ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า "สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นต้องดับ"

ธรรมจักษุ หรือ ดวงตาเห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโดยสรุปไว้ก็คือ "สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา"

คือเมื่อใครได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าจนเกิดความเห็นแจ้งแล้วก็จะเกิดดวงตาเห็นธรรมนั้นมา ซึ่งความหมายของดวงตาเห็นธรรมนี้ถ้าเรานำมาพิจารณาให้ดีเราก็จะพบกับหลักธรรมะระดับสูง (ปรมัตถธรรม) ในเรื่องการดับทุกข์ (อริยสัจ ๔) ได้ แต่ถ้าไม่พิจารณาให้ดีก็จะไม่พบ

จากคำวที่ว่า "สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา" นี้ก็สรุปให้สั้นลงได้อีกว่า "สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นต้องดับ" ซึ่งคำว่า "สิ่งใดเกิด" นี้ก็หมายถึงว่า มันมีการปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา หรือต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งนี้จะเรียกว่าเป็น "สิ่งปรุงแต่ง"  ซึ่งคำว่า "เกิด" ก็หมายถึง จากที่ไม่มีอยู่ก่อน แล้วจึงมามีขึ้นในภายหลัง  ส่วนคำว่า "ดับ" ก็หมายถึง จากที่มีอยู่ก่อนแล้วมาหายไปในภายหลัง

ดวงตาเห็นธรรมนี้จะเกิดขึ้นแก่ผู้ฟังธรรมที่เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า สิ่งที่มีการเกิดขึ้นทั้งหลายนั้นจะเป็น "สิ่งปรุงแต่ง" ซึ่งสิ่งที่ถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาทั้งหายนี้ จะไม่สามารถตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดร (หรือเป็นอมตะ) ได้ คือไม่ช้าก็เร็วสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายจะต้องแตก (ใช้กับวัตถุ) หรือดับ (ใช้กับจิต) หายไปอย่างแน่นอน  

การที่เราไม่มีดวงตาเห็นธรรมนั้นก็เป็นเพราะเรามีความเข้าใจที่ผิดจากความเป็นจริงของธรรมชาติที่ว่า "สิ่งใดเกิด สิ่งนั้ต้องดับ" คือเรากลับไปเข้าใจว่า จะ "มีสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วสามารถตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดรได้" หรือเกิดขึ้นมาได้โดยไม่ต้องอาศัยเหตุใดๆมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นและตั้งอยู่ อย่างเช่นที่เราเข้าใจกันว่า จะมีจิตหรือวิญญาณที่เป็นตัวเราที่จะสามารถออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้ หรือเข้าใจว่าเมื่อร่างกายตายแต่ถ้าจิตยังมีอวิชชาหรือกิเลสอยู่ อวิชชาหรือกิเลสนี้ ก็จะมีอำนาจไปสร้างให้เกิดจิตใหม่ขึ้นมาเพื่อสืบต่อหรือเพื่อรับผลกรรมที่จิตเก่าทำเอาไว้ก่อนตายได้ เป็นต้น ซึ่งนี่ก็คือความเห็นผิดที่เข้าใจว่าจิตหรือวิญญาณของมนุษย์เรานี้เป็นอัตตา (ตัวตนอมตะ) ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูนั่นเอง

สรุปได้ว่า ความเข้าใจว่า "จิตเกิดขึ้นมาแล้วจะตั้งอยู่ไปได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเหตุใดๆมาปรุงแต่ง หรือเกิดมาแล้วไม่ดับ" นี้เองที่เป็นความเห็นผิดที่ทำให้เราไม่มีดวงตาเห็นธรรมหรือไม่เห็นแจ้งถึงวิธีการดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้ เพราะเข้าใจผิดว่ามีตัวเราที่เกิดขึ้นมาแล้วจะตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดรได้ตามหลักของศาสนาพราหมณ์ แต่ถ้าเราจะเข้าใจใหม่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาทั้งหลายนั้นจะไม่เที่ยง คือไม่ช้าก็เร็วมันจะต้องแตกหรือดับหายไปอย่างแน่นอน หรือไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นมาแล้วจะเป็นอมตะได้ ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจต่อไปอีกว่า สิ่งที่ไม่เที่ยงนี้จะต้องทนที่จะประคับประคองตัวตนของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบากอยู่ตลอดเวลา และเมื่อเข้าใจถึงสภาวะที่ต้องทนนี้แล้วก็จะทำให้เกิดความเข้าใจต่อไปอีกว่า สิ่งที่ไม่เที่ยงและต้องทนอยู่นี้ มันไม่ได้เป็นตัวตนที่แท้จริงของใครๆเลย หรือทำให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า "มันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง" จะมีก็เพียงตัวเราชั่วคราว หรือตัวเรามายา หรือตัวเราสมมติเท่านั้น และเมื่อเห็นแจ้งถึงสภาวะที่ไม่มีตัวเราอยู่จริงนี้ได้ ก็จะทำให้จิตนี้ปล่อยวางความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราลง (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีความยึดถือ มันก็จะไม่มีทุกข์ เมื่อจิตไม่มีทุกข์ มันก็สงบเย็น (นิพพาน) เมื่อจิตนิพพาน ดวงตาเห็นธรรมก็จะปรากฎ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่