คณิน บุญสุวรรณ ชี้ กกต. ไขก๊อกส่อละเว้นปฏิบัติหน้าที่




    "คณิน" ระบุ หากกกต. ตัดสินใจลาออกเพื่อให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ อันเป็นความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  ขณะที่รัฐบาลไม่มีอำนาจสั่งเลื่อนการเลือกตั้ง

นายคณิน บุญสุวรรณ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่29 พรรคเพื่อไทย ระบุว่า กรณีที่ กกต. ออกแถลงการณ์มีใจความโดยสรุป เรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งอาสาเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างสองฝ่ายและขู่ว่าอาจตัดสินใจบางอย่างนั้น ผมมีความเห็นดังนี้

1. ในการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งในกรณีที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ต้องทำเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองแบบดังกล่าว มีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาสองคน คือ นายกรัฐมนตรี และประธาน กกต. แต่หน้าที่ในการจัดการและควบคุมการเลือกตั้งนั้น เป็นหน้าที่ของ กกต. แต่เพียงผู้เดียว เพราะประธาน กกต. เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

ดังนั้น การที่ กกต.ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลสั่งเลื่อนการเลือกตั้งออกไป จึงเป็นการเรียกร้องที่อยู่นอกเหนือบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทั้งยังเป็นการปัดความรับผิดชอบ ที่จะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า "คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มี การเลือกตั้งหรือการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม" รวมทั้งเป็นการปัดความรับผิดชอบที่จะต้องดำเนินการตามมาตรา 235 วรรคสอง ในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับดังกล่าว ข้างต้น อีกด้วย

2. แถลงการณ์ข้อสุดท้ายของ กกต. ที่ระบุในทำนองว่า ถ้ารัฐบาลไม่เลื่อนการเลือกตั้งออกไป กกต. จะใช้วิจารณญาณตัดสินเป็นรายบุคคลนั้น ถ้าการตัดสินใจเช่นว่านั้น เป็นการตัดสินใจลาออกทั้งคณะ หรือลาออกเป็นบางคน เพื่อให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ก็เท่ากับ กกต.ละทิ้งหน้าที่อันเป็นความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และยังเข้าข่าย "เป็นกรรมการการเลือกตั้งจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือขัดขวางมิให้การเลือกตั้งเป็นไปตามกฎหมาย" อีกด้วย ซึ่งกฎหมายในที่นี้ก็คือ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร นั่นเอง อันเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง "ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี"

ที่มา : http://news.voicetv.co.th/democracycrisis/92463.html

         27 ธันวาคม 2556
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่