ควรใช้ "โภคทรัพย์" อย่างไร

กระทู้สนทนา
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี  ได้สดับรับฟังพระธรรมเทศนาจากพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระกรุณาเทศนาโปรด

การใช้โภคทรัพย์ให้มีประโยชน์  ๔  อย่าง

        ดูก่อนคฤหบดี     อริยสาวกย่อมทำสิ่งที่ควรทำ  ๔  ประการ    ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร   ที่สะสมด้วย
กำลังแขน      ที่ทำจนเหงื่อไหลโทรมกาย      ประกอบในธรรมจึงได้มาแล้วโดยชอบธรรม      สิ่งที่ควรทำ   ๔   อย่างนี้     ได้แก่สิ่งใด
        คือ     อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้     ได้โภคทรัพย์มาด้วยความขยันหมั่นเพียร     ด้วยการสะสมด้วยกำลังแขน     ด้วยการทำจน
เหงื่อไหลโทรมกาย    จึงได้โภคทรัพย์มาโดยชอบธรรม

        ๑.  ได้โภคทรัพย์มาโดยชอบธรรมแล้ว    เลี้ยงตัวเองให้เป็นสุข    เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข    เลี้ยงบุตรภรรยาบ่าวไพร่ให้เป็นสุข
เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ (ที่ปรึกษา)   ให้เป็นสุข


        ๒.  ได้โภคทรัพย์มาโดยชอบธรรมแล้ว     ย่อมป้องกันอันตรายทั้งหลายที่เกิดจากไฟ     จากน้ำ     จากพระราชา (ที่เป็น ทรราช)
จากโจร    จากผู้ที่เกลียดชังกัน    จากทายาทผู้ที่ร่วมมรดกกัน    ทำตนให้สวัสดีจากภัยทั้งปวง

        ๓.  ได้โภคทรัพย์มาโดยชอบธรรมแล้ว    กระทำพลี  ๕  อย่าง   คือ

                       ญาติพลี     ได้แก่    สงเคราะห์ญาติ  ๑
                       อติถิพลี     ได้แก่    ต้อนรับแขก   ๑
                       บุพพเปตพลี     ได้แก่    ทำบุญอุทิศแก่ผู้ตาย  ๑
                       ราชพลี     ได้แก่    ถวายเป็นของหลวง   (มีเสียภาษีอากรเป็นต้น)  ๑
                       เทวตาพลี     ได้แก่    ทำบุญอุทิศแก่เทวดา  ๑

        ๔.  ได้โภคทรัพย์มาโดยชอบธรรมแล้ว  บริจาคแก่สมณพราหมณ์  ผู้งดเว้นจากความประมาทมัวเมา  ผู้ตั้งมั่นในขันติ (ความอดทน)
และโสรัจจะ  (ความเสงี่ยม)    ผู้ฝึกหัดตน   ผู้สงบตน   ผู้ดับกิเลสในตน

        ดูก่อนคฤหบดี   อริยสาวกนั้นชื่อว่า  เป็นผู้กระทำสิ่งที่ควรกระทำ  ๔  ประการ  ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
ที่สะสมด้วยกำลังแขน   ที่กระทำจนเหงื่อไหลโทรมกาย   ประกอบในธรรมจึงได้มาโดยชอบธรรม

        ดูก่อนคฤหบดี   โภคทรัพย์ของผู้ใดถึงความสิ้นไปโดยเหตุอื่นนอกจากสิ่งที่ควรกระทำ  ๔  ประการนี้  โภคทรัพย์ของผู้นั้น   เรียกว่า
สิ้นเปลืองไปโดยมิใช่เหตุ   สิ้นเปลืองไปโดยไม่สมควร   ใช้จ่ายไปในทางที่ไม่ถูก

        ส่วนโภคทรัพย์ของผู้ใด  ถึงความสิ้นไปด้วยการกระทำสิ่งที่ควรกระทำทั้ง  ๔  ประการนี้  โภคทรัพย์ของผู้นั้น  เรียกว่า   สิ้นเปลือง
ไปโดยเหตุอันควร   สิ้นเปลืองไปโดยสถานที่ควร   ใช้จ่ายในทางที่ถูก

        ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดังนี้แล้ว   จึงตรัสพระคาถา  คือคำประพันธ์เป็นธรรมะเหล่านี้ว่า   ภุตตา  โภคา  ภะฏา  ภัจจา  เป็นต้น
ความว่า


        โภคทรัพย์ทั้งหลายเราได้บริโภคแล้ว     บุคคลที่ควรเลี้ยง     เราได้เลี้ยงแล้ว      เราได้ข้ามพ้นอันตราย
        ทั้งหลายไปแล้ว    ทักษิณา  (ของทำบุญ)    มีผลอันเลิศ     เราได้ให้แล้ว      อนึ่ง    พลีกรรม  ๕  ประการ  
        เราได้กระทำแล้ว      ท่านผู้มีศีลสำรวมอินทรีย์     ประพฤติพรหมจรรย์     เราได้บำรุงแล้ว     บัณฑิตอยู่
        ครอบครองเรือน   พึงปรารถนาโภคทรัพย์    เพื่อประโยชน์อันใด   ประโยชน์นั้นเราได้ถึงแล้วโดยลำดับ
        กรรมที่ไม่เดือดร้อนในภายหลัง   เราได้กระทำแล้ว    นรชนผู้จะต้องตาย   เมื่อคำนึงถึงเหตุนี้   เป็นผู้ตั้ง
        อยู่ในธรรมของพระอริยะ      บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้      ครั้นเวลาเขาตายจากโลกนี้
        ไปแล้ว    ย่อมบันเทิงในสวรรค์



        

        


              


ศีกษา  ค้นคว้า  ในพระไตรปิฎก  ได้จาก  บาลีคัมภีร์อังคุตตรนิกาย  จตุกกนิบาต  แห่งปัตตกรรมวรรคที่  ๒

ที่มา  :  ชีวประวัติพุทธอุบาสก  :  อนาถบิณฑิกเศรษฐีอุบาสก  ผู้เลิศด้าน  "การถวายทาน"  รวบรวมเรียบเรียงโดย   อ. จำเนียร  ทรงฤกษ์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่