‘แบงก์-ค่ายมือถือ’ สะดุ้ง 7 ม.ค. ดีอีชง ครม. ต้องร่วมจ่ายเหยื่อแก๊งคอลฯ ‘พิชัย’ กางแผน พณ. เชิงรุกปี 68

เมื่อวันที่ 4 มกราคม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดีอีเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก 7 มกราคม 2568 ขออนุมัติเห็นชอบการแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อยกระดับการจัดการปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นการเร่งคืนเงินให้ผู้เสียหาย กรณีอายัดบัญชีม้า พร้อมเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลจากเดิมจำคุก 1 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้บังคับใช้ภายในเดือนมกราคมนี้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเพิ่มความรับผิดชอบของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ หากละเลยหรือไม่ดูแลระบบที่เอื้อต่อการหลอกลวงออนไลน์ รวมถึงมาตรการป้องกันการโอนเงินผิดกฎหมายผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล

นายประเสริฐ กล่าวว่า ซึ่งในส่วนของบัญชีม้านิติบุคคล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้เริ่มบังคับใช้มาตรการคุมเข้มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 โดยเชื่อมโยงข้อมูลรายชื่อบุคคลเสี่ยงฟอกเงิน (HR-03) กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หากพบว่าผู้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลมีชื่ออยู่ในระบบ จะชะลอการจดทะเบียนและเรียกมาแสดงตนพร้อมหลักฐาน หากไม่ดำเนินการจะปฏิเสธการจดทะเบียนทันที นอกจากนี้ กระทรวงดีอียังหารือร่วมกับ กสทช. เกี่ยวกับการควบคุมการจำหน่ายซิมการ์ดและระบบลงทะเบียนยืนยันตัวตนด้วย

ขณะที่ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2568 นี้ กระทรวงพาณิชย์(พณ.)ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลโดยการนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ขยายโอกาส อย่างต่อเนื่อง โดยจะมุ่งเน้น เป้าหมายให้เศรษฐกิจการค้าไทยเข้มแข็ง เป็นธรรม เติบโตอย่างยั่งยืน (eMpower and Optimise Commerce plus Sustainable Growth: MOC+) ซึ่งกำหนดให้เป็น Motto ใหม่ของ พณ.

นายพิชัยกล่าวว่า พณ.ยุคใหม่จะเน้นหลักการทำงาน 80 : 20 คือ 80%มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการและเกษตรกร และอีก 20% เน้นการกำกับดูแลเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้า สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs จะเน้นการปลดล็อกหรือปรับลดกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ และเสริมแกร่งโดยเสริมช่องทางการตลาดและเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยการสร้าง Brand เสริมด้วย Soft Power ที่โดดเด่นของไทย ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สร้าง Thailand Brand ให้เป็นเครื่องหมายการันตี

คุณภาพสินค้าไทย สำหรับสินค้า SMEs ที่ยังไม่สามารถพัฒนา Brand เป็นของตัวเองได้ นอกจากนี้ในส่วนของร้านอาหารไทยกระทรวงพาณิชย์เตรียมปรับโฉม Thai Select ให้สามารถใช้เป็นเครื่องหมายแสดงถึงคุณภาพแก่ร้านอาหารไทยทั้งในและต่างประเทศ ด้านการสร้างความเป็นธรรม เน้นการกำกับดูแลให้ผู้บริโภคและเกษตรกรได้รับความเป็นธรรมด้านราคาและปริมาณสินค้า และการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของ พณ.จะมีการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อปกป้องผู้ประกอบการจากการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมและปกป้องผู้บริโภคคนไทยจากการที่จะต้องใช้สินค้าด้อยคุณภาพด้วย... 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/politics/news_4984730
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่