สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระสัมโมทนียกถา เรื่อง คิหิสุข ๔


จากโพสของ สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561
https://www.facebook.com/SanggharajaOffice/posts/1917475758563319

เช้าวันจันทร์ ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปยังบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ทรงเป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลบริษัท

โอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระสัมโมทนียกถา ความตอนหนึ่งว่า

“อาตมาขอปรารภธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำหรับท่านทั้งหลาย ซึ่งล้วนเป็นผู้ครองเรือน ดังที่เรียกว่าฆราวาส หรือคฤหัสถ์ และเป็นผู้ดำเนินกิจการในภาคธุรกิจเอกชนได้นำไปขบคิดพิจารณา

ธรรมะของพระพุทธองค์นั้น ทรงจำแนกไว้โดยละเอียดลออหลายระดับ ที่ทรงแสดงไว้สำหรับมุ่งตรงต่อทางพ้นทุกข์ก็มี ที่ทรงแสดงไว้สำหรับความสุขระดับโลกียะ คือในระดับชาวบ้านก็มี ความสุขของชาวบ้าน หรือผู้ครองเรือนนั้นเรียกว่า ‘คิหิสุข’ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ กล่าวคือ

๑. อัตถิสุข ความสุขจากการมีทรัพย์โดยชอบธรรม
๒. โภคสุข ความสุขจากการใช้จ่ายทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบธรรม
๓. อนณสุข ความสุขจากการไม่เป็นหนี้ และ
๔. อนวัชชสุข ความสุขจากความประพฤติสุจริต ซึ่งเป็นความสุขที่มีค่ามากที่สุด

ในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เช่นของท่านทั้งหลาย บุคลากรแต่ละคนต้องสร้างคิหิสุขทั้ง ๔ ประการให้เกิดขึ้นในตนให้ได้ก่อน เมื่อมีความสุขอย่างพอเพียงแล้ว แต่ละคนก็จะปฏิบัติการงานได้เต็มประสิทธิภาพ

ในขณะเดียวกันนั้น นโยบายขององค์กรก็ต้องมุ่งความสุขของสังคมส่วนรวม ต้องแสวงหาหนทางให้ธุรกิจที่เราประกอบอยู่ ช่วยสร้างสรรค์สมาชิกในสังคมให้มีคิหิสุข ครบถ้วนทั้ง ๔ ประการด้วย

ท่านควรคำนึงเสมอว่าองค์กรนี้จะช่วยทำให้ประชาชนมีทรัพย์โดยชอบธรรมได้อย่างไร จะสามารถใช้จ่ายทรัพย์โดยชอบธรรมได้อย่างไร จะอยู่อย่างปลอดหนี้สินพะรุงพะรังได้อย่างไร และจะประพฤติสุจริตธรรมอย่างสม่ำเสมอได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จึงขอให้องค์กรนี้ เป็นกลไกช่วยผลิตสมาชิกในสังคม ที่ถึงพร้อมด้วยคิหิสุขโดยถ้วนหน้า”

-------------------

อ้างอิงมาจาก พระสูตรเรื่อง อันนนาถสูตร
ใน พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
ความว่า
ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดี สุข ๔ ประการนี้
อันคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามพึงได้รับตามกาลตามสมัย สุข ๔ ประการเป็นไฉน คือ
สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ ๑
สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค ๑
สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้ ๑
สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ ๑

ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์เป็นไฉน โภคทรัพย์ของกุลบุตรในโลกนี้
เป็นของที่เขาหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรสั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน
มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรมเขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า โภคทรัพย์
ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรสั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม
ได้มาโดยธรรมของเรามีอยู่ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์

ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภคเป็นไฉน
กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมใช้สอยโภคทรัพย์ และย่อมกระทำบุญทั้งหลาย
ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน
มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า
เราย่อมใช้สอยโภคทรัพย์ และย่อมกระทำบุญทั้งหลายด้วยโภคทรัพย์ ฯลฯ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค

ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้เป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้
ย่อมไม่เป็นหนี้อะไรๆ ของใครๆ น้อยก็ตาม มากก็ตาม เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า
เราไม่เป็นหนี้อะไรๆ ของใครๆ น้อยก็ตาม มากก็ตาม นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้

ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษเป็นไฉน
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อัน
หาโทษมิได้ เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า เราประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม
มโนกรรม อันหาโทษมิได้ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษ

ดูกรคฤหบดี สุข ๔ ประการนี้แล อันคฤหบดีผู้บริโภคกามพึงได้รับตามกาลตามสมัย ฯ

นรชนผู้มีอันจะตายเป็นสภาพ รู้ความไม่เป็นหนี้ว่าเป็นสุขแล้ว
พึงระลึกถึงสุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ เมื่อใช้สอยโภคะเป็นสุขอยู่
ย่อมเห็นแจ้งด้วยปัญญา ผู้มีเมธาดี เมื่อเห็นแจ้ง ย่อมรู้ส่วนทั้ง ๒ ว่า
สุขแม้ทั้ง ๓ อย่างนี้ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ อันจำแนกแล้ว ๑๖ ครั้ง
ของสุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษ ฯ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่