนโยบายมีต่อเกษตรกรและประชาชน ทั้งนี้ตนพยายามชักชวน เตือนสติ และสอนวิธีการทำงานด้านกลไกตลาดข้าวเพื่อเป็นอุทาหรณ์ในการทำงานให้สามารถเดินหน้าต่อไป โดยปัญหาที่สนใจคือ ข้าว ทั้งประเด็นมูลค่าข้าวส่งออกและราคาพรีเมียมข้าว อันเป็นผลพวงมาจากภาระของเกษตรกรที่ต้องเสียให้กับรัฐบาลปลายทาง
สิ่งที่ท้าทายมากและต้องต่อสู้มาถึงทุกวันนี้คือ แนวคิดที่บอกว่าราคาข้าวเริ่มต้นจากต้นทุนของเกษตรกร บวกค่าขนส่งเข้าไป ซึ่งเป็นการคิดแบบสินค้าอุตสาหกรรม แต่ไม่ใช่กับสินค้าโภคภัณฑ์ ต้องเข้าใจว่าข้าวที่ได้มาไม่ได้อยู่ในเขตที่มีต้นทุนการผลิตต่ำเสมอไป ส่วนใหญ่มาจากภาคอีสานและพื้นที่ที่ห่างไกล แต่ประเด็นคือข้าวและสินค้าเกษตรหลายอย่างถูกรวมตัว ณ ตลาดแห่งใดแห่งหนึ่ง ความต้องการของคนทั่วประเทศและทั่วโลกจะสะท้อนอยู่ในตลาดกลางเหล่านี้ ความต้องการและต้นทุนการผลิตจึงเข้ามาสะท้อนอยู่ในราคาต่อรองซื้อขาย และเป็นประเด็นที่ต้องวิจัย จะใช้ตรรกะความเชื่อที่ว่าควรเริ่มต้นจากเกษตรกรแล้วบวกต้นทุนหรือไม่ เหตุใดพ่อค้าจึงกดราคา งานเกี่ยวกับสินค้าเกษตรจะดีเยี่ยมมากถ้าเข้าใจการประยุกต์ทฤษฎีอุปสงค์อุปทานและกลไกตลาด เราต้องต่อสู้กับพลังอุปสงค์อุปทานอย่างไร และไม่บิดเบือนกลไกตลาด
สิ่งแรกที่ได้เรียนรู้คือ ราคาสินค้าไม่ได้เริ่มต้นจากต้นทุนการผลิต แต่ที่สำคัญคือกลไกตลาดกลางไม่สนใจว่าข้าวมาจากที่ใด กำหนดราคาตามสภาพอุปสงค์อุปทาน ทำให้ราคาในจังหวัดต่าง ๆ ถูกหักด้วยค่าขนส่งมาที่กรุงเทพฯ เป็นบทเรียนแรกที่นักเศรษฐศาสตร์อาจจะชินกับการคำนวณเช่นนี้ ผลกระทบของการคิดเช่นนี้จะทำให้ระบบการค้าข้าวเป็นอย่างไร ต้นทุนของเกษตรกรมีนัยเฉพาะกับตัวเกษตรกรเองเท่านั้น ดังนั้นกระบวนการทั้งหมดอยู่ในกรอบวิชาที่ต้องนำไปเปรียบเทียบกับความเป็นจริงของตลาด หลายคนเชื่อว่าผู้ส่งออกเป็นผู้กำหนดราคาและมีอิทธิพลมากกว่าผู้นำเข้า การกระจายตัวของผู้นำเข้ามีความหลากหลายไม่กระจุกตัวเหมือนผู้ส่งออก
ไทยเป็นตลาดส่งออกขนาดเล็กเพราะมีส่วนแบ่งในการผลิตและการบริโภคค่อนข้างน้อย ไม่ถึงร้อยละ 10 ขณะที่อินเดียและจีนเป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังเพราะสามารถผลิตข้าวได้ปีละหลายร้อยล้านตัน อาจเปลี่ยนจากผู้นำเข้ามาเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ได้ อำนาจผูกขาดในตลาดโลกจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรทำวิจัยไปอีกนาน ตัวแปรที่สำคัญที่สุดสำหรับเศรษฐกิจข้าวไทย คือ ความยืดหยุ่นของความต้องการข้าวไทยในตลาดโลก นอกเหนือจากความต้องการข้าวในประเทศไทยแล้วยังต้องมองความต้องการของตลาดโลกด้วย เราผลิตข้าวเพื่อตัวเองไม่ได้แต่ต้องผลิตให้เหลือพอที่จะส่งออกได้ มิฉะนั้นชาวนาจะตายก่อนเพื่อน “สิ่งสำคัญคือ นักวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์และสามารถอธิบายตอบคำถามได้ นอกเหนือจากมีความรู้ความสามารถ และพลวัตเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ ยังมีอีกหลายโจทย์วิจัยที่น่าสนใจ เช่น การตัดสินใจในภาวะที่มีความเสี่ยงทางด้านราคา ดินฟ้าอากาศ และเชื่อมั่นว่าจำนำข้าจะไม่กลับมา”
ด้าน ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ เสริมว่า นักวิจัยที่เห็นอยู่ขณะนี้ยังไม่เป็นมืออาชีพมากพอ จึงอยากให้ทุ่มเทและให้เวลากับการทำงานวิจัยมากขึ้น ทั้งนี้นโยบายมีความกว้างขวางและครอบคลุมมากกว่าที่คนทั่วไปคิด ตั้งแต่การเอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของสังคม มีนโยบายที่เหมาะสมหรือไม่ หรือไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายได้ รวมถึงประสิทธิผลและผลกระทบของนโยบายโดยเฉพาะต่อกลุ่มคนที่มิใช่เป้าหมาย นโยบายอาจมีผลกระทบข้างเคียง เช่น การสร้างเขื่อนกระทบต่อคนในพื้นที่ การตั้งอุทยานแห่งชาติกระทบต่อพื้นที่ทำกิน การย้ายสนามบินกระทบต่อสุขภาพจากเสียง ฯลฯ นโยบายยังมีช่องว่าง ขาดกลไกและวิธีการ ทั้งเรื่องอาหารนำเข้าปลอดภัย การแก้ไขการปลอมปนข้าวหอมมะลิในตลาดจีน แต่ต้องพิจารณาว่านโยบายมีประสิทธิผลหรือไม่ เช่น เก็บค่าภาษีน้ำเสียแล้วมลพิษไม่ลดลง นโยบายสวัสดิการคนจนแต่คนจนยังเข้าไม่ถึง การปฏิรูปการศึกษาแต่ผลเอเน็ต โอเน็ตกลับลดลง เด็กไม่เรียนโรงเรียนในพื้นที่และการศึกษากลายเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์
“เราต้องมองว่าเราทำวิจัยเพื่อใคร ใครได้รับผลประโยชน์ ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น จีนจะเป็นคู่ค้าหรือคู่แข่ง ไทยสูญเสียตลาดข้าวจีนเพราะเหตุใด ปัญหาการปลอมปนใหญ่เพียงใด ปัจจัยสำคัญในการรักษาตลาดจีน และยุทธศาสตร์ของไทย เป็นต้น แต่ปัญหาของนักวิจัยคือ ไม่มีโจทย์ ไม่เข้าใจหรือขาดประสบการณ์ด้านนโยบาย และไม่มีเวลา ขณะที่ปัญหากระบวนการทำงาน คือ ไม่มีเวทีพัฒนาศักยภาพ บริหารทุกคนทุกประเภทแบบเดียวกันหมด ขาดการขับเคลื่อนและสื่อสารกับสาธารณะ ทั้งนี้คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าภาคเกษตรกับการท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมหลัก เพราะภาคการผลิตอื่น ๆ ได้รับผลกระทบจากพลังงานที่ลดลง” ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าว
CR คมชัดลึก
แนะนักวิจัยรุ่นใหม่รับมือความท้าทายข้าวไทยในตลาดโลก
เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ สถาบันคลังสมองของชาติ (สคช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการสัมมนา เรื่อง “การก้าวสู่งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรและนโยบายสาธารณะ: จะสร้างความท้าทายได้อย่างไร?” เพื่อเป็นเวทีสำหรับนักวิชาการรุ่นใหม่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัยอาวุโส ให้เข้าใจถึงกระบวนการสร้างงานวิจัยและการยกระดับงานวิจัยเชิงนโยบาย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างฐานความรู้และการต่อยอดเชิงความรู้ด้านเศรษฐกิจการเกษตรและนโยบายสาธารณะ อีกทั้งจุดประกายให้เกิดการใช้ความรู้เพื่อการเฝ้ามอง ติดตาม และรวมถึงการชี้แนะให้กับสังคมไทยโดยรวม
รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการ สกว. ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร กล่าวว่า ประสบการณ์จากการวิจัยด้านเกษตรพบว่าผลงานวิจัยเน้นด้านวิชาการทางวิทยาศาสตร์ระดับลึกในขณะที่คำถาม เช่น นโยบายและประโยชน์สาธารณะมีการสะสมมวลความรู้ค่อนข้างน้อย ทำให้มาตรการเชิงนโยบายของรัฐทุกระดับและการแก้ไขปัญหาขาดการสังเคราะห์ผลกระทบรอบด้านตามเหตุผล ข้อมูลและข้อเท็จจริง สกว.จึงสนับสนุนการวิจัยเชิงนโยบายเกษตรผ่านสำนักประสานงาน“งานวิจัยเชิงนโยบายเกษตรและเสริมสร้างเครือข่ายงานวิจัยเชิงนโยบาย” โดยมี รศ.สมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ เป็นผู้รับผิดชอบประสานงาน
ศ.พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวระหว่างการบรรยายหัวข้อ “เล่าสู่นักวิจัยรุ่นใหม่กับความท้าทายในงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร” ว่าตนอยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความรู้แต่ยังขาดประสบการณ์ในการทำวิจัยภายใต้บริบทต่าง ๆ ของประเทศไทย นำประสบการณ์ของตนไปเป็นตัวอย่างในการทำวิจัยที่สามารถตอบโจทย์วิจัยที่เป็นข้อถกเถียงในประเด็นนโยบายสาธารณะได้อย่างตรงประเด็น โดยตัวอย่างสำคัญที่จะมุ่งเน้นคือ “นโยบายข้าว” เพราะมีทฤษฎีและโจทย์ที่ค่อนข้างง่าย ไม่ซับซ้อน แต่เป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบกับความเชื่อที่ผู้กำหนดนโยบายมีต่อเกษตรกรและประชาชน ทั้งนี้ตนพยายามชักชวน เตือนสติ และสอนวิธีการทำงานด้านกลไกตลาดข้าวเพื่อเป็นอุทาหรณ์ในการทำงานให้สามารถเดินหน้าต่อไป โดยปัญหาที่สนใจคือ ข้าว ทั้งประเด็นมูลค่าข้าวส่งออกและราคาพรีเมียมข้าว อันเป็นผลพวงมาจากภาระของเกษตรกรที่ต้องเสียให้กับรัฐบาลปลายทาง
สิ่งที่ท้าทายมากและต้องต่อสู้มาถึงทุกวันนี้คือ แนวคิดที่บอกว่าราคาข้าวเริ่มต้นจากต้นทุนของเกษตรกร บวกค่าขนส่งเข้าไป ซึ่งเป็นการคิดแบบสินค้าอุตสาหกรรม แต่ไม่ใช่กับสินค้าโภคภัณฑ์ ต้องเข้าใจว่าข้าวที่ได้มาไม่ได้อยู่ในเขตที่มีต้นทุนการผลิตต่ำเสมอไป ส่วนใหญ่มาจากภาคอีสานและพื้นที่ที่ห่างไกล แต่ประเด็นคือข้าวและสินค้าเกษตรหลายอย่างถูกรวมตัว ณ ตลาดแห่งใดแห่งหนึ่ง ความต้องการของคนทั่วประเทศและทั่วโลกจะสะท้อนอยู่ในตลาดกลางเหล่านี้ ความต้องการและต้นทุนการผลิตจึงเข้ามาสะท้อนอยู่ในราคาต่อรองซื้อขาย และเป็นประเด็นที่ต้องวิจัย จะใช้ตรรกะความเชื่อที่ว่าควรเริ่มต้นจากเกษตรกรแล้วบวกต้นทุนหรือไม่ เหตุใดพ่อค้าจึงกดราคา งานเกี่ยวกับสินค้าเกษตรจะดีเยี่ยมมากถ้าเข้าใจการประยุกต์ทฤษฎีอุปสงค์อุปทานและกลไกตลาด เราต้องต่อสู้กับพลังอุปสงค์อุปทานอย่างไร และไม่บิดเบือนกลไกตลาด
สิ่งแรกที่ได้เรียนรู้คือ ราคาสินค้าไม่ได้เริ่มต้นจากต้นทุนการผลิต แต่ที่สำคัญคือกลไกตลาดกลางไม่สนใจว่าข้าวมาจากที่ใด กำหนดราคาตามสภาพอุปสงค์อุปทาน ทำให้ราคาในจังหวัดต่าง ๆ ถูกหักด้วยค่าขนส่งมาที่กรุงเทพฯ เป็นบทเรียนแรกที่นักเศรษฐศาสตร์อาจจะชินกับการคำนวณเช่นนี้ ผลกระทบของการคิดเช่นนี้จะทำให้ระบบการค้าข้าวเป็นอย่างไร ต้นทุนของเกษตรกรมีนัยเฉพาะกับตัวเกษตรกรเองเท่านั้น ดังนั้นกระบวนการทั้งหมดอยู่ในกรอบวิชาที่ต้องนำไปเปรียบเทียบกับความเป็นจริงของตลาด หลายคนเชื่อว่าผู้ส่งออกเป็นผู้กำหนดราคาและมีอิทธิพลมากกว่าผู้นำเข้า การกระจายตัวของผู้นำเข้ามีความหลากหลายไม่กระจุกตัวเหมือนผู้ส่งออก
ไทยเป็นตลาดส่งออกขนาดเล็กเพราะมีส่วนแบ่งในการผลิตและการบริโภคค่อนข้างน้อย ไม่ถึงร้อยละ 10 ขณะที่อินเดียและจีนเป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังเพราะสามารถผลิตข้าวได้ปีละหลายร้อยล้านตัน อาจเปลี่ยนจากผู้นำเข้ามาเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ได้ อำนาจผูกขาดในตลาดโลกจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรทำวิจัยไปอีกนาน ตัวแปรที่สำคัญที่สุดสำหรับเศรษฐกิจข้าวไทย คือ ความยืดหยุ่นของความต้องการข้าวไทยในตลาดโลก นอกเหนือจากความต้องการข้าวในประเทศไทยแล้วยังต้องมองความต้องการของตลาดโลกด้วย เราผลิตข้าวเพื่อตัวเองไม่ได้แต่ต้องผลิตให้เหลือพอที่จะส่งออกได้ มิฉะนั้นชาวนาจะตายก่อนเพื่อน “สิ่งสำคัญคือ นักวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์และสามารถอธิบายตอบคำถามได้ นอกเหนือจากมีความรู้ความสามารถ และพลวัตเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ ยังมีอีกหลายโจทย์วิจัยที่น่าสนใจ เช่น การตัดสินใจในภาวะที่มีความเสี่ยงทางด้านราคา ดินฟ้าอากาศ และเชื่อมั่นว่าจำนำข้าจะไม่กลับมา”
ด้าน ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ เสริมว่า นักวิจัยที่เห็นอยู่ขณะนี้ยังไม่เป็นมืออาชีพมากพอ จึงอยากให้ทุ่มเทและให้เวลากับการทำงานวิจัยมากขึ้น ทั้งนี้นโยบายมีความกว้างขวางและครอบคลุมมากกว่าที่คนทั่วไปคิด ตั้งแต่การเอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของสังคม มีนโยบายที่เหมาะสมหรือไม่ หรือไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายได้ รวมถึงประสิทธิผลและผลกระทบของนโยบายโดยเฉพาะต่อกลุ่มคนที่มิใช่เป้าหมาย นโยบายอาจมีผลกระทบข้างเคียง เช่น การสร้างเขื่อนกระทบต่อคนในพื้นที่ การตั้งอุทยานแห่งชาติกระทบต่อพื้นที่ทำกิน การย้ายสนามบินกระทบต่อสุขภาพจากเสียง ฯลฯ นโยบายยังมีช่องว่าง ขาดกลไกและวิธีการ ทั้งเรื่องอาหารนำเข้าปลอดภัย การแก้ไขการปลอมปนข้าวหอมมะลิในตลาดจีน แต่ต้องพิจารณาว่านโยบายมีประสิทธิผลหรือไม่ เช่น เก็บค่าภาษีน้ำเสียแล้วมลพิษไม่ลดลง นโยบายสวัสดิการคนจนแต่คนจนยังเข้าไม่ถึง การปฏิรูปการศึกษาแต่ผลเอเน็ต โอเน็ตกลับลดลง เด็กไม่เรียนโรงเรียนในพื้นที่และการศึกษากลายเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์
“เราต้องมองว่าเราทำวิจัยเพื่อใคร ใครได้รับผลประโยชน์ ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น จีนจะเป็นคู่ค้าหรือคู่แข่ง ไทยสูญเสียตลาดข้าวจีนเพราะเหตุใด ปัญหาการปลอมปนใหญ่เพียงใด ปัจจัยสำคัญในการรักษาตลาดจีน และยุทธศาสตร์ของไทย เป็นต้น แต่ปัญหาของนักวิจัยคือ ไม่มีโจทย์ ไม่เข้าใจหรือขาดประสบการณ์ด้านนโยบาย และไม่มีเวลา ขณะที่ปัญหากระบวนการทำงาน คือ ไม่มีเวทีพัฒนาศักยภาพ บริหารทุกคนทุกประเภทแบบเดียวกันหมด ขาดการขับเคลื่อนและสื่อสารกับสาธารณะ ทั้งนี้คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าภาคเกษตรกับการท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมหลัก เพราะภาคการผลิตอื่น ๆ ได้รับผลกระทบจากพลังงานที่ลดลง” ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าว
CR คมชัดลึก