Credit :
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=57114
ขอบคุณ คุณ Thai VI Article และ ดร.นิเวศน์ครับ
_____________________________________________
โลกในมุมมองของ Value Investor 26 มกราคม 57
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
Spiritual Freedom
Value Investor ผู้มุ่งมั่นเกือบทุกคนนั้น ผมเชื่อว่าต่างก็มีเป้าหมายใหญ่ในชีวิตอย่างหนึ่งนั่นก็คือ เขาต้องการที่จะมี “อิสรภาพทางการเงิน” หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่ามี “Financial Freedom” ความหมายก็คือ เป็นคนที่มีความมั่นคงทางการเงินสูง มีเงินและทรัพย์สินมากพอที่จะเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัวได้อย่างพอเพียงแม้ว่าจะไม่มีรายได้อื่นเลยตลอดชีวิต ซึ่งผมเองคิดว่าถ้าจะทำอย่างนั้นได้ เขาจะต้องมีทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น หุ้น พันธบัตร หรือเงินสด ที่มีคุณภาพดีอย่างน้อย 200 เท่าของรายจ่ายประจำเดือนโดยเฉลี่ยและเขารู้จักบริหารการลงทุนในระดับพื้นฐานที่จำเป็น อิสรภาพทางการเงินนี้จะทำให้เขาแทบจะไม่ต้องกังวลกับการทำงานหาเงินซึ่งจะทำให้เขาสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ที่เขาชอบหรืออยากที่จะทำโดยไม่ต้องคิดถึงผลตอบแทนทางการเงิน ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ทุกคน “ฝัน” ที่จะได้ไม่ใช่เฉพาะแต่ VI เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นนักลงทุนแบบ VI ที่ได้ผ่านจุดแห่งเสรีภาพทางการเงินมาแล้ว ผมคิดว่าการมีอิสรภาพทางการเงินเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้ชีวิตเราสมบูรณ์ได้ ว่าที่จริงอิสรภาพทางการเงินนั้นอาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดความเป็นอิสระของชีวิตมากนักด้วยซ้ำไปหาก “อิสรภาพทางใจ” หรือ “Spiritual Freedom” ของเรายังไม่มีหรือมีน้อยเกินไป
คำว่าอิสรภาพทางใจนั้นมีความหมายมากมายแล้วแต่ว่าใครจะนิยาม องค์กรหรือแนวความคิดที่พูดถึงเรื่องของ Spiritual Freedom มากที่สุดดูเหมือนว่าจะเป็นศาสนาต่าง ๆ ที่มักจะเน้นให้ผู้ที่นับถือประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เรา “หลุดพ้น” จากกิเลสหรือพันธะทางใจทั้งมวลเพื่อที่จะทำให้เกิดความสุข “ทางใจ” ที่มีความสำคัญและความหมายมากที่สุดในชีวิตของคนเรา แต่ “อิสรภาพทางใจ” ที่ผมจะพูดถึงนั้น จะเป็นไปในความหมายแบบคนธรรมดาหรือเป็นแนวปรัชญาอิงกับความคิดของ Victor Frankl ที่อธิบายว่า Spiritual Freedom นั้น เป็นเสรีภาพที่สูงและยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ที่จะเลือกทัศนะคติในชีวิตของตนเองภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหนที่เขาก็ยังสามารถเลือกที่จะคิดและเดินในแนวทางของตนเองที่คิดว่าดีและถูกต้อง ตัวอย่างที่นำมาซึ่งแนวความคิดดังกล่าวก็คือการที่คนยิวในค่ายกักกันของนาซีบางคนที่พยายามช่วยเหลือปลอบใจเพื่อนในขณะที่บางคนต้อง “ขายจิตวิญญาณ” เพื่อเอาตัวรอด หรืออย่างในกรณีของฉากการจมลงของเรือไททานิกที่เราเห็นในภาพยนต์ที่มีทั้งคนที่สงบช่วยเหลือปลอบใจคนอื่น ในขณะที่คนบางคนแสดง “ธาตุแท้” ที่เห็นแก่ตัวออกมา
ในการที่จะมี “อิสรภาพทางใจ” ได้นั้น เขาบอกว่า ถ้าเราไม่ตั้งใจกำหนดหรือตัดสินใจว่าเราจะเป็นคนอย่างไรและพยายามทำและปฏิบัติตามสิ่งที่เรากำหนดนั้นไว้ สภาวะแวดล้อมและประสบการณ์ของเราก็จะกลายเป็นตัวกำหนดทั้งตัวตนของเราและชะตากรรมของเราเองในท้ายที่สุด ในความหมายนี้ก็แปลว่า การที่เราจะมีอิสรภาพทางใจได้นั้น เราจะต้องศึกษาและหาความหมายต่าง ๆ ในชีวิตที่เราคิดว่าเหมาะสม เราไม่สามารถที่จะคิดโดย “อัตโนมัติ” ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราและสังคมเพราะเหตุว่าความคิดของเรานั้นอาจจะถูก “ครอบงำ” โดยสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบข้างมานานดังนั้นความคิดเราก็จะไม่อิสระที่จะคิดนอกกรอบนั้นออกไป ส่วนตัวผมเองก็รู้สึกว่าตั้งแต่เด็กก็ถูก “อบรมสั่งสอน” จากบุคคลต่าง ๆ มากมายรวมถึงหน่วยงานรัฐ ศาสนา และองค์กรต่าง ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่พบในสังคมเองก็ “หล่อหลอม” ให้คิดและปฏิบัติในสิ่งที่เป็นกรอบประเพณีอันดีและถูกต้องในสังคม ผมไม่เคยตั้งคำถามกับแนวคิดหรือสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ว่าที่จริงผมก็ไม่ควรคิดเพราะว่าถ้าเรายังต้องทำงานในองค์กรและมีตำแหน่งหน้าที่ในสังคม การ “ฝืน” แนวทางเหล่านั้นคงทำให้เส้นทางอาชีพหรือความก้าวหน้าในหน้าที่การงานมีปัญหา อย่างไรก็ตาม เมื่อผมมีอายุมากขึ้นและกลายเป็นนักลงทุนแบบ VI ผู้มุ่งมั่นและประสบความสำเร็จมีอิสรภาพทางการเงินที่ไม่ต้องพึ่งคนอื่น ผมก็เริ่มค้นหาความหมายของชีวิต
ความคิดของผมเริ่มเปลี่ยนไป ผมเริ่มมี “อิสรภาพทางใจ” มากขึ้น ไม่ใช่ในแบบของศาสนา ว่าที่จริงอาจจะมีบางสิ่งที่แย้งด้วยซ้ำ เพราะผมเริ่มที่จะคิดว่าเราอยากที่จะเป็น “เสรีชน” มากกว่าที่จะเป็นคนที่ยึดติดกับความคิดของสังคมที่มีกรอบมากมายที่หลายอย่างผมก็ไม่เห็นด้วยและรู้สึกค้านอยู่ในใจ อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่ใช่ “กบฏ” หรือนักปฏิวัติอะไร ผมแก่เกินที่จะไปทำแบบนั้น ผมเพียงแต่คิดว่าผมไม่ต้องการนับถือหรือเชื่ออะไรตามที่คนส่วนใหญ่ทำถ้าการศึกษาหรือมโนธรรมของผมพบว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมหรือถูกต้อง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะหรือเป็นอานิสงค์จากการที่ผมกลายเป็น VI ที่ได้รับอิสรภาพทางการเงินและเริ่มที่จะมองหา “อิสรภาพทางใจ” ที่มองอีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นสิ่ง “หรูหรา” ที่หลายคนไม่อาจจะแสวงหาได้ง่ายนักแม้ว่าเขาจะมีเงินมากยิ่งกว่า เหตุผลก็คือ ชีวิตและเงินทองของพวกเขายังต้องพึ่งพิงกับคนอื่น ๆ อีกมากในสังคมที่ไม่ยอมรับความเป็น “เสรีชน” ของเขา หรือที่เป็นไปได้มากกว่าก็คือ เขาเองอยู่กับ “สภาพแวดล้อม” ที่มีอิทธิพลสูงในการกำหนดชีวิตของเขา
ความเป็น “เสรีชน” ของผมนั้น แน่นอน เราก็ต้องมีสัญลักษณ์หรือสิ่งประทับใจที่ตรงหรือถูกจริตกับเรา หนึ่งในนั้นก็คือเพลงซึ่งในอดีตผมก็เพียงแต่รู้สึกว่ามันมีความไพเราะและเป็นเพลงยอดนิยม “อมตะ” แต่ก็ไม่มีความหมายใด ๆ แต่ยิ่งนานและในระยะหลัง ๆ ผมก็ “อิน” กับมันนั่นก็คือเพลง “Imagine” ของ จอห์น เลนนอน อดีตนักร้องของวง The Beetle ที่เป็นตำนานของวงดนตรีโลก เพลง Imagine นี้เกิดขึ้นในปี 1971 ในยุคของสงครามเวียตนามที่ทำให้เกิดกระบวนการประท้วงต่อต้านสงครามและต่อต้านสังคมของคนหนุ่มสาวที่เรียกว่าพวก “ฮิบปี้” ซึ่งต่างก็ “แหกกฎ” ของสังคมโดยการไว้ผมยาว แต่งตัวไม่เรียบร้อย รวมถึงการประพฤติตนในแบบที่ไม่เป็นที่ยอมรับของธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม
เนื้อหาของเพลงนั้นเรียบง่ายมากแต่มีพลังสูง ผมคงไม่แสดงเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษแต่นำคำแปลมาให้อ่านดังนี้คือ : ลองจินตนาการสิว่าโลกนี้ไม่มีสวรรค์ มันง่ายถ้าคุณจะลอง ไม่มีนรกอยู่ใต้ฝ่าเท้าเรา เหนือหัวเราก็มีแต่ท้องฟ้า ลองจินตนาการว่าทุกคนต่างก็อยู่เพื่อวันนี้ ลองจินตนาการว่าโลกนี้ไม่มีประเทศ มันไม่ยากหรอกถ้าจะทำ ไม่มีอะไรที่จะต้องฆ่าหรือต้องตายแทน และก็ไม่มีศาสนาด้วย ลองจินตนาการว่าคนทุกคนต่างก็ใช้ชีวิตอย่างสงบ คุณคงบอกว่าผมเป็นนักฝันแต่ผมก็ไม่ใช่คนเดียวที่คิดเช่นนั้น ผมหวังว่าวันหนึ่งคุณจะร่วมฝันกับเรา และวันนั้นโลกทั้งโลกก็จะเป็นหนึ่งเดียว ลองจินตนาการว่าไม่มีการครอบครองอะไรทั้งสิ้น ผมไม่รู้ว่าคุณจะทำได้ไหม ไม่มีความจำเป็นต้องมีความโลภหรือความหิวโหย เราทุกคนจะเป็นเหมือนดั่งพี่น้องร่วมโลก ลองจินตนาการดูสิว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนทุกคนแบ่งปันโลกนี้อย่างเท่าเทียมกัน
ผมไม่รู้ว่า VI ผู้มุ่งมั่นและมีอิสรภาพทางการเงินแล้วนั้น ส่วนใหญ่มีอิสรภาพทางใจมากน้อยแค่ไหนและแนวความคิดของพวกเขาไปในทางไหน แม้แต่ตัวผมเองก็ยังไม่รู้ว่าตนเองนั้นมีจิตใจที่ “เสรี” และเป็น “เสรีชน” มากน้อยแค่ไหน ผมรู้เพียงแต่ว่าการเป็น VI ที่มุ่งมั่นคงมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้แนวคิดของผมเปลี่ยนแปลงไปและกลายเป็น “เสรีชน” มากขึ้น ผมเองไม่มั่นใจว่าการเป็นเสรีชนทำให้ผมมีความสุขมากขึ้นหรือไม่ ผมรู้เพียงแต่ว่าผมไม่สามารถที่จะกลับไปเป็นอย่างเดิมที่อยู่ในกรอบของขนบธรรมเนียมที่ผมพยายาม “หนี” ออกมาได้
Spiritual Freedom/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ขอบคุณ คุณ Thai VI Article และ ดร.นิเวศน์ครับ
_____________________________________________
โลกในมุมมองของ Value Investor 26 มกราคม 57
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
Spiritual Freedom
Value Investor ผู้มุ่งมั่นเกือบทุกคนนั้น ผมเชื่อว่าต่างก็มีเป้าหมายใหญ่ในชีวิตอย่างหนึ่งนั่นก็คือ เขาต้องการที่จะมี “อิสรภาพทางการเงิน” หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่ามี “Financial Freedom” ความหมายก็คือ เป็นคนที่มีความมั่นคงทางการเงินสูง มีเงินและทรัพย์สินมากพอที่จะเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัวได้อย่างพอเพียงแม้ว่าจะไม่มีรายได้อื่นเลยตลอดชีวิต ซึ่งผมเองคิดว่าถ้าจะทำอย่างนั้นได้ เขาจะต้องมีทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น หุ้น พันธบัตร หรือเงินสด ที่มีคุณภาพดีอย่างน้อย 200 เท่าของรายจ่ายประจำเดือนโดยเฉลี่ยและเขารู้จักบริหารการลงทุนในระดับพื้นฐานที่จำเป็น อิสรภาพทางการเงินนี้จะทำให้เขาแทบจะไม่ต้องกังวลกับการทำงานหาเงินซึ่งจะทำให้เขาสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ที่เขาชอบหรืออยากที่จะทำโดยไม่ต้องคิดถึงผลตอบแทนทางการเงิน ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ทุกคน “ฝัน” ที่จะได้ไม่ใช่เฉพาะแต่ VI เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นนักลงทุนแบบ VI ที่ได้ผ่านจุดแห่งเสรีภาพทางการเงินมาแล้ว ผมคิดว่าการมีอิสรภาพทางการเงินเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้ชีวิตเราสมบูรณ์ได้ ว่าที่จริงอิสรภาพทางการเงินนั้นอาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดความเป็นอิสระของชีวิตมากนักด้วยซ้ำไปหาก “อิสรภาพทางใจ” หรือ “Spiritual Freedom” ของเรายังไม่มีหรือมีน้อยเกินไป
คำว่าอิสรภาพทางใจนั้นมีความหมายมากมายแล้วแต่ว่าใครจะนิยาม องค์กรหรือแนวความคิดที่พูดถึงเรื่องของ Spiritual Freedom มากที่สุดดูเหมือนว่าจะเป็นศาสนาต่าง ๆ ที่มักจะเน้นให้ผู้ที่นับถือประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เรา “หลุดพ้น” จากกิเลสหรือพันธะทางใจทั้งมวลเพื่อที่จะทำให้เกิดความสุข “ทางใจ” ที่มีความสำคัญและความหมายมากที่สุดในชีวิตของคนเรา แต่ “อิสรภาพทางใจ” ที่ผมจะพูดถึงนั้น จะเป็นไปในความหมายแบบคนธรรมดาหรือเป็นแนวปรัชญาอิงกับความคิดของ Victor Frankl ที่อธิบายว่า Spiritual Freedom นั้น เป็นเสรีภาพที่สูงและยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ที่จะเลือกทัศนะคติในชีวิตของตนเองภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหนที่เขาก็ยังสามารถเลือกที่จะคิดและเดินในแนวทางของตนเองที่คิดว่าดีและถูกต้อง ตัวอย่างที่นำมาซึ่งแนวความคิดดังกล่าวก็คือการที่คนยิวในค่ายกักกันของนาซีบางคนที่พยายามช่วยเหลือปลอบใจเพื่อนในขณะที่บางคนต้อง “ขายจิตวิญญาณ” เพื่อเอาตัวรอด หรืออย่างในกรณีของฉากการจมลงของเรือไททานิกที่เราเห็นในภาพยนต์ที่มีทั้งคนที่สงบช่วยเหลือปลอบใจคนอื่น ในขณะที่คนบางคนแสดง “ธาตุแท้” ที่เห็นแก่ตัวออกมา
ในการที่จะมี “อิสรภาพทางใจ” ได้นั้น เขาบอกว่า ถ้าเราไม่ตั้งใจกำหนดหรือตัดสินใจว่าเราจะเป็นคนอย่างไรและพยายามทำและปฏิบัติตามสิ่งที่เรากำหนดนั้นไว้ สภาวะแวดล้อมและประสบการณ์ของเราก็จะกลายเป็นตัวกำหนดทั้งตัวตนของเราและชะตากรรมของเราเองในท้ายที่สุด ในความหมายนี้ก็แปลว่า การที่เราจะมีอิสรภาพทางใจได้นั้น เราจะต้องศึกษาและหาความหมายต่าง ๆ ในชีวิตที่เราคิดว่าเหมาะสม เราไม่สามารถที่จะคิดโดย “อัตโนมัติ” ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราและสังคมเพราะเหตุว่าความคิดของเรานั้นอาจจะถูก “ครอบงำ” โดยสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบข้างมานานดังนั้นความคิดเราก็จะไม่อิสระที่จะคิดนอกกรอบนั้นออกไป ส่วนตัวผมเองก็รู้สึกว่าตั้งแต่เด็กก็ถูก “อบรมสั่งสอน” จากบุคคลต่าง ๆ มากมายรวมถึงหน่วยงานรัฐ ศาสนา และองค์กรต่าง ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่พบในสังคมเองก็ “หล่อหลอม” ให้คิดและปฏิบัติในสิ่งที่เป็นกรอบประเพณีอันดีและถูกต้องในสังคม ผมไม่เคยตั้งคำถามกับแนวคิดหรือสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ว่าที่จริงผมก็ไม่ควรคิดเพราะว่าถ้าเรายังต้องทำงานในองค์กรและมีตำแหน่งหน้าที่ในสังคม การ “ฝืน” แนวทางเหล่านั้นคงทำให้เส้นทางอาชีพหรือความก้าวหน้าในหน้าที่การงานมีปัญหา อย่างไรก็ตาม เมื่อผมมีอายุมากขึ้นและกลายเป็นนักลงทุนแบบ VI ผู้มุ่งมั่นและประสบความสำเร็จมีอิสรภาพทางการเงินที่ไม่ต้องพึ่งคนอื่น ผมก็เริ่มค้นหาความหมายของชีวิต
ความคิดของผมเริ่มเปลี่ยนไป ผมเริ่มมี “อิสรภาพทางใจ” มากขึ้น ไม่ใช่ในแบบของศาสนา ว่าที่จริงอาจจะมีบางสิ่งที่แย้งด้วยซ้ำ เพราะผมเริ่มที่จะคิดว่าเราอยากที่จะเป็น “เสรีชน” มากกว่าที่จะเป็นคนที่ยึดติดกับความคิดของสังคมที่มีกรอบมากมายที่หลายอย่างผมก็ไม่เห็นด้วยและรู้สึกค้านอยู่ในใจ อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่ใช่ “กบฏ” หรือนักปฏิวัติอะไร ผมแก่เกินที่จะไปทำแบบนั้น ผมเพียงแต่คิดว่าผมไม่ต้องการนับถือหรือเชื่ออะไรตามที่คนส่วนใหญ่ทำถ้าการศึกษาหรือมโนธรรมของผมพบว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมหรือถูกต้อง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะหรือเป็นอานิสงค์จากการที่ผมกลายเป็น VI ที่ได้รับอิสรภาพทางการเงินและเริ่มที่จะมองหา “อิสรภาพทางใจ” ที่มองอีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นสิ่ง “หรูหรา” ที่หลายคนไม่อาจจะแสวงหาได้ง่ายนักแม้ว่าเขาจะมีเงินมากยิ่งกว่า เหตุผลก็คือ ชีวิตและเงินทองของพวกเขายังต้องพึ่งพิงกับคนอื่น ๆ อีกมากในสังคมที่ไม่ยอมรับความเป็น “เสรีชน” ของเขา หรือที่เป็นไปได้มากกว่าก็คือ เขาเองอยู่กับ “สภาพแวดล้อม” ที่มีอิทธิพลสูงในการกำหนดชีวิตของเขา
ความเป็น “เสรีชน” ของผมนั้น แน่นอน เราก็ต้องมีสัญลักษณ์หรือสิ่งประทับใจที่ตรงหรือถูกจริตกับเรา หนึ่งในนั้นก็คือเพลงซึ่งในอดีตผมก็เพียงแต่รู้สึกว่ามันมีความไพเราะและเป็นเพลงยอดนิยม “อมตะ” แต่ก็ไม่มีความหมายใด ๆ แต่ยิ่งนานและในระยะหลัง ๆ ผมก็ “อิน” กับมันนั่นก็คือเพลง “Imagine” ของ จอห์น เลนนอน อดีตนักร้องของวง The Beetle ที่เป็นตำนานของวงดนตรีโลก เพลง Imagine นี้เกิดขึ้นในปี 1971 ในยุคของสงครามเวียตนามที่ทำให้เกิดกระบวนการประท้วงต่อต้านสงครามและต่อต้านสังคมของคนหนุ่มสาวที่เรียกว่าพวก “ฮิบปี้” ซึ่งต่างก็ “แหกกฎ” ของสังคมโดยการไว้ผมยาว แต่งตัวไม่เรียบร้อย รวมถึงการประพฤติตนในแบบที่ไม่เป็นที่ยอมรับของธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม
เนื้อหาของเพลงนั้นเรียบง่ายมากแต่มีพลังสูง ผมคงไม่แสดงเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษแต่นำคำแปลมาให้อ่านดังนี้คือ : ลองจินตนาการสิว่าโลกนี้ไม่มีสวรรค์ มันง่ายถ้าคุณจะลอง ไม่มีนรกอยู่ใต้ฝ่าเท้าเรา เหนือหัวเราก็มีแต่ท้องฟ้า ลองจินตนาการว่าทุกคนต่างก็อยู่เพื่อวันนี้ ลองจินตนาการว่าโลกนี้ไม่มีประเทศ มันไม่ยากหรอกถ้าจะทำ ไม่มีอะไรที่จะต้องฆ่าหรือต้องตายแทน และก็ไม่มีศาสนาด้วย ลองจินตนาการว่าคนทุกคนต่างก็ใช้ชีวิตอย่างสงบ คุณคงบอกว่าผมเป็นนักฝันแต่ผมก็ไม่ใช่คนเดียวที่คิดเช่นนั้น ผมหวังว่าวันหนึ่งคุณจะร่วมฝันกับเรา และวันนั้นโลกทั้งโลกก็จะเป็นหนึ่งเดียว ลองจินตนาการว่าไม่มีการครอบครองอะไรทั้งสิ้น ผมไม่รู้ว่าคุณจะทำได้ไหม ไม่มีความจำเป็นต้องมีความโลภหรือความหิวโหย เราทุกคนจะเป็นเหมือนดั่งพี่น้องร่วมโลก ลองจินตนาการดูสิว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนทุกคนแบ่งปันโลกนี้อย่างเท่าเทียมกัน
ผมไม่รู้ว่า VI ผู้มุ่งมั่นและมีอิสรภาพทางการเงินแล้วนั้น ส่วนใหญ่มีอิสรภาพทางใจมากน้อยแค่ไหนและแนวความคิดของพวกเขาไปในทางไหน แม้แต่ตัวผมเองก็ยังไม่รู้ว่าตนเองนั้นมีจิตใจที่ “เสรี” และเป็น “เสรีชน” มากน้อยแค่ไหน ผมรู้เพียงแต่ว่าการเป็น VI ที่มุ่งมั่นคงมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้แนวคิดของผมเปลี่ยนแปลงไปและกลายเป็น “เสรีชน” มากขึ้น ผมเองไม่มั่นใจว่าการเป็นเสรีชนทำให้ผมมีความสุขมากขึ้นหรือไม่ ผมรู้เพียงแต่ว่าผมไม่สามารถที่จะกลับไปเป็นอย่างเดิมที่อยู่ในกรอบของขนบธรรมเนียมที่ผมพยายาม “หนี” ออกมาได้