เรื่องพรบ. เงินกู้ 2 ล้าน ล้านบาท ตกลงเป็นตามนีจริงหรอครับ งง

ด้านล่างเป็นการแสดงความคิดของ guideubon
เรื่อง พรบ. รัฐบาลไม่ระบุชัดเจนเรื่องเงินที่กู้มา กู้แล้วไม่เข้าคลังทำให้ตรวจสอบไม่ได้ ฝ่ายค้านไม่ยอมเลยไปฟ้องศาล...

งานเข้าแล้วครับ เมื่อถูกลูกถามว่า "ทำไมศาลถึงมีอำนาจสั่งห้ามสร้างรถไฟความเร็วสูงได้" ผมถามลูกว่าไปรู้มาจากไหน เค้าตอบว่า เห็นจากในเฟซบุ้คที่เค้าแชร์กัน

คำตอบข้างบนนี้ ทำให้ผมเข้าใจอะไรหลายๆ เรื่อง ผมไม่แปลกใจ เพราะผมก็เห็นทั้งข้อความและภาพนั้นเช่นกัน บางทีก็เห็นคนเล่าประสบการณ์การนั่งรถไฟความเร็วสูงมาแล้ว บ้างก็เลยเถิดขนาดทำภาพกราฟฟิคเส้นทางรถไฟความเร็วสูงวิ่งรอบประเทศไทย แต่ไม่ผ่านประเทศไทย บางคนก็ประชดขนาด ไม่มีรถไฟความเร็วสูง คนไทยก็ต้องนั่งเกวียนกันล่ะ

ผมไม่อยากให้ลูกเลือกข้าง อยากให้เค้าได้รับข้อมูลทั้งสองด้าน หรือหลายๆ ด้าน จึงเลี่ยงที่จะตอบว่า ศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามสร้างรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ guideubon บอกลูกเรื่อง พรบ. ที่ ฝ่ายค้านไม่พอใจเพราะ รัฐบาลไม่เอาระบุเรื่องเงินที่กู้จะไม่เจข้าคลัง เลยกลัวทำให้ตรวจสอบไม่ได้ จึงไปฟ้องศาล

แต่เลือกที่จะอธิบายหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และทำไมเรื่องรถไฟความเร็วสูงถึงต้องไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ยาวหน่อยนะครับ แต่มันจำเป็นที่จะต้องเข้าใจหลักการ แล้วถึงจะเข้าใจว่าปลายทางทำไมเป็นอย่างที่ลูกเห็น

ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีการถ่วงดุลอำนาจกัน 3 ฝ่ายคือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ฝ่ายบริหารก็มีหน้าที่ปกครองประเทศตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ฝ่ายนิติบัญญัติก็ทำหน้าที่พิจารณาโครงการต่างๆ ที่ฝ่ายบริหารเสนอ และคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลหรือฝ่ายบริหาร ส่วนตุลาการทำหน้าที่ตัดสินคดีความข้อพิพาทต่างๆ ซึ่งระยะหลังมีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการแยกคดีทางการเมืองออกมาต่างหากจากคดีแพ่งคดีอาญาทั่วไป ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรอิสระ และสามารถพิจารณาคดีทางการเมืองที่มีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญได้รวดเร็ว

ทีนี้มาถึงเรื่องที่เราสงสัยกัน ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจอะไรไปห้ามสร้างรถไฟความเร็วสูง ตอบได้เลยว่า ไม่มีอำนาจครับ จะสร้างไม่สร้างเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

ตามหลักแล้ว ฝ่ายบริหารจะตั้งงบประมาณการบริหารประเทศ แล้วฝ่ายนิติบัญญัติก็จะตรวจสอบ พิจารณารายละเอียดของโครงการต่างๆ หากงบประมาณผ่านสภาฯ รัฐบาลก็ใช้เงินผ่านกระทรวงการคลัง บางโครงการต้องใช้เงินเยอะ งบประมาณใน 1 ปี อาจไม่เพียงพอ ก็อาจจะเขียนโครงการตั้งงบผูกพันโครงการไว้หลายปีจนแล้วเสร็จ

เรื่องรถไฟความเร็วสูง ถ้ารัฐบาลเขียนโครงการใส่ในงบประมาณ ก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร ศาลรัฐธรรมนูญก็ไปยุ่งไม่ได้ แต่คราวนี้รัฐบาลตั้งเป็นโครงการพัฒนาระบบคมนาคมฯ (ประมาณนี้) ต้องใช้เงินทั้งโครงการ 2 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลใช้วิธีออก พ.ร.บ.เงินกู้สองล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาก็มีรัฐบาลที่ออก พ.ร.บ.เงินกู้ อยู่และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่เคยเข้าไปยุ่ง

"แล้วคราวนี้ ทำไมศาลรัฐธรรมนูญถึงสั่งห้ามสร้างรถไฟความเร็วสูง บอกให้ทำถนนลูกรังให้หมดประเทศซะก่อน" ลูกถามแย้งขึ้นมา อยากได้คำตอบแบบรวดรัด

ก็เพราะปกติเงินกู้ที่กู้มา ต้องเอาเข้าคลังแล้วรัฐบาลค่อยเบิกจ่ายตามระเบียบการคลังของประเทศยังไง แต่ใน พ.ร.บ.เงินกู้ฯ นี้ ระบุให้ไม่ต้องเอาเงินกู้นี้เข้าคลัง เพราะเกรงว่าระเบียบการเบิกจ่ายจะทำให้โครงการต่างๆ ล่าช้าออกไป ฝ่ายค้านก็เกรงว่า ถ้าเงินกู้นี้ไม่เข้าคลัง การตรวจสอบการใช้เงินก็เป็นไปได้ยาก แถมรายละเอียดโครงการก็ไม่ชัดเจน ซ้ำกว่านั้นผลวิจัยฯ ยังบอกว่า เงินที่กู้มาเราก็ต้องชดใช้พร้อมดอกเบี้ยซึ่งหากไม่อยากให้กระทบสถานะความมั่นคงทางการคลัง จะต้องใช้เวลาใช้หนี้ถึง 50 ปี

ประเด็นที่เข้าไปถึงศาลรัฐธรรมนูญคือ เงินกู้ที่กู้มา รัฐบาลจะไม่เอาเข้าคลัง ฝ่ายค้านเห็นว่าน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ทีนี้ศาลรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้น เป็นระบบไต่สวน (ที่เราเห็นในศาลอาญาและศาลแพ่ง เป็นระบบกล่าวหา ผู้ใดกล่าวหาผู้อื่นต้องหาหลักฐานและพยานมาพิสูจน์ต่อศาล) ซึ่งระบบไต่สวนนี้ ศาลมีอำนาจซักถาม เรียกพยานต่างๆ มาสอบถามได้ โดยมากศาลก็จะเรียกผู้ร้องและผู้ถูกร้องมาไต่สวน และเรียกผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ มาไต่สวนเพิ่มเติม

เรื่อง พรบ.เงินกู้สองล้านล้าน ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลยังไม่ได้ตัดสิน ยังมีการนัดผู้เชี่ยวชาญมาไต่สวนเพิ่มเติม และประโยคที่ศาลซักถามคุณชัชชาติ รมต.คมนาคม ก็ไม่ใช่คำตัดสิน

สรุป ศาลไม่ได้ใช้อำนาจเกินขอบเขตขนาดว่าจะไปห้ามสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่เพราะรัฐบาลไม่เอาโครงการเข้าในระบบงบปีประมาณปกติ แถมออก พรบ.เงินกู้สองล้านล้าน ก็จะไม่เอาเข้าคลัง ฝ่ายค้านเห็นว่าน่าจัขัดรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงเข้ามาเกี่ยวด้วย

ถ้ารัฐบาลเอาโครงการรถไฟความเร็วสูงเข้าระบบปีงบประมาณปกติ ศาลไหนๆ ก็ยุ่งไม่ได้ หรือถ้า ออก พรบ.เงินกู้ โดยเอาเงินเข้าคลัง ศาลก็จะเข้าไปยุ่งไม่ได้

ที่สำคัญ พรบ.เงินเงินกู้ 3.5 แสนล้านแก้ปัญหาน้ำท่วม ศาลรัฐธรรมนูญก็ตีความว่า เป็นอำนาจของรัฐบาล และยกคำร้องของฝ่ายค้านไปแล้ว ทำไมไม่มีใครว่าศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง ปชป. ที่เป็นผู้ยื่นคำร้อง ก็เคารพในคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

เหนื่อย.... กว่าจะอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า สังคมนี้มันโหดร้าย เลือกนำเสนอเฉพาะที่เข้าข้างตัวเอง ขนาดในเรื่องเดียวกัน ก็ยังคัดเฉพาะที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง คนธรรมดาโพสไปเรื่อย แชร์ไปเรื่อยยังไม่เท่าไหร่ สื่อมวลชนที่มีข้อมูลรอบด้าน แต่เลือกที่นำเสนอนี่สิ น่ากลัว

cr. https://www.facebook.com/guideubon
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่