ตายแล้วไปไหนเป็นเรื่องที่ต้องเห็นเอง

คำสอนระดับศีลธรรมนั้นก็ย่อมที่จะมีความเห็นว่ามีตัวตนของเราและของคนอื่น รวมทั้งของสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะความเห็นหรือความเชื่อว่า จิต หรือ วิญญาณ ของคนเรานี้เป็นตัวตน (อัตตา) ของเรา ที่จะไม่สูญหายไป เมื่อร่างกายตาย จิต หรือ วิญญาณ นี้ก็จะเกิดขึ้นมาเป็นตัวเราได้อีกเรื่อยไป

แต่ถ้าศึกษาคำสอนระดับสูง (ปรมัตถธรรม เรื่องการดับทุกข์ หรืออริยสัจ ๔) แล้วจะไม่สอนอย่างศีลธรรม เพราะความเชื่อระดับศีลธรรมยังไม่ใช่ปัญญาระดับสูงที่จะนำมาใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ได้ คือคำสอนระดับสูงนี้จะสอนตรงข้ามกับศีลธรรม คือสอนเรื่องความเป็นอนัตตา (ความไม่ใช่ตัวตนหรือไม่ใช่อัตตา) ของจิตหรือวิญญาณ คือจะสอนให้พิจารณาถึงเหตุและปัจจัยที่ปรุงแต่งให้จิตหรือวิญญาณเกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ และดับหายไป เมื่อพบเหตุและปัจจัยของมันแล้ว ก็จะพบความเป็นอนัตตาหรือความไม่ใช่ตัวตนของจิตหรือวิญญาณ ซึ่งก็จะทำให้เข้าใจได้ว่า ความรู้สึกว่ามีตัวเรานี้มันเป็นอนัตตาได้ เพราะความรู้สึกว่ามีตัวเรานี้มันก็เกิดขึ้นมาจากจิตหรือวิญญาณที่ปรุงแต่งขึ้นมาอีกทีนั่นเอง

สรุปได้ว่า ถ้าจะตอบว่าตายแล้วเป็นอย่างไร? นั้น ก็ตอบได้ ๒ ระดับ คือศีลธรรมก็ตอบไปตามความเชื่อว่าทำดีตายแล้วขึ้นสวรรค์ ทำชั่วตายแล้วตกนรก เป็นต้น แต่ถ้าจะตอบอย่างปรมัตถธรรมแล้วจะตอบว่าตายแล้วไปไหนไม่ได้ เพราะความจริงมันไม่ได้มีใครตาย เพราะมันไม่ได้มีตัวตนของใครๆอยู่จริง คือเท่ากับว่ามันไม่ได้มีเรามาเกิด ดังนั้นจึงไม่มีเราตาย มีแต่เราที่เป็นสิ่งที่ธรรมชาติปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ขึ้นมาชั่วคราวอย่างน่าอัศจรรย์เท่านั้น ซึ่งความเข้าใจนี้เป็นสันทิฎฐิโก คือ ต้องเห็นเอง เข้าใจเอง เท่านั้น จะใช้ความเชื่อไม่ได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่