จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร


       ธรรมชาติสรรสร้างสิ่งมีชีวิตต่างๆ ขึ้นมาบนโลก ให้มีการอยู่ร่วมกันเป็นระบบนิเวศ มีกลไกต่างๆ ที่ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างลงตัว มีการถ่ายทอดพลังงานส่งต่อกัน เรียกว่า "ห่วงโซ่อาหาร" การที่สัตว์ชนิดหนึ่งล่าหรือจับสัตว์อีกชนิดหนึ่งกินเป็นอาหารนั้น เราเรียกความสัมพันธ์นี่ว่า "สภาวะการล่าเหยื่อ"

       ซึ่งธรรมชาติสร้างสัตว์นักล่า หรือสัตว์กินเนื้อขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้บริโภคอันดับ 2 เอาไว้ควบคุมจำนวนประชากรของผู้บริโภคอันดับ 1 เช่นเดียวกับการที่สัตว์กินพืชหรือผู้บริโภคอันดับ 1 ควบคุมจำนวนประชากรพืชหรือผู้ผลิต เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งขยายพันธุ์จนมีจำนวนประชากรมากเกินไปจนเกิดสภาวะขาดแคลนอาหาร เป็นการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ

       นอกจากความสำคัญในเรื่องการควบคุมจำนวนประชากรแล้ว ในบางครั้ง ผู้ล่ายังมีประโยชน์ในเรื่องของการคัดแยกตัวที่มีปมด้อย หรือตัวอ่อนแอ ออกจากระบบ เพื่อไม่ให้ตัวที่มีปมด้อย หรือตัวอ่อนแอได้สืบทอดสายพันธุ์ ทำให้ตัวที่แข็งแรงได้สืบทอดสายพันธุ์ต่อไป

       ส่วนสัตว์ผู้ล่านั้น ก็มักจะถูกควบคุมจำนวนประชากรโดยสัตว์ผู้ล่าชนิดอื่นอีกที ซึ่งสัตว์ที่กินสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร ในบางครั้งเราก็จะใช้คำว่าผู้บริโภคอันดับ 3 , 4 , 5 ...ที่มีการกินกันเป็นทอดๆ ตามลำดับ เช่น กบกินแมลง งูกินกบ เหยี่ยวกินงู เป็นต้น  และนอกจากนี้ธรรมชาติยังสร้างเชื้อโรคต่างๆ ขึ้นมาเพื่อควบคุมจำนวนประชากรสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงมนุษย์ด้วย

       บ่อยครั้งเวลาที่เราอ่านบทความ หรือดูสารคดี เรามักจะเจอศัพย์ที่มีการใช้กันอยู่คำหนึ่งว่า "จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร" ซึ่งหมายถึงสัตว์นักล่าที่เป็นผู้บริโภคอันดับสูงสุดในระบบนิเวศแห่งหนึ่ง เช่น เสือโคร่งเป็นจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในป่าห้วยขาแข้ง สิงโตเป็นจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในทุ่งหญ้าแอฟริกา ปลาฉลามเป็นจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในทะเล เป็นต้น

       ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ห่วงโซ่อาหารไม่มีจุดสิ้นสุดของการถ่ายทอดพลังงาน โดยเมื่อสัตว์นักล่าที่เป็นจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารนั้นตาย ก็จะถูกกินต่อโดยสัตว์ที่กินซากสัตว์เป็นอาหาร และเน่าเปื่อยกลายเป็นอาหารของแบคทีเรียและจุลินทรีย์ และถูกย่อยสลายจนกลายเป็นปุ๋ยหรือสารอาหารในดินให้แก่พืช และนำไปสู่การส่งถ่ายพลังงานต่อไป

อาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม  https://www.facebook.com/EPV.or.th
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่