มีความเชื่ออย่างไร จึงเป็เหตุให้เข้าถึงทั้งสวรรค์และมรรคผลนิพพานได้..?


ลัทธิของครูทั้ง   6  จัดว่าเป็นลัทธิร่วมสมัยพุทธกาล  มีหลักฐานปรากฏในสามัญผลสูตรที่กล่าวถึงครูทั้ง  6   ว่า...  

เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูได้ครองราชย์สืบต่อจากพระเจ้าพิมพิสารผู้ราชบิดาอยู่มาวันหนึ่งทรงมีความประสงค์จะสนทนากับสมณพราหมณ์   ในปัญหาเรื่องการบวชมีผลเป็นที่ประจักษ์อย่างไร ได้เสด็จถามปัญหาดังกล่าวกับครูทั้ง  6  และได้รับคำตอบไม่เป็นที่พอพระทัย  เพราะเป็นการถามปัญหาอย่างหนึ่งและตอบเสียอีกอย่างหนึ่ง   ทรงนำคำตอบในลัทธิของครูทั้ง  6  มาตรัสเล่าถวายพระพุทธเจ้า  ข้อความพิสดารมีปรากฏในสามัญญผลสูตร   ครูทั้ง   6  นั้นมีนามปรากฏ  ดังนี้  คือ

1.  ปูรณกัสสปะ

2.  มักขลิโคศาล

3.  อชิตเกสกัมพล

4.  ปกุธกัจจายนะ

5.  สญชัยเวลัฏฐบุตร

6.  นิครนถนาฏบุตร


--->>  1.  ทรรศนะของปูรณกัสสปะ

ปูรณกัสสปะ  เป็นเจ้าลัทธิเก่าแก่ผู้หนึ่ง   มีความเห็นว่า   วิญญาณเป็นสิ่งไร้กัมมันตภาพเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวร  ไม่มีการเปลี่ยนแปลง  ร่างกายนี้เองเป็นเจ้าของพฤติกรรม  วิญญาณไม่เกี่ยวข้องกับกรรมดีกรรมชั่วที่ร่างกายทำ  แต่ร่างกายก็เป็นสิ่งที่ไร้เจตนา   ดังนั้น  เมื่อร่างกายทำสิ่งใด  ๆ   ลงไป  จึงไม่จัดเป็นบุญบาปแต่อย่างใด   บุคคลไม่จัดว่าได้ทำบุญเมื่อให้ทาน  เป็นต้น   และไม่จัดว่าได้ทำบาป  เมื่อฆ่าสัตว์   ลักทรัพย์ประพฤติผิดในกาม   หรือพูดปด  

พระพุทธศาสนาเรียกทรรศนะของปูรณกัสสปะว่า   “อกิริยวาท ”  แปลว่า  “กล่าวการทำว่าไม่เป็นอันทำ”  
เป็นทรรศนะที่ปฏิเสธพลังงาน   ปฏิเสธกรรมไปด้วยพร้อมกัน  ผู้มีทรรศนะดังกล่าวนี้เรียกว่า “อกิริยวาที”   แปลว่า  “ผู้กล่าวการทำว่าไม่เป็นอันทำ”  ขัดแย้งกับหลักกรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง   เพระพระพุทธศาสนาสอนหลักกรรมว่า  สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม   ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี  ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว  และถือว่าเป็นหลักเหตุผลที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง



**************************************************************************


--->>  2.  ทรรศนะของมักขลิโคศาล

กล่าวกันว่า  มักขลิโคศาลเป็นเจ้าลัทธิฝ่าย  อาชีวก   วันหนึ่งเห็นต้นข้าวที่คนเหยียบย่ำแล้วกลับงอกงามขึ้นมาอีก   จึงเกิดความคิดว่า   “สัตว์ทั้งหลายหลังจากตายแล้ว   จะต้องกลับมีวิญญาณขึ้นมาอีก  ไม่ตายไม่สลาย” และถือว่า  “สัตว์ทั้งหลายขึ้นอยู่กับกระบวนการที่ได้กำหนดไว้แล้ว”  กระบวนการดังกล่าว   เริ่มต้นจากระดับต่ำสุดไปหาจุดหมายที่สูงสุด เป็นกระบวนการที่แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง   เช่นเดียวกับความร้อนมีระดับต่ำเป็นน้ำแข็ง  และมีระดับสูงเป็นไฟ

มักขลิโคศาลปฏิเสธกรรมและพลังความเพียรว่าเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย   สัตว์ทั้งหลายไม่ต้องทำความเพียร  และไม่ต้องทำความดีเพื่ออะไร  เพราะการบรรลุโมกษะไม่ได้สำเร็จด้วยความเพียรหรือด้วยกรรมใด  ๆ   สัตว์จะต้องเวียนว่ายตายเกิดจากภพสู่ภพไปโดยลำดับ   เมื่อถึงภพสุดท้ายก็จะเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้เอง   ความบริสุทธิ์ประเภทนี้เรียกว่า   “สังสารสุทธิ”   คือความบริสุทธิ์ที่ได้จากการเวียนว่ายตายเกิด   กระบวนการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์    เช่นเดียวกับการคลี่เส้นด้ายออกจากกลุ่ม   เมื่อจับปลายเส้นด้ายด้านนอกแล้วปากกลุ่มด้ายไป   กลุ่มด้ายจะคลี่ออกจนถึงปลายด้านใน  ปลายสุดด้านในของเส้นด้ายนั่นเอง   เปรียบเหมือนความบริสุทธิ์ของสัตว์  หรือที่เรียกว่าโมกษะ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตหนึ่ง ๆ  เป็นเรื่องของการโชคดีและเคราะห์ร้าย  ไม่เกี่ยวกับกรรมดีและกรรมชั่วแต่อย่างใด    สัตว์ประเภทอื่น  ๆ  จะเข้าถึงโมกษะได้  จำต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ก่อนจึงจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้

พระพุทธศาสนาเรียกทรรศนะของมักขลิโคศาลว่า  “อเหตุกวาทะ”   คือกล่าวว่า   “ความเศร้าหมองและความบริสุทธิ์ของสัตว์ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย  ”   ทรรศนะของมักขลิโคศาลจัดเป็นอกิริยาวาทด้วย   เพราะเป็นการปฏิเสธกรรมและผลของกรรมอยู่แล้วด้วย   ทั้งยังเป็นอวิริยวาทด้วย  เพราะปฏิเสธพลังความเพียรว่าเป็นสิ่งไร้ผลด้วย


**************************************************************************


--->>  3.  ทรรศนะของอชิตเกสกัมพล

ทรรศนะของอชิตเกสัมพล  ตรงกับปรัชญาในยุคหลังคือวัตถุนิยม   เป็นทรรศนะที่ปฏิเสธว่า   ไม่มีสัตว์   ไม่มีบุคคลใด   ๆ   ทั้งสิ้น  ไม่มีชาติหน้า   ไม่มีบุญ   ไม่มีบาป   ปฏิเสธกรรมดีกรรมชั่ว  ปฏิเสธพิธีกรรมทางศาสนาว่าไร้ผล   ปฏิเสธความสมบูรณ์ทางจิต   ไม่มีใครทำดีไม่มีใครทำชั่ว   เพราะสัตว์ประกอบด้วยธาตุ  4  คือ   ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ   จึงไม่มีสัตว์ใด  ๆ    คงมีแต่กลุ่มธาตุ  ชาตินี้ของสัตว์สิ้นสุดลงที่การตาย  ไม่มีอะไรเหลืออีกหลังจากตาย

ธาตุทั้งหลายเหล่านั้นทำหน้าที่ผลิตวิญญาณขึ้นมา    เมื่อธาตุเหล่านั้นแยกจากกันสัตว์ก็สิ้นสุดกันแค่นั้น   ไม่มีความดีความชั่ว   ไม่มีโลกหน้าชาติหน้าต่อไปอีก   ไม่มีสวรรค์หรือโลกทิพย์ที่ไหนอีก   ไม่มีพระเจ้า    โลกนี้ดำรงอยู่โดยตัวเอง   วิญญาณและเจตนาของสัตว์เกิดจากธาตุ  เช่นเดียวกับสุราที่เกิดจากการหมักดองเครื่องปรุง   เมื่อทุกอย่างสิ้นสุดลงที่ความตายจึงไม่จำเป็นต้องทำบุญเพื่อเป็นเสบียงไปชาติหน้า   ทรรศนะนี้ปฏิเสธคัมภีร์พระเวทอย่างรุนแรง  เป็นทรรศนะที่ชี้แนะว่า  สัตว์จะแสวงหาความสุขแก่ตนด้วยวิธีใด  ๆ ก็ได้  ไม่ต้องทำสิ่งที่เคยเชื่อกันมาว่าจะอำนวยความสุขในชาติหน้า    เพราะวิญญาณคือร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง  

พระพุทธศาสนาเรียกทรรศนะนี้ว่า  “นัตถิกวาท”  แปลว่า  “กล่าวว่าไม่มีสัตว์บุคคล”
ทรรศนะของอชิตเกสกัมพล  ตรงกับปรัชญาจารวากหรือวัตถุนิยม   ยอมรับค่านิยมทางกามสุขเท่านั้น   ไม่มีค่านิยมใด  ๆ อีกที่เหมาะสมของมนุษย์   จึงเป็นทรรศนะที่ถูกตำหนิจากปรัชญาอื่นอย่างมาก



**************************************************************************


คำอธิบายสามัญญผลสูตรกล่าวว่า   เจ้าลัทธิทั้ง  3   ดังกล่าวแล้วนั้น  


-->  ปูรณกัสปะกล่าวว่า   เมื่อบุคคลทำบาป  ไม่ชื่อว่าเป็นทำบาป  จัดว่าเป็นการปฏิเสธกรรม   

-->  เจ้าลัทธิอชิตเกสกัมพลกล่าวว่า     สัตว์ทั้งหลายตายแล้วหมดสิ้นกัน  ไม่มีอะไรไปเกิดอีก   จัดว่าเป็นการปฏิเสธผลของกรรม

-->  เจ้าของลัทธิมักขลิโคศาลกล่าวว่า   สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ   ไม่มีปัจจัย   เศร้าหมองเองมีความบริสุทธิ์ได้เอง   จัดว่าเป็นการปฏิเสธทั้งกรรมและผลของกรรม  


เจ้าลัทธิปูรณกัสสะปะแม้ปฏิเสธแต่กรรม  ก็จัดว่าปฏิเสธผลของกรรมไปด้วย

เจ้าลัทธิอชิตเกสกัมพลเมื่อปฏิเสธผลของกรรมก็เป็นการปฏิเสธกรรมไปด้วยแล้ว  

เพราะฉะนั้น     โดยความหมายแล้ว   เจ้าลัทธิทั้ง  3 จัดว่าเป็นทั้ง  อกิริยาวาทอเหตุ  และนัตถิกวาท  เหมือน ๆ กัน  เพราะปฏิเสธทั้งกรรมและผลกรรม



-->> ฏีกาสามัญญผลสูตรกล่าวว่า...


เจ้าลัทธิปูรณกัสสปะจัดว่าปฏิเสธกรรม  เพราะกล่าวการทำว่าไม่เป็นอันทำ  

เจ้าลัทธิอชิตเกสกัมพลจัดว่าปฏิเสธผลกรรม    เพราะถือว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีกต่อไป  

เจ้าลัทธิมักขลิโคศาลจัดว่าปฏิเสธทั้งกรรมและผลกรรม   เพราะเมื่อทำการปฏิเสธเหตุก็เท่ากับปฏิเสธผลไปด้วยกัน   เมื่อปฏิเสธเหตุของความเศร้าหมองและความบริสุทธิ์  ก็เป็นการปฏิเสธผลกรรมเสียแล้วด้วย   เมื่อกรรมไม่มีผลกรรมก็ต้องไม่มีด้วย  หรือเมื่อผลกรรมไม่มี  ก็ต้องสืบเนื่องมาจากกรรมไม่มี


-->> คำอธิบายคัมภีร์  เอกนิบาต   อังคุตตรนิกาย   กล่าวว่า...  


มิจฉาทิฐิบางอย่างห้ามทั้งสวรรค์และมรรค

บางอย่าง ห้ามแต่มรรคอย่างเดียว  ไม่ห้ามสวรรค์

บางอย่างไม่ห้ามทั้งมรรค และสวรรค์



มิจฉาทิฐิ  3  อย่างคือ  


อกิริยทิฐิ และ นัตถิกทิฐิ   ห้ามทั้งสวรรค์และมรรค

มิจฉาทิฐิถึงที่สุด   10  อย่าง คือการยึดถือว่า   โลกเที่ยง  เป็นต้น  จัดว่าห้ามแต่มรรคอย่างเดียว  เป็นความเห็นที่วิปริตจากทางของมรรค   แต่ไม่ห้ามสวรรค์เพราะไม่เป็นอกุศลกรรมบถ

ส่วนสักกายทิฐิ  20  มีเห็นรูปว่าเป็นตน  เห็นตนว่าเป็นรูป  เห็นตนในรูป   เป็นต้น   เป็นการเห็นลักษณะ  4  อย่างในขันธ์  5  รวมเป็น   20  ไม่ห้ามทั้งสวรรค์และมรรคเพราะไม่เป็นอกุศลกรรมบถ   และเมื่อเกิดความรู้จัดแจ้งตามเป็นจริง  ก็บรรลุมรรคผลได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่