ความแตกต่าง "ชาติพันธุ์" - "ชนพื้นเมือง"

ความแตกต่าง "ชาติพันธุ์" - "ชนพื้นเมือง"

คำว่า “ชาติพันธุ์” กับ “ชนพื้นเมือง” นั้น เป็นคำที่มักจะถูกนำมาใช้สลับกัน แต่มีนิยามที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
โดยคำว่า “ชาติพันธุ์ (Ethnicity หรือ Ethnic Group)” หมายถึงกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์, ภาษา,วัฒนธรรม, เชื้อสาย, ประเพณี, สังคม, ศาสนา และแนวทางปฏิบัติทางสังคมร่วมกัน
ในขณะที่ “ชนพื้นเมือง (Indigenous Peoples)” หมายถึงกลุ่มบุคคลที่มีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์กับดินแดนที่ตนอาศัยอยู่ มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ที่อาจจะถูกกดขี่และถูกเลือกปฎิบัติภายใต้รูปแบบวัฒนธรรมอื่นที่เข้ามาครอบงำ

ยกตัวอย่างเช่น 9 ชนพื้นเมืองในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วย
1. ชนเผ่ากะเหรี่ยง
2. ชนเผ่าลาหู่ หรือมูเซอ
3. ชนเผ่าลีซู หรือ ลีซอ
4. ชนเผ่าอาข่า
5. ชนเผ่ามลาบรี หรือชาวมละ
6. ชนเผ่าไทลื้อ
7. ชนเผ่ามอแกน
8. ชนเผ่าม้ง
9. ชนเผ่ามานิ (ซาไก)

ซึ่งคนกลุ่มนี้นั้น มีถิ่นอาศัยในประเทศไทย ร่วมกับคนไทยซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศมาช้านานแล้ว และคนกลุ่มนี้นั้น มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไปตามภูมิภาคและถิ่นที่อยู่ และมีความแตกต่างจากคนไทย
ส่วนใหญ่ยังคงอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมที่มีความผูกพันกับธรรมชาติ และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของพวกเขาเอาไว้ได้อย่างลึกซึ้ง
ในอดีตนั้น คนกลุ่มนี้นั้นได้รับการเลือกปฎิบัติจากรัฐ แต่ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเสด็จออกเยี่ยมเยียนราษฎร์ และทรงดำเนินโครงการพระราชทานความช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้
ทำให้ในปัจจุบัน คนกลุ่มนี้หลายกลุ่มสามารถปรับตัวให้เข้ากับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก ผ่านการเข้าถึงโอกาส และเทคโนโลยีที่ภาครัฐให้การสนับสนุนส่งเสริม

บางกลุ่มเช่น เผ่าลาหู่ บนดอยปู่หมื่น ใน อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ ที่เคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในการส่งเสริมวิชาชีพจนพวกเขาสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ และต่อยอดจนสามารถอาศัยอัตลักษณ์เฉพาะพวกเขาในการทำธุรกิจการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ จนเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

สำหรับคนจากกลุ่มชาติพันธุ์-ชนพื้นเมืองในประเทศไทยที่มีชื่อเสียงนั้น ก็มีตัวอย่างเช่น ริชชี่- อรเณศ ดีคาบาเลส นักแสดงที่มีชื่อเสียงจากผลงานภาพยนตร์อย่างคู่กรรม, กรงกรรม, ซ่อนเงารัก, ขอเกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ, พระจันทร์แดง และสิเน่หาส่าหรี นั้นก็มีเชื้อสายชาติพันธุ์ลาหู่

และพรรณรัตน์ จงอมรรัตน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนจุดผ่อนปรนชายแดนบ้านห้วยผึ้ง จ. แม่ฮ่องสอน ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในปี 2567 ที่ผ่านมา และได้รับเลือกให้เป็นตัวสำรองในกลุ่มสตรีนั้น ก็มีเชื้อสาย “กะแย” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่คนไทยเรามักจะเรียกว่ากะเหรี่ยงแดง
อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มคนเหล่านี้อีกหลายกลุ่ม ที่ยังขาดโอกาส รอรับการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐและสังคมไทยอยู่อีกมาก

https://www.facebook.com/share/p/15m5XgQaes/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่