ถอดปมร้อนล่าสุดของ “มหากาพย์ แร่ใยหิน” จับตาผลสรุปจากสธ.สู่ท่าทีการยกเลิกของรบ.

บนเส้นทางอันยาวไกลแห่งการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการยกเลิกแร่ใยหิน โดยหลายภาคส่วน ที่แม้จะเป็นเพียงการทวงถามผลสรุปที่ชัดเจนจากหน่วยงานภาครัฐ เกี่ยวกับพิษภัยจาก “แร่ใยหิน” แต่ก็ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่จะมีความสำคัญต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเผชิญหน้ากับสารมฤตยู “แอสเบสตอสและไครโซไทล์” ที่เป็นส่วนประกอบซึ่งมีอยู่ในแร่ใยหินโดยตรง

และถือเป็นหนึ่งในห้วงเวลา “ชี้ขาด” กับ “ก้าวสำคัญ” ที่จะเดินหน้า ให้ประเทศไทยเป็นประเทศปลอดแร่ใยหินนับจากนี้ไป!!

เพราะผลสรุปชิ้นสำคัญที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญต่ออนาคตของ “มหากาพย์ แร่ใยหิน” อย่างกระทรวงสาธารณสุข กลายเป็น “กุญแจดอกสำคัญ” ที่จะไขบานประตู นำไปสู่ข้อมูล ความรู้และข้อเท็จจริงที่ว่า “แร่ใยหิน มีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์” ตามที่องค์กรระดับสากลอย่าง “องค์การอนามัยโลก” หรือ WHO และอีกหลายองค์กรชั้นนำ ได้มีผลวิจัยและสรุปอย่างชัดเจนมาแล้วก่อนหน้านี้

สอดคล้องต้องกันจนกลายเป็นสาเหตุให้กว่า 50 ประเทศทั่วโลก ได้พากันยกเลิกการใช้แร่ใยหินอย่างเด็ดขาดไปแล้วก่อนหน้านี้

ขณะที่ในประเทศไทยผลสรุปล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับการเปิดเผยโดยนพ.นพพร  ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งออกมาระบุถึงผลอันเกิดจากที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน โดยมี นพ.ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ยืนยันชัดเจนแล้วว่า แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ หรือไวท์ แอสเบสตอส ที่ยังคงมีการใช้กันอยู่ในปัจจุบันในประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง มีอันตรายเท่ากับแร่ใยหินประเภทอื่นๆ ที่ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ทางกรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อสรุปทั้งหมดนำส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงผลกระทบที่เกิดต่อสุขภาพของประชาชน พร้อมยื่นผลสรุปของคณะกรรมการให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงนามรับรองผลการประชุม”

นับเป็นก้าวสำคัญของการนำไปสู่เส้นทางแห่งการยกเลิกแร่ใยหิน ที่สรุปและฟันธงโดยกระทรวงสาธารณสุข ที่จะมีผลต่อเนื่องไปถึงการนำเสนอการยกเลิกแร่ใยหิน และการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ในปี 2554 ให้มีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย ในอนาคตอันใกล้

และผลสรุปดังกล่าว ยังเป็นการพลิกบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข ในการป้องกันและตั้งรับพิษภัยอันเกิดจากแร่ในหินในมนุษย์ ซึ่งภายใต้ผลสรุปดังกล่าว จะมีการตั้งคณะติดตามสถานการณ์การใช้แร่ใยหิน

รวมถึงปฏิรูปกระบวนการวินิจฉัย ที่ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีความตั้งใจจริงดังกล่าวมาก่อน!!

ซึ่งก้าวสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า อาจมีผลต่อเนื่องไปถึงการตรวจพบผู้ป่วยสะสมที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเป็นการป้องกันกลุ่มเสี่ยง ไม่ให้ต้องเผชิญหน้ากับแร่ใยหิน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

ด้าน “นางสมบุญ สีคำดอกแค” ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (ทีแบน) กล่าวว่า “จากผลสรุปที่เกิดขึ้นโดยกระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้ ที่มีความชัดเจนแล้วว่า แร่ใยหินนั้นเป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยเป็นสาเหตุของการเกิดโรคทางเดินหายใจ มะเร็งเยื่อหุ้มปอด และนับเป็นการก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การค้นพบผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากการสัมผัสแร่ใยหิน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีการสรุปผลที่ชัดเจนเกี่ยวกับผู้ป่วย ที่อาจมีจำนวนมากกว่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และจะเป็นการนำไปสู่การตระหนักถึงพิษภัยและยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย ตามมติของคณะรัฐมนตรีในปี 2554 ต่อไป
อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ป่วยที่ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปตัวเลขที่ชัดเจนได้ ยังคงเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาวะของคนไทย และจากผลสรุปที่เกิดขึ้นโดยกระทรวงสาธารณสุขนี้ จะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรมหันมาตระหนัก และผลักดันให้มีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยต่อไป

ขณะที่ทางเครือข่ายฯเองก็จะเน้นรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เป็นจิตสำนึกบนความรับผิดชอบร่วมกันต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเร่งรัดหน่วยงานภาครัฐ และการใช้มาตรการทางกฏหมายเพื่อให้มีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินอย่างถาวร”

และกับผลสรุปตัวเลขผู้ป่วยจากแร่ใยหินทั่วโลก ขณะนี้มีคนจำนวน 125 ล้านคนที่ต้องทำงานสัมผัสแร่ใยหิน และในแต่ละปีมีประชากรกว่า 107,000 ราย ที่ต้องเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด ซึ่งมีสาเหตุจากแร่ใยหิน จากการประกอบอาชีพ 1 ใน 3 ของคนจำนวนนี้ เสียชีวิตจากการทำงานสัมผัสแร่ใยหิน และยังมีคนอีกนับพันที่เสียชีวิตจากการที่สัมผัสแร่ใยหินในครัวเรือน

ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว ยังไม่เคยมีการวินิจฉัยผู้ป่วยอย่างจริงจัง!!

เนื่องจากโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเป็นโรคที่ต้องใช้เวลาและค่อยๆสั่งสม และอาจใช้เวลาแสดงอาการนานถึง 20 ปี จึงมีตัวเลขผู้ป่วยจากโรคดังกล่าวในปัจจุบันไม่สูงมากนัก

แต่ข้อมูลจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงข้อมูลจากสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยมีการเก็บข้อมูลตัวเลขผู้ป่วย ที่พบว่ามีความใกล้เคียงกัน คือ ตั้งแต่ปี 2552-2555 พบผู้ป่วย 5 ราย และอยู่ระหว่างการวินิจฉัยอีก 7 ราย ในจำนวนนี้มีการวินิจฉัยสาเหตุแล้วว่าเกิดจาก 1 ราย ขณะที่ปี 2556 พบเพิ่มอีก 1 รายโดยมีการคาดการณ์กันว่า อาจเป็นไปได้ที่จะมีผู้ป่วยจริงอยู่ประมาณ 1 พันราย

และทั้งหมดนี้คือ “มหากาพย์แร่ใยหิน” มหันตภัยร่วมกันแห่งมวลมนุษยชาติ กลายเป็นคำถามที่ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยและหน่วยงานภาครัฐของไทยจะหันมาให้ความสำคัญกับการยกเลิกให้ประเทศไทยเป็นประเทศปลอดแร่ใยหิน 100% ซึ่งผลสรุปที่เกิดขึ้นล่าสุดจากระทรวงสาธารณสุขอาจเป็นกุญแจของคำตอบ และไขไปสู่บานประตูแห่งอนาคตของการปฏิรูปสุขภาวะอนามัยของประชาชนอย่างจริงจัง..... ที่กำลังวัดความจริงใจของรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ ....

ที่มา : นสพ.บ้านเมือง หน้า 12 วันที่ 19 เมษายน 2557
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่