อดีตผู้พิพากษาฏีกาท่านนี้ พูดไม่เข้าท่า และทักษินจ้างมาชัดๆเลยพี่น้อง

############################
ศาลประชาชน มีได้หรือไม่ในประเทศไทย
############################

บทความโดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการ ป.ป.ช.
อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
จาก มติชนออนไลน์

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 2 บัญญัติว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

มาตรา 3 บัญญัติว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้"

หมายความว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของประชาชนชาวไทย ซึ่งมีอยู่ 3 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ และพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขแต่พระองค์เดียวที่จะใช้อำนาจนิติบัญญัติ ทางรัฐสภา อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการทางศาล

ในที่นี้จะขอกล่าวรายละเอียดเฉพาะเรื่องของศาลยุติธรรม ซึ่งดูจะเป็นศาลที่ตั้งมาเก่าแก่ที่สุด และเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วประเทศมาก่อนศาลอื่นๆ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 1 บัญญัติว่า "ศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญศาลนี้มีสามชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น"

ได้ตรวจดู โดยละเอียดรอบคอบแล้ว ไม่ปรากฏบทบัญญัติมาตราใดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับที่เคยมีมา แม้ฉบับปัจจุบันและพระธรรมนูญศาลยุติธรรมทุกฉบับที่มีบทบัญญัติให้มีการตั้ง "ศาลประชาชน" (เว้นแต่ประเทศที่มีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์) และการที่จะตั้งศาลขึ้นนั้นหาใช่เป็นอำนาจของบุคคลใดหรือกลุ่มชนใดโดยเฉพาะ หากแต่จะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 198 วรรคหนึ่งซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

การตราพระราชบัญญัติเป็นอำนาจของรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยเท่านั้น และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 198 วรรคสอง ยังบัญญัติว่า "การตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือคดีที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะ แทนศาลที่มีอยู่ตามกฎหมายพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จะกระทำมิได้" วรรคสามบัญญัติว่า "การบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาล หรือวิธีพิจารณาเพื่อใช้แก่คดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะจะกระทำมิได้"



การตั้งศาลประชาชนจึงมิอาจเป็นไปได้อย่างแน่แท้ด้วยเหตุผลดังนี้

1.การตั้งศาลต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาเท่านั้นมีอำนาจตราพระราชบัญญัติ ดังกล่าว

2.การจัดตั้ง "ศาลประชาชน" เพื่อกระทำการพิจารณาโทษ คดีใดคดีหนึ่ง ตามที่ต้องการโดยเฉพาะจะกระทำมิได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 198 วรรคสอง วรรคสาม

3.การที่จะให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยออกไปอยู่ต่างประเทศตามวัตถุประสงค์ที่เสนอให้ตั้งศาลประชาชนนั้นไม่อาจจะกระทำได้เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 34 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า "การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามบุคคลผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรจะกระทำมิได้"

สรุปว่าการเสนอให้ตั้งศาลประชาชนเพื่อพิจารณาลงโทษบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ หรือ ขับไล่ผู้มีสัญชาติไทยออกไปนอกราชอาณาจักร จะกระทำมิได้อย่างแน่นอนยืนยันโดยรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เว้นแต่จะเป็นการพูดเพื่อเอาความมันหรือเพื่อเร่งเร้าอารมณ์มวลชนเป็นหลัก โดยผู้พูดและผู้ชี้นำคงไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากนัก เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่เขาเอาตัวรอดได้เสมอเมื่อมีเหตุคับขันเกิดขึ้น

เป็นห่วงอยู่ก็แต่มวลชนที่อยู่ข้างล่างเวทีที่พากันเป่านกหวีดตามหรือหัวเราะอ้าปากไม่หุบด้วยความมัน ว่าอาจจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต"

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือ ใช้กำลังประทุษร้าย (การประทุษร้ายนั้นไม่ว่าจะเป็นการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล เช่น พูดว่า หรือ ขู่ว่า กระทำการใดๆ อันเป็นผลร้าย แก่บุคคลอื่น ก็เป็นการประทุษร้าย ตามบทนิยาม ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 แล้ว)

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน





ต้องละวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี



มีคำพิพากษาฎีกาวางแนวไว้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034-2041/2527 ป. และ จ. จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีส่วนริเริ่มชักชวนนักศึกษา นักเรียน และประชาชนให้มาชุมนุมกัน ณ สนามหน้าเมืองที่เกิดเหตุมาแต่ต้นและร่วมกล่าวโจมตีขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนมีส่วนในการจัดตั้งหน่วยฟันเฟืองขึ้นจากผู้มาร่วมชุมนุม จนคนเหล่านั้นรวมตัวกันเป็นจำนวนหลายพันคน ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ขว้างปา และวางเพลิงเผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนี้การกระทำของจำเลยทั้งสอง ตลอดจนนักศึกษา นักเรียน และประชาชนดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรอีกสถานหนึ่งด้วย

นอกจากว่าจะผิดกฎหมายตามมาตรานี้แล้วยังอาจเฉียดเข้าไปในความผิดตามมาตรา 113 ซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตอีกด้วย และแน่นอนถ้าผู้เป็นตัวการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวไม่ว่ามาตราใดมาตราหนึ่ง กลุ่มมวลชนที่นั่งอยู่ข้างล่างเวที และร่วมเป่านกหวีดอย่างเมามันก็จะตกอยู่ในฐานะผู้สนับสนุน ซึ่งตามกฎหมาย อาจต้องรับโทษร่วมกับแกนนำ โดยรับโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

เมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองทุกครั้ง คนที่น่าเห็นใจที่สุดก็คือประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม เพราะแกนนำซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นนักการเมืองก็จะมีหนทางเอาตัวรอดได้เสมอ ผู้ประสบเคราะห์กรรมทั้งเสียชีวิต และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำคือประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม ตัวอย่างก็มีอยู่แล้วเมื่อมีการสลายการชุมนุมในปี 2553 จากเหตุการณ์ครั้งนั้นผู้ที่ร่วมชุมนุมในวันนั้น บุคคลทั่วไปคงจะจำบทเรียนที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ผู้ร่วมชุมนุมถูกจับกุมคุมขังตั้งแต่วันเกิดเหตุ จนถึงวันนี้ และยังไม่มีท่าทีว่าจะได้รับอิสรภาพ เนื่องจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่บุคคลเหล่านี้ควรได้รับอานิสงส์ก็ถูกบุคคลในองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศคัดค้าน

โดยกลุ่มผู้คัดค้านก็มิได้แสดงจุดยืนให้ชัดเจน ว่าไม่ประสงค์ให้ประชาชนผู้ถูกคุมขังพ้นโทษ หรือไม่ต้องการให้นักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น หรือที่ถูกกล่าวหาว่า ใช้อำนาจออกคำสั่งอันเป็นเหตุให้ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมเสียชีวิต และบาดเจ็บ เป็นจำนวนมากไม่ต้องรับโทษ

บทความนี้เป็นความคิดเห็นประกอบหลักกฎหมายและแนวบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลฎีกา มิได้มีความประสงค์จะไปก้าวก่ายการกระทำของนักการเมือง นักวิชาการ ตลอดจนผู้ที่เป็นนักกฎหมายในประเทศนี้ ซึ่งอยู่ในสถานะที่รู้ผิดชอบชั่วดีอยู่แล้ว แต่ต้องการจะตักเตือนมวลชนทั้งหลาย ที่ไม่ทราบอย่างถ่องแท้ถึงการกระทำของตนซึ่งน่าจะเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ประเทศเราอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุขทุกวันนี้ ก็เพราะมีกฎหมายเป็นหลักควบคุมความประพฤติ

ถ้าบุคคลใดกระทำความผิด เขาก็ต้องรับโทษตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ตามกระบวนการขอให้ลงโทษตามกฎหมาย และผู้พิจารณาพิพากษาคดีคือ ผู้พิพากษาตุลาการ การใช้สิทธิส่วนบุคคล หรือกลุ่ม เพื่อพิจารณาพิพากษาโทษตามใจปรารถนาของตนนั้น ไม่อาจกระทำได้

การคิดตั้งศาลที่แปลกปลอมนอกจากจะไม่มีอำนาจจะกระทำได้แล้ว ยังเป็นความคิดที่เป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ยกเว้นจะเป็นความคิดหรือคำพูดที่เอามันหรือพูดเพื่อให้บุคคลเกิดอารมณ์ร่วมเท่านั้น


(ที่มา:มติชนรายวัน 28 พ.ย.2556)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1385648804&grpid=01&catid=&subcatid=
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่