“ประเทศที่ริบถ้อยคำผู้คน”

เห็นมีกระแสอุ้มกระทู้เยอะ ก็ขอเอาบทความเก่าของคุณ บุญชิต ฟักมี มาให้อ่านกันเพื่อย้ำเตือนว่า อะไรเป็นปัญหากันแน่ ภาษา กฏหมาย หรือตัวคน
--------------------------------------------------------------------------------

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว, นานก่อนที่ตำราประวัติศาสตร์เล่มใดจะบันทึกทัน ยังมีประเทศน้อยๆ ประเทศหนึ่ง หลบซ่อนอยู่ในเทือกผาแห่งทวีปอันยังมิได้ขนานนาม ประเทศเล็กๆ ของบรรดาพลเมืองที่เลี้ยงชีพด้วยการปลูกผักปลูกหญ้า หาปลางมหอย ฝากชีวิตไว้กับเหล่าผู้ทรงคุณปัญญา ที่เรียกว่า “ปราชญ์” อันเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ แต่ก็เป็นคนกลุ่มผู้ทรงด้วยภูมิปัญญามหาศาล หยั่งรู้หมดทั้งวิทยา ปรัชญา และศีลธรรมตลอดจนรัฐวิชาว่าด้วยการปกครอง พลเมืองผู้ด้อยปัญญาไม่เคยตั้งคำถาม ต่อเหล่าปราชญ์เพราะเจียมตนว่าโง่เง่าไม่เข้าถึงพุทธิปัญญาดังบรรดาปราชญ์นั้น เลยให้อำนาจบรรดาปราชญ์ทั้งหลาย สรรหาตัวแทนกันมาเป็นปราชญบดีปกครองประเทศนั้น เวียนกันไปตามแต่ปราชญานุปราชญ์จะเห็นสมควร ส่วนปราชญ์ชั้นรองๆ ก็ทำหน้าที่เป็นข้ารัฐการ เมื่อประเทศใหญ่ขึ้น ปัญหาก็เริ่มมากขึ้น ปัญหาเริ่มมาจากชาวเมืองที่อยู่ไม่สุข ชอบตั้งคำถามว่า ทำไมคนจะเป็นข้ารัฐการได้ต้องเป็นลูกหลานของปราชญ์เท่านั้น ทำไมที่ดินสวยๆ มีภูมิทัศน์งามๆ ถึงถูกปราชญ์จับจองได้ แม้จะมีพลเมืองจับจองทำไร่ไถนาอยู่แล้วก็ตาม ทำไมชาวปราชญ์ทำผิด ถึงลงโทษน้อยกว่าหรือไม่ต้องรับผิด ต่างจากพลเมืองกระทำความผิดอย่างเดียวกัน หรือไยปราชญบดีจึงมีฐานะร่ำรวยมั่งคั่งไปด้วยสฤงคาร ท่ามกลางพลเมืองยากจนเก็บผักกินหญ้า การวิพากษ์วิจารณ์ สอดแทรกซุบซิบ อยุ่ในทุกวงสนทนาในประเทศ มีการเขียนการพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ ตั้งคำถามหลายอย่าง ที่ปราชญ์ไม่อาจจะตอบ เพราะไม่คิดว่าจะมีคนถาม จนกระทั่ง ปราชญบดีทนไม่ได้ ต้องประชุมปราชญ์สภา เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียม และความไม่เป็นธรรมดังกล่าว ด้วยการตรากฎหมาย ห้ามมิให้ผู้คนพูดถึง “ความไม่เท่าเทียม” เนื่องจาก มันจะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและการอยู่ร่วมกัน กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ลบถ้อยคำดังต่อไปนี้ - “เท่าเทียม” “เสมอภาค” “เลือกปฏิบัติ” “ไม่เป็นธรรม” และคำที่มีความหมายใกล้เคียงนั้นออกไป ผู้ที่บังอาจพูด เขียน หรือแสดงข้อความดังกล่าว ต้องโทษหนักบ้าง เบาบ้าง ตามน้ำหนักคำและจำนวนคำ เท่านี้ประเทศก็ปลอดจากปัญหาความไม่เท่าเทียมชั่วกาลนาน พลเมืองในรัฐจำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง ในแทบทุกวงสนทนา ชาวบ้านชาวเมืองต่างก่นด่าบรรดาปราชญ์และปราชญบดีเป็นทรราช โดยทุกคนถือบัญชีถ้อยคำต้องห้ามไว้ในมือ ท่องอ่านอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เป็นการพลาดพลั้งกระทำผิดกฎหมาย ปราชญบดีจึงออกกฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยออกมาอีกฉบับ ว่าด้วยการห้ามส่อเสียดใส่ร้ายปราชญบดีและชาวปราชญ์ มันผู้ใดกระทำ มีโทษจำคุกตลอดชีวิต รวมทั้งกำหนดให้คำว่า “ทรราช” และคำในกลุ่ม “กดขึ่” “ข่มเหง” “เผด็จการ” ฯลฯ นั้น เป็นโมฆะวจีต้องห้ามมิให้ผู้ใดพูด ประเทศนั้นก็ไม่มีทรราช และปราศไร้ซึ่งการกดขี่บีฑาตลอดกาล เพราะไม่มีถ้อยคำเหล่านั้นเหลือหลงอยู่ในพจนานุกรมอีกแล้ว ... ชาวเมืองทั้งหลายไม่มีใครกล่าวร้ายปราชญบดีอีก มีแต่พูดถึง “อ้ายคนพวกนั้น...” ในที่สุด คำว่า “อ้ายคนพวกนั้น...” ก็อยู่ในบัญชีถ้อยคำต้องห้าม ไม่มีใครกล่าวคำนั้นอีก ทว่าหลังจากนั้น ประชาชนทุกคนก่นด่าต้นมะม่วง เพียงใครคนหนึ่งพูดคำว่า“ต้นมะม่วง” คนที่เหลือจะกล่าวว่า “ใช่” !!! แล้วเสียงกู่ร้องคำว่าต้นมะม่วง ก็ทอดยาวต่อกันไป ปราชญบดีออกคำสั่งถอนคำว่าต้นมะม่วงออกจากพจนานุกรมภาษาของประเทศอีกครั้ง ตามด้วย “ต้นส้ม” “ต้นเชอร์รี่” “ต้นกัลปพฤกษ์” “ต้นชมพูพันทิพย์” ฯลฯ จนกระทั่งชื่อต้นไม้ทั้งหลายหมดไปจากบัญชี - ในช่วงนั้นหากคนประเทศดังกล่าวต้องการพูดถึงต้นไม้ - สมมติว่าเป็นต้นทุเรียน ก็ต้องบอกว่า “งอกพื้นผลหนามเนื้อสีเหลืองกลิ่นแรง” หรือ “งอกพื้นเรียวเม็ดลีบกระเทาะเปลือกแล้วหุงกินได้” ฯลฯ คุกแทบไม่พอขังผู้เผอเรอ ต่อจากต้นไม้ ก็ตามด้วยชื่อสัตว์ทั้งหลาย ชื่อสินแร่ ชื่อภูเขา ชื่อแผ่นน้ำ จนในที่สุด แทบไม่เหลือถ้อยคำกล่าวขานใดในภาษานั้นอีก คนเรียกสัตว์ทั้งหลาย ว่า ตัวเห่า ตัวขน ตัวเขา ตัวเกล็ดอยู่น้ำ เพราะชื่อสัตว์ทั้งหลายนั้นถูกริบเสียสิ้นแล้ว ถ้อยคำต้องห้าม ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่คำในกลุ่ม “เจ็บ” “ทรมาน” “ป่วย” “หิว” หรือแม้แต่ “โกง” “ทุจริต” ก็ถูกเพิ่มลงในบัญชีวจีต้องห้าม เพื่อแก้ปัญหา เมื่อชาวบ้านร้องทุกข์ว่าด้วยภาวะอดอยากนาล่ม ขาดมดขาดหมอ หรือกรณีที่ข้ารัฐการถูกถามว่า ทำไมต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อทำเรื่องง่ายๆอันควรเป็นหน้าที่ของพวกเขาอยู่แล้ว – ทันทีที่ประกาศชุดบัญชีคำใหม่ ประเทศนั้นก็หมดปัญหาความอดอยาก ปัญหาสาธารณสุข หรือปัญหาการคอรัปชั่นลงภายในชั่ววินาทีที่ปราชญบดีอนุมัติคำต้องห้ามกลุ่มใหม่ กล่าวกันว่าในตอนหลัง หนังสือประมวลศัพท์ต้องห้ามหนากว่าพจนานุกรม ที่บางลงทุกวัน เกินกว่าสิบเท่า ผู้คนในดินแดนนั้นมีถ้อยคำอันจำกัด หากผู้ใดถูกมีดบาด อาจจะร้องได้เพียงว่า “โอ หนังนิ้วแยกแดงออก !” มีคนหัวใส ที่ไม่ใช่ปราชญ์ พยายามลดรูปคำเพื่อให้ยังมีความสามารถในการพูดสื่อสารได้ เช่น “ปร๊ะตร๊ะละลาด” ต่อมาคำใหม่ๆ เหล่านั้นก็ถูกเก็บหายเข้าบัญชี ทีละคำ ทีละคำ บางคนก็ใช้วิธีเอาลำดับคำในประมวลศัพท์ต้องห้ามมาพูดแทน เช่น ลำดับที่ ๑๑๒ “ทรราชย์” ชาวบ้าน ก็กล่าวตัวเลขชุดดังกล่าวต่อกัน เมื่อมีคนถามว่า ทำไมเราจึงพูดอะไรไม่ได้เหมือนเดิม ? – ก็เพราะ ๑๑๒ ไง ! ดังคาด, ตัวเลขจำนวนนับทั้งหลายก็สิ้นสูญไปจากประเทศนั้น จนกระทั่งประชาชนทั้งหลาย ออกมานั่งร้องไห้กันตามที่ประชุมชน ประนมมือท่วมหัว แซ่ซ้องว่า“โอ้ปราชญบดีแสนประเสริฐ ! ปราชญ์ทั้งหลายล้วนเลิศทรงพระคุณ !” ในครั้งแรกนั้นปราชญบดีและชาวปราชญ์เข้าใจว่า ชาวบ้านสรรเสริญ ถึงกับน้ำตาไหลเพราะซาบซึ้ง แต่เมื่อผู้คนกล่าวซ้องคำดังกล่าวพลางร้องไห้บ้าง ตีอกชกหัวบ้าง ในที่สุด ปราชญบดีก็กำหนดว่า ห้ามมิให้ใช้ถ้อยคำ “ดี” “งาม” “ประเสริฐ” “มีพระคุณ” “บุญญาธิการ” ฯลฯ เพราะคำดังกล่าว ถูกใช้เพื่อเจตนาส่อเสียด – ทั้งห้ามออกนามคำว่า “ปราชญบดี” และ “ปราชญ์” โดยไม่จำเป็น – หากจะแสดงความเคารพบรรดาปราชญ์และปราชญบดีจากใจจริง หมอบราบลงกับพื้นแล้วพนมมือขึ้นเหนือศีรษะก็พอ จนในที่สุด เมื่อปราชญบดีพบว่า ผู้คนพูดจากันด้วยการเปล่งตัวอักษรเป็นความหมายที่เข้าใจกันเอง แต่แน่ใจว่าเป็นคำกล่าวร้ายต่อปราชญบดีและปราชญ์ทั้งหลายแน่ เช่น “ปหค ปบดรยม ยม” ระบบอักษรของประเทศนั้นก็ถูกยกเลิกลง และเป็นการสิ้นสุดการบันทึกทุกอย่างของประเทศนั้น เนื่องจากไม่มีตัวอักษรหลงเหลืออยู่แล้ว ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ห้าร้อยปีต่อมา เมื่อนักมนุษยวิทยากลุ่มแรกจากดินแดนภายนอก ค้นพบประเทศเล็กๆนี้ก็พบว่า ผู้คนในดินแดนนี้ไร้ซึ่งภาษา ใช้วิธีส่งเสียงในลำคอเป็นจังหวะ เพื่อสื่อสารกัน เหมือนสัตว์...
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่