" อานาปานสติ " และ " ทางพ้นทุกข์ "

Q : ธรรมะ จะทำให้คนพ้นทุกข์ได้จริงหรือไม่ และจะต้องปฏิบัติอย่างไร ?

A : ปฏิบัติตามคำสอนของ พระพุทธเจ้า เดินตามมรรคมีองค์8  ซึ่งเป็นทางอันประเสริฐ 8 ประการ
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการปฏิบัติแนวทาง อานาปานสติ ตั้งแต่ต้น  โดยคร่าวๆให้พอได้เป็นทางในการ
ปฏิบัติ  ค่อยๆอ่านนะครับ  อาจจะยาวซักหน่อย ต้องขออภัยด้วย...


...................................................

สมมุติขึ้นว่า

ชายหนุ่มผู้โชคดี
ชายหนุ่มคนหนึ่ง หลังจากที่ออกจากงานประจำของเขาแล้ว ได้มีความคิดจะเปิดบริษัทฯ
เป็นของตนเอง ด้วยความสามารถ  และมุ่งมั่น  บวกกับโอกาสที่ดี    เขาได้เปิดบริษัทฯ
สมกับที่ตนเองตั้งใจ โดยการได้รับการสนับสนุนการเงินจากผู้ใหญ่ที่รู้จัก เขาเปิดบริษัทฯ
ด้วยความมั่นใจในตนเองว่า บริษัทฯที่เขาก่อตั้งนี้  จะทำให้เขาร่ำรวย  และเป็นที่ยอมรับ
ของคนรอบข้าง คิดว่าอย่างไรตัวเขาเองก็ไม่มีทางตกต่ำอีกแล้ว ชีวิตจะต้องมีแต่ความสุข
เพียงอย่างเดียว


ล้มลง
หลังจากเปิดบริษัทฯ เขาทำธุรกิจ ได้เจอกับปัญหามากมาย โดนโกงบ้าง ทำงานไม่ได้เงินบ้าง
เงินทุนที่มีอยู่ก็เริ่มหมด  เขาหวังต่อลมหายใจด้วย การกู้เงินจากธนาคาร แต่การกู้ครั้งนั้น
ไม่ผ่าน....  บริษัทฯ ที่เขาก่อตั้งมากับมือ ก็ต้องปิดตัวลง พร้อมกับเงินที่หมด ตามมาด้วย
หมายศาลคดีเกี่ยวกับหนี้ และ เรื่องภาษี  รถที่เขาใช้ ก็ถูกตามยึด ปัญหาต่างๆ เข้ามารุมเร้า
ตัวเขาอย่างมากมาย


ทุกข์เจียนตาย
ชายหนุ่มจากที่เขาเคยคิดว่า ตนเองโชคดีที่สุด   วันนี้ไม่ใช่อีกแล้ว   ไม่อยากลุกจากที่นอน
ไม่อยากรับโทรศัพท์   มันเหมือนคนที่เหือดแห้งไปหมด    ไม่คิดว่าชีวิตคนๆหนึ่ง จะทุกข์
ได้มากมายขนาดนี้


ทางพ้นทุกข์
ชายหนุ่มหมดแล้วทุกอย่าง ไม่เหลือแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ ที่ใช้ทำงาน ต้องขายเพื่อใช้หนี้
ชายหนุ่มคิดขึ้นมาได้ในใจ ถึงสิ่งที่ตนเคยศึกษา เคยสนใจ คือ พระพุทธศาสนา การทำสมาธิ
เขากำเงินติดตัวไป 15 บาท หวังจะเข้าร้านอินเตอร์เน็ต ไปฟังธรรม   เผื่อจะหายทุกข์ไปได้
เขาเปิดเข้าไปดูใน Youtube   พิมพ์คำว่า   " ทุกข์ "   ไปที่หัวข้อ " ความจริงไม่มีใครทุกข์ "
เขาฟังไม่ค่อยเข้าใจ  แต่ก็พอรู้แล้วว่า  " พระพุทธศาสนา "   อาจจะพาเขาพ้นจากทุกข์ได้  
เขาเปิด Youtube ต่อไปพบกับ " พุทธวจน " ได้ฟังคำแนะนำถึง " อานาปนสติ " เขาคิดในใจ
ว่า เขาจะลองปฏิบัติตาม"พระพุทธเจ้า"ดู ด้วยการปฏิบัติอานาปานสติ นี้


การปฏิบัติของเขา เป็นอย่างนี้

ชายหนุ่มคนนั้น ปฏิบัติด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า และคิดว่าวิธีนี้ จะพาตน
พ้นจากความทุกข์ที่หนักหนาครั้งนี้ได้    แต่ก็ไม่รู้ว่า   การที่ตนระลึกรู้ที่ลม   อยู่อย่างนี้
จะทำให้พ้นจากทุกข์ได้อย่างไร  เขาปฏิบัติไปโดยคิดเพียงว่า พระพุทธเจ้า สรรเสริญว่า
ทำอย่างนี้เป็นสิ่งดี เค้าจะทำแค่นี้  ไม่ได้หวังมรรคผลอะไร เขาเป็นผู้มีศีลเป็นปกติ ไม่คิด
เบียดเบียนผู้อื่น  เขาจะเอาตัวรอดจากทุกข์ได้อย่างไร  อธิบายดังนี้

........
.....
...

ภาคปฏิบัติ

ยกที่ 1 (อึดอัด)
ในการรู้สึกที่ลมของชายหนุ่มนั้น จำ อานาปานสติ มาหนึ่งท่อน จาก " พุทธวจน " ดังนี้
                      " เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า "

วันแรกของการปฏิบัติ ชายหนุ่ม ตั้งใจว่าทำทั้งวัน มีสติเมื่อไหร่ กลับมารู้สึกที่ ลมหายใจนี้
คอยถามตัวเองเสมอว่า ตอนนี้หายใจ " เข้า " หรือ " ออก "  ในตอนแรก สติที่มาระลึกได้
ยังน้อย ทำให้ความคิดยังหลงไปกับการใช้ชีวิตประจำวันอยู่เกือบทั้งวัน กลับมารู้ลมได้ไม่กี่ครั้ง
พอมีสติมารู้ได้ไม่กี่ครั้ง  สติก็กระโดดไปเรื่องอื่น  แต่ด้วยความที่ตั้งใจจะเอาจริงในการปฏิบัติ
" อานาปานสติ " ก็ทำชายหนุ่มให้มีความเพียร  แล้วก็กลับมารู้ที่ลมบ่อยขึ้น  แต่จริตเขาที่เคย
บริกรรมว่า พุท-โธ อยู่นั้น  ใจมันอยากไป บริกรรม พุท-โธ เพราะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยกับจิต แต่เขา
ก็ต้องฝืนกลับมารู้สึกที่ลม โดยไม่ได้บริกรรมว่า พุท-โธ

ชายหนุ่มพยายามทำความรู้สึกที่ลมนั้นว่า " มันเข้า หรือออก " ...   หากลมเข้า ก็ทำความรู้สึก
ถึงลมที่กำลังเข้า....   ช่วงแรกของการรู้ลม   รู้สึกอึดอัดมาก   เป็นเพราะการบังคับลมหายใจ  
ให้เข้า - ให้ออก  คือ ไม่ได้เป็นสติที่แท้จริง ยังมีการเจตนาไปเพ่ง ผลที่ได้ ก็คือ  รู้สึกอึดอัด
แน่นหน้าอก ทุกครั้งที่มีสติมาระลึกที่ลมหายใจ  

แต่เมื่อปฏิบัติไปจะทราบเองว่าจะวางจิตแค่ไหนจะเหมาะกับตนเอง แต่เมื่อชายหนุ่มมีความเพียร
ทดลองวางจิตแค่ไหนว่าพอดี (การค้นหาสมดุลแห่งธรรม) เขาจะรู้ได้เอง และเห็นสมดุลแห่งธรรม
ของตนเอง...  เมื่อชายหนุ่ม พบจุดที่เป็นสมดุลในการระลึกลมหายใจ

ต่อมาสติก็กลับมารู้ที่ลมนี้บ่อยขึ้น ช่วงที่ชายหนุ่ม ทำช่วงแรก สติยังพร่าเลือน ไม่ชัดนัก ไม่ค่อยรู้สึก
" อาการของลมที่เข้าหรือออก "  
เขาใส่คำให้กิริยาของลมที่เข้า ว่า " เข้า " แล้วทำความรู้สึกที่ข้างใน ถึงอาการอย่างนั้นเอา
ส่วนกิริยาของลมที่ออก ว่า " ออก "  แล้วทำความรู้สึกที่ข้างใน ถึงอาการอย่างนั้นเอา

ชายหนุ่มปฏิบัติอย่างนี้ตลอดทั้งวัน เมื่อว่างจากการทำงาน หรือกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด จะพยายาม
มีสติจะกลับมาที่ลมหายใจนี้เสมอ

การปฏิบัติของเขาช่วงแรกนี้ ยังไม่เห็นความคิดที่ผุดขึ้นเนื่องจากจิตยัง พะวงอยู่กับการรู้ลม และสติ
ยังไม่มากพอ...  แม้ชายหนุ่มเพิ่งเริ่มปฏิบัติ อานาปานสติ อยู่อย่างนี้ มรรคมีองค์ 8 ก็บริบูรณ์ ได้ด้วย
เช่นกันดังนี้

มรรคองค์ที่ 2 ความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) ความตั้งใจ จะละทิ้งความคิดในทางกาม ( รูป รส กลิ่น
เสียง สัมผัส ) พยาบาทเบียดเบียน  เพราะการตั้งใจที่จะระลึกแค่ที่ลมหายใจนี้เท่านั้น

มรรคองค์ที่ 6 ความเพียรชอบ (สัมมาวายามะ) ความพยายามระลึกที่ลมนี้ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภ
ความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม ( ระลึกถึงลม )ทั้งหลาย
ที่ยังไม่ได้บังเกิด.....   ย่อมพยายาม ย่อมปรารภ ความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความ
ไม่บังเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันลามก ( ความคิดอกุศล) ที่ยังไม่ได้บังเกิด

.............................................



ยกที่ 2 (ปล่อยคำบริกรรม)
วันต่อมาด้วยความตั้งใจจริงในการปฏิบัติ ตื่นขึ้นมาตอนเช้า ชายหนุ่มลุกจากที่นอนด้วยสติที่เตือน
ให้มารู้ที่ลมหายใจเลย  รู้ได้ซักพัก  สติก็หลุดไป  กับการทำกิจวัตรประจำวัน...    ระหว่างวันนั้น
เมื่อเห็นว่าสติชัดขึ้น บ่อยขึ้น โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม พยุงมากนัก ก็เริ่มปล่อย คำว่า "เข้า ออก"
ที่เขาใช้ช่วยในตอนแรก... โดย ทำความรู้สึกที่ลมเข้า " แล้วรู้สึกถึงว่าตอนนี้ลมเข้า "
ทำความรู้สึกที่ลมออก " แล้วรู้สึกถึงว่าตอนนี้ลมออก "  ช่วงที่ปล่อยคำบริกรรม ต้องพยายามพยุงจิต
แต่เมื่อสติ แข็งแรงขึ้น ก็ไม่ต้องคอยพยุง..   มันจะง่ายขึ้น สบายขึ้น

ตรงนี้เขาเริ่มมีสติชัดขัด แล้วระลึกถึงลมได้อย่างเป็นธรรมชาติแล้ว ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ จึงดู
อานาปานสติในขั้นต่อไป

.............................................



ยกที่ 3 (ยาวก็รู้สั้นก็รู้)
เมื่อสติชัดขึ้น ถี่ขึ้น พอจะรู้ทั่วถึง จะเห็นช่องว่างของสติ...  ยกตัวอย่าง รู้สึก ที่ลมเข้า-ออกแล้วมัน
เหลือช่องว่าง ซึ่งตอนแรกของการปฏิบัติ สติตามระลึกแทบไม่ทัน แต่ตอนนี้มันทันจนเหลือ
ตอนนี้ชายหนุ่ม จึงยกจิตขึ้นอานาปานสติอีกขั้น ขั้นนี้ผู้ปฏิบัติ จะรู้เองว่า " พร้อมเมื่อไหร่ "

ขั้นนี้ เมื่อเขาหายใจ " เข้า-ออก " ก็สังเกตุว่ามัน สั้นหรือยาว โดยชายหนุ่ม ยึดเอาว่า หายใจเข้าครั้งนี้
มันสั้นหรือยาว กว่าครั้งที่แลัว ...  (พระพุทธเจ้าให้ปฏิบัติอย่างนี้เพื่ออะไร?  ก็เพื่อไม่ให้สติไหลไปรวม
กับลมหายใจนั้นเอง)  ช่วงแรกเขาต้องพยายามพยุงจิตตามเคย  แต่เมื่อสติดีขึ้น ก็เห็นลมหายใจชัดขึ้น
จิตที่จดดจ่ออยู่ที่ลมหาย จะได้สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ...  เขาได้สังเกตุอย่างนี้ว่า การเจริญอานาปานสติ
ในระหว่างวัน  อายตนะตาที่เปิดอยู่นั้น เมื่อเรามีสติจดจ่อที่ลมหายใจ มีผลทำให้สมาธิและสติกล้าแข็ง
มากกว่า ตอนที่นั่งทำสมาธิหลับตาเป็นชั่งโมงซะอีก

............................................



ยกที่ 4 (ความคิดผุดขึ้น)
ชายหนุ่มมีสติ มารู้ที่ลมหายใจชัด จิตจะตั้งมั่นเป็นขณะ...  พอจิตตั้งมั่นแล้ว ก็จะเห็นความคิดที่ผุดขึ้น
มาแทรกระหว่างการรู้สึกที่ลมหายใจ...  พอกลับไปที่ลมหายใจ  ความคิดก็แทรกอีก เขาเห็นอยู่อย่างนี้
ช่วงเห็นความคิดผุดขึ้นช่วงแรก เขาจะรู้แค่ว่ามีความคิดเข้ามาแทรก...  แต่เมื่อสติกล้าแข็งแล้วนั้น
จะเห็นเป็นภาพขึ้นมาบ้าง   เห็นว่าจิตคิดอะไรบ้าง  จะเห็นเรื่องราวชัดเจน เรื่องราวที่ผุดขึ้นนั้น มันมีทั้ง
เกี่ยวกับปัจจุบันบ้าง เรื่องในอดีตบ้าง เรื่องที่ไม่เคยเจอบ้าง บุคคลที่รู้จักบ้าง ไม่รู้จักบ้าง ผุดขึ้นมาแทรก
อยู่ตลอด ชายหนุ่มนั้นเมื่อความคิดผุดขึ้นก็ละจากความคิดนั้น กลับมาที่ลม ไม่ไหล ไปในความคิด
ไม่พิจารณาอะไร รู้ที่ลมหายใจปัจจุบันขณะ


การปฏิบัติของเขาลำดับนี้ เริ่มเห็นการเกิด - ดับ ภายใน คือ ความคิด(สังขาร)เกิด , ความคิด(สังขาร)ดับ
ลมหายใจ(รูป)เกิด , ลมหายใจ(รูป)ดับ.....  (เป็นผู้มีปกติพิจารณา เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ ) (เป็นผู้มี
ปกติพิจารณา เห็นกายในกายอยู่)  
มรรคมีองค์ 8 ในองค์ 7 ความระลึกชอบ (สัมมาสติ)  ก็บริบูรณ์  เมื่อสติจดจ่อตามระลึกอยู่ ก็เกิดเป็นสัมมา
สมาธิ มรรคองค์ที่ 8 ก็บริบูรณ์
ชายหนุ่มก่อนเขาเริ่มปฏิบัติอานาปานสติ เป็นผู้มีศีลสมบูรณ์อยู่ก่อนแล้ว บวกกับขณะปฏิบัตินั้นตั้งใจที่จะ
ถือศีล5 จึงทำให้มรรคองค์ที่ 3 วาจาชอบ (สัมมาวาจา)  ซึ่งเป็นศีลข้อ 4...  และมรรคองค์ที่ 4 การงานชอบ
(สัมมากัมมันตะ)  ซึ่งเป็นศีลข้อ 1 ,2 ,3 มรรคทั้งสององค์ก็บริบูรณ์.. ในมรรคองค์ที่ 5 อาชีวะชอบ (สัมมาอาชีวะ)
ชายหนุ่มก็บริบูรณ์ด้วยเพราะไม่มีการเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาอาชีวะ จึงเป็นปัจจัยให้มรรคองค์ที่ 5 นี้บริบูรณ์ด้วย
เมื่อชายหนุ่มเห็นภายในอยู่อย่างนี้ ก็เห็นถึงสภาพทุกข์ของขันธ์ในภายใน คือมีความดับ ความเปลี่ยนแปลง
เป็นธรรมดา รู้ว่านี้เป็น "ทุกข์" เห็นว่านี้คือ "เหตุให้เกิดทุกข์"  ทำให้เกิดสัมมาทิฐิที่ถูกต้อง ใน มรรคองค์ที่ 1
สภาวะจิตที่พร้อม ควร แก่มรรคผล ก็เกิดด้วยการเจริญ อานาปานสติ จน มรรคมีองค์8 บริบูรณ์

.............................................


ยกที่ 5 (บังคับจิตให้รู้ลม)
วันนั้นเองตอนเย็นชายหนุ่มนอนเล่นบนที่นอน  แล้วก็คิดอย่างนี้ว่า จะลองบังคับไม่ให้จิต เคลื่อนไปไปไหน
ให้รู้ที่ลมนี้อย่างเดียว พอตั้งใจอย่างนั้น ก็สู้เต็มที่...   รู้ลมได้ซักพัก ความคิดเจ้ากรรมผุดขึ้นอีก พยายาม
ดึงจิตไปที่ลมทันที..  พยายามทรงตัว.. ทรงสติไว้ที่ลม ... แต่ไม่ว่าจะพยายาม ซักแค่ไหนก็เห็นจิตตนเอง
เคลื่อนไปถี่ขึ้นๆ จิตตั้งมั่น เห็นมันอย่างนี้ ซ้ำแล้วซ้ำอีก...  จนจิตแจ้งในความเป็นอนิจจัง ที่มันบังคับไม่ได้..
มันไม่มีตัวตน... มันเป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่มันกระทบ กันอยู่ภายใน ว่างจากความหมาย  ทำงานไปเอง เมื่อมีเหตุ
เมื่อเห็นถึงสภาพภายใน ที่เนื่องด้วยกฏไตรลักษณ์  ย้อนออกมาภายนอก เห็นถึงความไม่เที่ยงของทุกสรรพสิ่ง
ชายหนุ่มคนนั้นก็เกิดปัญญา แจ้งขึ้นมา ถึงความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน มรรคผลเกิดขึ้นที่ตรงนี้ จะการที่มรรคมีองค์8
บริบูรณ์พร้อมในขณะจิตที่เกิดมรรคผล


เปรียบเหมือนชายคนๆหนึ่ง นั่งอยู่กลางแดดเวลาเที่ยง มองไปที่ก้อนน้ำแข็ง(ขันธ์5)  อยู่บนพื้นกลางแจ้งโดย
มั่นหมายให้ก้อนน้ำแข็ง(ขันธ์5)นั้น ต้องอยู่คงสภาพเดิม ต้องไม่เปลี่ยนแปลง...  แต่เมื่อก้อนน้ำแข็งตั้งอยู่
ได้ซักพักหนึ่ง ก็ละลายไป และที่สุดก็สลายไปไม่เหลืออะไรแม้แต่หยดน้ำ เหือดแห้งไปด้วย  ชายคนนี้จับ
ก้อนน้ำแข็งก้อนใหม่ขึ้นมาแล้วนั่งดูอยู่อย่างนั้น ก้อนแล้วก้อนเล่า... ก็เป็นของสลาย ไม่คงที่ซักก้อน....
เมื่อชายคนนี้เห็นอยู่อย่างนี้เค้าควร จะมั่นหมาย ให้ก้อนน้ำแข็ง(ขันธ์5)ที่มันมีสภาพไม่เที่ยง ให้มันเที่ยงหรือไม่
การเห็นอยู่อย่างนี้ ชายคนนี้ย่อมเห็นความจริง...  ความจริง ที่ทำให้เบื่อหน่าย  พ้นจากการยึดถือ ว่ามันเป็น
ของเที่ยงแท้ ถาวร


...................
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่