คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ ต่อวิชาชีพ

เมื่อจบออกมาใหม่ๆ ทุกคนฝันเต็มที่ที่จะออกมารับใช้สังคม ทำงานหาเงินด้วยความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่รวมทั้งวิชาชีพที่พึงมี มันดูสวยหรูสำหรับคนจบใหม่ๆเสียจริง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงกลับกลายว่าหลายครั้งต้องหลบหลีกเรื่องของ คุณธรรม จริยะรรม และจรรยาบรรณ ไปเสียเพื่อความอยู่รอดของตัวเองและองค์กร ความรู้สึกจึงเริ่มเสียไปเรื่อยๆจนหมดกำลังใจที่จะต่อสู้
   วันที่ผมเข้าทำงานครั้งแรกในโรงงาน ผมต้องยอมรับครับว่าบริษัทยังเล็กต้องผลิตสินค้าที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน แต่จะไปขึ้นทะเบียนในภายหลัง โดยที่ผมยืนยันหนักแน่นว่าอย่างไรเสียสินค้านั้นต้องได้คุณภาพตามที่กำหนด มันเป็นจรรยาบรรณต่อวิชาชีพที่ผมบอกทุกคนว่าผมยืนหยัดในเรื่องนี้ทุกครั้งที่ผมทำงานและได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร แต่เมื่อทำงานมากขึ้นและบริษัทเริ่มเติบโตขึ้นอย่างมาก คำว่าคุณภาพ มาตรฐานมักเป็นคำกล่าวอ้างมาเสมอว่าเป็นนโยาบที่เคร่งครัดเสมอมา หลายครั้งจะรวมถึง สะอาดและปลอดภัย ดูแล้วความมีคุณธรรม จริยธรรมนี้น่าจะดีอย่างมากๆ แต่ในความเป็นจริงมักมีอีกมุมซ่ออนอยู่เสมอ จนก้าวล่วงของความเป็น คุณธรรม จริยธรรม และรวมไปถึงจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ มีกิจกรรมมากมายหรือที่ชอบเรียกกันว่า Initiative ที่ถูกกำหนดออกมาให้ลดต้นทุนเพิ่มมูลค่าสินค้าหรือหาทางเพิ่มกำไรนั่นเอง แล้วในที่สุดสินค้าก็จะถูกละเลยเรื่อง คุณภาพ สะอาด ปลอดภัยไปได้ เช่น
1.    ใส่สีลงในอาหารทั้งที่กฏหมายไม่ให้แต่เพื่อเพิ่มยอดขายให้ใส่ลงไปจนถึงระดับที่ตรวจไม่ได้ แล้วค่อยมาพัฒนาตอนหลัง ตอนนี้หากำไรและยอดขายเข้าบริษัทก่อน
2.    สินค้าพบเชื้อก่อโรค ให้ดำเนินการขายภายในประเทศเป็นสินค้าตกคุณภาพ ขายไปตามตลาดนัดหรือที่ใดก็ได้ที่ไม่มีตราบริษัท แต่ถ้ามีปัญหาตามมาภายหลังคงเป็นความรับผิดชอบของแผนกประกันคุณภาพ เพราะคนสั่งจะบอกเองว่า ผมไม่รู้เรื่อง แต่เราเน้นเรื่องคุณภาพมาก่อน
3.    ใส่วัตถุดิบผิดตัว ส่งขายต่างประเทศไม่ได้ แต่ให้ขายในประเทศเหมือนเดิม
4.    ลดต้นทุนโดยการลดขั้นตอน ลดวัตถุดิบบางตัว ลดเวลา หรือลดการใช้ตัวประกอบอื่นๆ
    ที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆ หากเจาะจงในตัวสินค้าก็คงพบความหลากหลายแน่อน ไม่มีใครกล้าทำลายสินค้า เพราะมันยังเป็นรายได้ของบริษัท แต่จริยธรรม คุณธรรม และจรรยาบรรณทางวิชาชีพมันได้หายไปแล้ว การฟ้องร้องเรื่องสินค้าไม่ปลอดภัยในเมืองไทยยังไม่มีมากนัก เพราะทุกคนห่วงเรื่องการเสียเวลาว่าความ  แต่ไม่ได้สนใจเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคที่อาจถูกเอารัดเอาเปรียบได้ ผมรับรู้เรื่องนี้มานานับสิบปี และรู้ว่าผมไม่อยากหลอกผู้บริโภคอีกต่อไป คุณธรรม จริยธรรมในการประกอบธุรกิจมันหดหายไปเพราะเรื่องของกำไรเข้ามาบดบังอยู่ตลอดเวลา หากเราซื่อสัตย์และจริงใจต่อผู้บริโภคแล้ว เชื่อมั่นว่าความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน โดยที่ไม่ใช่การสร้างภาพลักษณ์ในเชิง CSR ที่ชอบทำให้ดูว่าบริษัทใส่ใจสังคม สิ่งแวดล้อม เป็นอย่างมาก แต่นั่นก็คือผลของการสร้างภาพที่ซ่อนเรื่องผลประโยชน์ต่อบริษัทไว้
      วิธีการแก้ไขเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับชาติไปแล้วเพราะขนาดผู้บริหารระดับประเทศยังขาดในเรื่อง คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณกันไปแล้ว จึงเรียกร้องให้หน่วยงานการศึกษาช่วยสร้างจิตสำนึกเหล่านี้ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ให้บังเกิดขึ้น และมีบทลงโทษกันอย่างจริงจัง เพื่ออนาคตต่อไปของลูกหลานไม่ใช่ตัวเองในปัจจุบัน

กร แสงตะวัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่