สำหรับวันจันทร์ที่ 7 ถึงวันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน 2557
“คำวินิจฉัยที่บกพร่อง”
เมื่อวันพุธที่ 21 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 5/2557 ในเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245(1) ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่สามารถจัดการให้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง
จริงๆ แล้วในวันที่ 21 มีนาคม 2557 อันเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยนั้น ประชาชนทั่วไปรับทราบข่าวดังกล่าวจากการแถลงข่าวอย่างสั้นๆของโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ อีกไม่กี่วันต่อมา ก็มีเอกสารข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวออกมา จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557 จึงได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่โฆษกศาลรัฐธรรมนูญออกมาแถลงเรื่องดังกล่าว ก็มีข่าวออกไปทั่วว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
อาจไม่ใช่เรื่องแปลกและเกินความคาดหมายสำหรับประเทศไทยที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยนับตั้งแต่มีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยที่ “ล้ม” การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว 2 ครั้ง
ย้อนอดีตไปในปี พ.ศ. 2549 ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร คงจำกันได้ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองกลาง และศาลอาญา ได้มีคำวินิจฉัยและคำพิพากษาเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 สรุปความได้ว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 เฉพาะมาตรา 4 ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 และการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับมติในการจัดคูหาเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การเลือกตั้งดังกล่าวจึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง คือ ตั้งแต่การกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง การรับสมัครเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียง การนับคะแนนเสียง และการประกาศผลการเลือกตั้ง ส่วนศาลปกครองก็ได้มีคำพิพากษาที่ 607 - 608/2549 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ว่าการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติกำหนดให้ดำเนินการปรับแผนผังที่เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 โดยจัดเรียงคูหาเลือกตั้งจากเดิมที่ให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งหันหลังให้ผนังหรือฉากกั้นที่เลือกตั้งมาเป็นให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งหันหน้าไปทางผนังหรือฉากกั้นที่เลือกตั้ง ทำให้การออกเสียงลงคะแนนไม่เป็นไปโดยลับทั้งในทางข้อเท็จจริงและในความรู้สึกของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งอันเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นเหตุให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองจึงได้พิพากษาให้เพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดในทุกเขตเลือกตั้งและการกระทำต่อมาภายหลังอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 จากนั้นไม่นานศาลอาญาก็ได้มีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.2343/2549 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 พิพากษาว่ากรรมการเลือกตั้ง 3 คน มีความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบกับประมวลกฎหมายอาญาให้จำคุกคนละ 4 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 นั้นเขียนไว้ชัดเจนมากว่าเมื่อ “ล้ม” การเลือกตั้งแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยว่า “จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 มาตรา 3 มาตรา 104 วรรคสาม และมาตรา 144 มาตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง คือ ตั้งแต่การกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง การรับสมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียง การนับคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง” ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต้องทำต่อไปก็คือ “เพื่อให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต่อไป มีความเที่ยงธรรมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้มีพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปโดยกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 วรรคสอง ต่อไป”
ส่วนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557 นั้นเห็นได้ชัดเจนว่า “มีปัญหา” จากข้อเท็จจริงที่นำมาสู่การ “ล้ม” การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2557 คงต้องย้อนกลับไปเมื่อปลายปี พ.ศ. 2556 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งได้เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรจนเป็นเหตุให้มีประชาชนออกมาชุมนุมคัดค้านกันเป็นจำนวนมาก ในช่วงเวลานั้นที่มีกลุ่มประชาชนกลุ่มหนึ่ง คือ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (กปปส.) ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึงการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี “ลาออก” จาก “การรักษาการ” ก่อนเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง จากนั้นจึงค่อยทำการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 ได้กำหนดวันเลือกตั้งเอาไว้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แล้ว การเลือกตั้งจึงต้องเกิดขึ้นในวันดังกล่าว มีความวุ่นวายเกิดขึ้นมากมายเนื่องจากมีผู้ไปปิดล้อมสถานที่รับสมัครทำให้ มีเขตเลือกตั้งจำนวน 28 เขตเลือกตั้งไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องการที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนจนกว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะคลี่คลายลง แต่รัฐบาลก็ไม่เห็นด้วยเนื่องจากพระราชกฤษฎีกายุบสภา พ.ศ. 2556 ได้กำหนดวันเลือกตั้งไปแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าจะสามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้หรือไม่ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ให้ความเห็นว่าสามารถทำได้โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องไปหารือกับรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ยังยืนยันว่าจะให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดการเลือกตั้งต่อไป คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงต้องจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ทั้งๆ ที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งในหลายเขตเลือกตั้ง เมื่อมาถึงปัญหาที่ว่าจะต้องทำการเลือกตั้งสำหรับเขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง นักวิชาการและคณะกรรมการการเลือกตั้งต่างก็มีมุมมองที่ไม่ตรงกันทั้งๆ ที่อ่านกฎหมายมาตราเดียวกันว่า ในเขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง หากเปิดรับสมัครใหม่เพื่อให้มีการเลือกตั้ง จะถือว่าเป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 108 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ เมื่อมีผู้มาร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย จึงเป็นที่มาของคำวินิจฉัยที่ 5/2557 ดังกล่าวไปแล้วข้างต้น
ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2557 ออกมาก็เกิดข้อโต้แย้งและวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการมากว่า แล้วจะทำอย่างไรกันต่อไปเพราะคำวินิจฉัยที่ 5/2557 ไม่มีความชัดเจนเหมือนกับคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ซึ่งในเรื่องนี้ เมื่อศึกษาถึงการ “ล้ม” การเลือกตั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี พ.ศ. 2549 ก็จะพบว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต่อมาในวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 ก็ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2549 วางกลไกเอาไว้ 2 ประการ คือกำหนดให้พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2549 และกำหนดให้วันที่ 15 ตุลาคม 2549 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป การที่พระราชกฤษฎีกากำหนดกลไกในเรื่องวันเลือกตั้งเอาไว้ 2 ช่วงคือ ระหว่างที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 21 กรกฎาคม 2549 ไปจนถึงวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับคือวันที่ 24 สิงหาคม 2549 รวมเป็นระยะเวลาเดือนเศษ และระหว่างวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับไปจนถึงวันเลือกตั้งคือ 15 ตุลาคม 2549 รวมเป็นระยะเวลาอีกเกือบ 2 เดือน เมื่อรวมระยะเวลาตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไปจนถึงวันเลือกตั้งทำให้มีเวลาเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่กว่า 5 เดือน
กลับมาสู่เหตุการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่มีความชัดเจน เพราะในเมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557 ไม่มีความชัดเจนดังเช่นคำวินิจฉัยที่ 9/2549 จึงทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสงสัยว่า สรุปแล้วผลของคำวินิจฉัยคืออะไร ??
คำถามก็คือ หากจะเดินหน้าตามคำวินิจฉัยที่ 5/2557 จะต้องทำอย่างไร
คำวินิจฉัยที่ 5/2557 แตกต่างจากคำวินิจฉัยที่ 9/2549 อย่างสิ้นเชิงเพราะไม่ได้ระบุไว้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไปแล้ว ในตอนท้ายของคำวินิจฉัย กล่าวไว้แต่เพียงว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่สามารถจัดการให้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง ซึ่งเมื่อไปดูเนื้อหาของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว ก็ไม่เห็นว่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง ตรงไหน เพราะในพระราชกฤษฎีกาก็กำหนดให้มีวันเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรคือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
นอกจากนี้แล้ว ในคำวินิจฉัยก็มิได้กำหนดให้การเลือกตั้งและผลที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งนั้น “เสียไป” หรือ “เป็นโมฆะ” ตามที่กล่าวอ้างกันไปทั่ว
จึงเกิดคำถามสำคัญว่า อะไรคือผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องใหญ่ๆ เช่นนี้ น่าจะมีความชัดเจนมากกว่านี้และกำหนดให้ชัดเจนไปเลยว่า ผลเป็นอย่างไร
คำวินิจฉัยที่ขาดความชัดเจน เกิดข้อโต้แย้งและเกิดปัญหาในการนำไปปฏิบัติถือว่าเป็นคำวินิจฉัยที่บกพร่อง
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า องค์กรผู้เกี่ยวข้องจะ “ตีความ” คำวินิจฉัยที่ 5/2557 กันว่าอย่างไร ส่วนจะมีการดำเนินการเหมือนกับที่เคยทำมาแล้วในปี พ.ศ. 2549 ที่มีการตราพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2549 หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญ บกพร่องอย่างไร?
“คำวินิจฉัยที่บกพร่อง”
เมื่อวันพุธที่ 21 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 5/2557 ในเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245(1) ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่สามารถจัดการให้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง
จริงๆ แล้วในวันที่ 21 มีนาคม 2557 อันเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยนั้น ประชาชนทั่วไปรับทราบข่าวดังกล่าวจากการแถลงข่าวอย่างสั้นๆของโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ อีกไม่กี่วันต่อมา ก็มีเอกสารข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวออกมา จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557 จึงได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่โฆษกศาลรัฐธรรมนูญออกมาแถลงเรื่องดังกล่าว ก็มีข่าวออกไปทั่วว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
อาจไม่ใช่เรื่องแปลกและเกินความคาดหมายสำหรับประเทศไทยที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยนับตั้งแต่มีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยที่ “ล้ม” การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว 2 ครั้ง
ย้อนอดีตไปในปี พ.ศ. 2549 ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร คงจำกันได้ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองกลาง และศาลอาญา ได้มีคำวินิจฉัยและคำพิพากษาเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 สรุปความได้ว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 เฉพาะมาตรา 4 ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 และการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับมติในการจัดคูหาเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การเลือกตั้งดังกล่าวจึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง คือ ตั้งแต่การกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง การรับสมัครเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียง การนับคะแนนเสียง และการประกาศผลการเลือกตั้ง ส่วนศาลปกครองก็ได้มีคำพิพากษาที่ 607 - 608/2549 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ว่าการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติกำหนดให้ดำเนินการปรับแผนผังที่เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 โดยจัดเรียงคูหาเลือกตั้งจากเดิมที่ให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งหันหลังให้ผนังหรือฉากกั้นที่เลือกตั้งมาเป็นให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งหันหน้าไปทางผนังหรือฉากกั้นที่เลือกตั้ง ทำให้การออกเสียงลงคะแนนไม่เป็นไปโดยลับทั้งในทางข้อเท็จจริงและในความรู้สึกของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งอันเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นเหตุให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองจึงได้พิพากษาให้เพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดในทุกเขตเลือกตั้งและการกระทำต่อมาภายหลังอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 จากนั้นไม่นานศาลอาญาก็ได้มีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.2343/2549 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 พิพากษาว่ากรรมการเลือกตั้ง 3 คน มีความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบกับประมวลกฎหมายอาญาให้จำคุกคนละ 4 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 นั้นเขียนไว้ชัดเจนมากว่าเมื่อ “ล้ม” การเลือกตั้งแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยว่า “จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 มาตรา 3 มาตรา 104 วรรคสาม และมาตรา 144 มาตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง คือ ตั้งแต่การกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง การรับสมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียง การนับคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง” ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต้องทำต่อไปก็คือ “เพื่อให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต่อไป มีความเที่ยงธรรมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้มีพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปโดยกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 วรรคสอง ต่อไป”
ส่วนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557 นั้นเห็นได้ชัดเจนว่า “มีปัญหา” จากข้อเท็จจริงที่นำมาสู่การ “ล้ม” การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2557 คงต้องย้อนกลับไปเมื่อปลายปี พ.ศ. 2556 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งได้เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรจนเป็นเหตุให้มีประชาชนออกมาชุมนุมคัดค้านกันเป็นจำนวนมาก ในช่วงเวลานั้นที่มีกลุ่มประชาชนกลุ่มหนึ่ง คือ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (กปปส.) ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึงการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี “ลาออก” จาก “การรักษาการ” ก่อนเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง จากนั้นจึงค่อยทำการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 ได้กำหนดวันเลือกตั้งเอาไว้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แล้ว การเลือกตั้งจึงต้องเกิดขึ้นในวันดังกล่าว มีความวุ่นวายเกิดขึ้นมากมายเนื่องจากมีผู้ไปปิดล้อมสถานที่รับสมัครทำให้ มีเขตเลือกตั้งจำนวน 28 เขตเลือกตั้งไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องการที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนจนกว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะคลี่คลายลง แต่รัฐบาลก็ไม่เห็นด้วยเนื่องจากพระราชกฤษฎีกายุบสภา พ.ศ. 2556 ได้กำหนดวันเลือกตั้งไปแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าจะสามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้หรือไม่ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ให้ความเห็นว่าสามารถทำได้โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องไปหารือกับรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ยังยืนยันว่าจะให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดการเลือกตั้งต่อไป คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงต้องจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ทั้งๆ ที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งในหลายเขตเลือกตั้ง เมื่อมาถึงปัญหาที่ว่าจะต้องทำการเลือกตั้งสำหรับเขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง นักวิชาการและคณะกรรมการการเลือกตั้งต่างก็มีมุมมองที่ไม่ตรงกันทั้งๆ ที่อ่านกฎหมายมาตราเดียวกันว่า ในเขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง หากเปิดรับสมัครใหม่เพื่อให้มีการเลือกตั้ง จะถือว่าเป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 108 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ เมื่อมีผู้มาร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย จึงเป็นที่มาของคำวินิจฉัยที่ 5/2557 ดังกล่าวไปแล้วข้างต้น
ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2557 ออกมาก็เกิดข้อโต้แย้งและวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการมากว่า แล้วจะทำอย่างไรกันต่อไปเพราะคำวินิจฉัยที่ 5/2557 ไม่มีความชัดเจนเหมือนกับคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ซึ่งในเรื่องนี้ เมื่อศึกษาถึงการ “ล้ม” การเลือกตั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี พ.ศ. 2549 ก็จะพบว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต่อมาในวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 ก็ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2549 วางกลไกเอาไว้ 2 ประการ คือกำหนดให้พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2549 และกำหนดให้วันที่ 15 ตุลาคม 2549 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป การที่พระราชกฤษฎีกากำหนดกลไกในเรื่องวันเลือกตั้งเอาไว้ 2 ช่วงคือ ระหว่างที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 21 กรกฎาคม 2549 ไปจนถึงวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับคือวันที่ 24 สิงหาคม 2549 รวมเป็นระยะเวลาเดือนเศษ และระหว่างวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับไปจนถึงวันเลือกตั้งคือ 15 ตุลาคม 2549 รวมเป็นระยะเวลาอีกเกือบ 2 เดือน เมื่อรวมระยะเวลาตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไปจนถึงวันเลือกตั้งทำให้มีเวลาเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่กว่า 5 เดือน
กลับมาสู่เหตุการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่มีความชัดเจน เพราะในเมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557 ไม่มีความชัดเจนดังเช่นคำวินิจฉัยที่ 9/2549 จึงทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสงสัยว่า สรุปแล้วผลของคำวินิจฉัยคืออะไร ??
คำถามก็คือ หากจะเดินหน้าตามคำวินิจฉัยที่ 5/2557 จะต้องทำอย่างไร
คำวินิจฉัยที่ 5/2557 แตกต่างจากคำวินิจฉัยที่ 9/2549 อย่างสิ้นเชิงเพราะไม่ได้ระบุไว้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไปแล้ว ในตอนท้ายของคำวินิจฉัย กล่าวไว้แต่เพียงว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่สามารถจัดการให้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง ซึ่งเมื่อไปดูเนื้อหาของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว ก็ไม่เห็นว่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง ตรงไหน เพราะในพระราชกฤษฎีกาก็กำหนดให้มีวันเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรคือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
นอกจากนี้แล้ว ในคำวินิจฉัยก็มิได้กำหนดให้การเลือกตั้งและผลที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งนั้น “เสียไป” หรือ “เป็นโมฆะ” ตามที่กล่าวอ้างกันไปทั่ว
จึงเกิดคำถามสำคัญว่า อะไรคือผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องใหญ่ๆ เช่นนี้ น่าจะมีความชัดเจนมากกว่านี้และกำหนดให้ชัดเจนไปเลยว่า ผลเป็นอย่างไร
คำวินิจฉัยที่ขาดความชัดเจน เกิดข้อโต้แย้งและเกิดปัญหาในการนำไปปฏิบัติถือว่าเป็นคำวินิจฉัยที่บกพร่อง
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า องค์กรผู้เกี่ยวข้องจะ “ตีความ” คำวินิจฉัยที่ 5/2557 กันว่าอย่างไร ส่วนจะมีการดำเนินการเหมือนกับที่เคยทำมาแล้วในปี พ.ศ. 2549 ที่มีการตราพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2549 หรือไม่