หลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการ (วิชาการ)

กระทู้คำถาม
ในการประชุมครั้งที่ ๗ ขององค์การสหประชาชาติ เรื่องการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ ๒๖ สิงหาคม ถึง ๖ กันยายน ๒๕๒๘ ได้กำหนดมาตรฐานความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการเอาไว้ เพื่อให้ประเทศภาคีสมาชิกปฏิบัติตาม ซึ่งเมื่อพิจารณาหลักพื้นฐานความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการขององค์กรสหประชาชาติเปรียบเทียบกับหลักกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษาของประเทศไทยเราที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการจะเห็นได้ว่า

        ในประการที่ ๑ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาจะต้องได้รับการประกันจากรัฐที่กำหนดให้ผู้พิพากษามีอำนาจในการพิจารณาชี้ขาดตัดสิ้นคดีโดยปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายใดๆ ซึ่งในประเทศไทยเราได้บัญญัติหลักการดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อบัญญัติรับรองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการ และอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ บุคคลหรือองค์กรใดจะเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงมิได้ โดยทุกฝ่ายจะต้องให้การยอมรับ และเคารพต่อหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการด้วยการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังได้บัญญัติหลักการดังกล่าวไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๓ เพื่อมุ่งคุ้มครองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาไว้โดยเฉพาะอีกด้วย  ดังนี้ จะเห็นได้ว่าในประเทศเราได้มีบทบัญญัติที่มีมาตรฐานเดียวกับหลักพื้นฐานความเป็นอิสระของผู้พิพากษาขององค์การสหประชาชาติ ในส่วนของการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้การรับรองคุ้มครองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการเช่นกัน

        ในประการที่ ๒ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการที่ได้รับการรับรองจากรัฐในการกำหนดให้ผู้พิพากษาหรือศาลซึ่งตั้งขึ้นโดยกฎหมายเป็นอำนาจในการพิจารณาคดีแต่เพียงผู้เดียว และจะไม่มีการเข้าแทรกแซงใดๆ เช่นการบัญญัติกฎหมายเพื่อให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อใช้บังคับแก่คดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะจะกระทำมิได้ ซึ่งในประเทศไทยเราได้บัญญัติหลักการดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ได้บัญญัติให้การพิจารณาพิพากษาอรรคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งก่อตั้งโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเท่านั้น จะก่อตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะไม่ได้  นอกจากนี้การบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาล หรือวิธีพิจารณาเพื่อใช้แก่คดีหนึ่งโดยเฉพาะไม่ได้  ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระแก่ผู้พิพากษาและตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดีมิให้ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหารออกกฎหมาย หรือบทบัญญัติใดๆ มาริดรอนอำนาจการพิจารณาและพิพากษาคดี อันเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงฝ่ายตุลาการ ดังนี้จะเห็นได้ว่าในประเทศไทยเราได้มีบัญญัติหลักการดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าในส่วนนี้ก็ได้มีมาตรฐานเดียวกับหลักพื้นฐานความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการที่องค์การสหประชาชาติได้วางไว้เช่นกัน

        ในประการที่ ๓ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่จะต้องได้รับการกำหนดหลักการในเรื่องหลักของความเป็นอิสระของผู้พิพากษา (The principle of the independence of the judiciary) ขึ้นเพื่อให้เป็นหลักประกันความเป็นอิสระแก่
ผู้พิพากษาว่า หลักการดังกล่าวจะได้รับการยอมรับโดยรัฐ และคู่ความอย่างแท้จริง และมีการปฏิบัติให้ได้ผลอย่างจริงจัง ซึ่งในประเทศไทยเราได้บัญญัติหลักการดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญเพียงว่า ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษา
อรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย มิได้มีบทบัญญัติวางหลักของความเป็นอิสระของ
ผู้พิพากษาและตุลาการไว้ในกฎหมายใด จะมีก็แต่เพียงในประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ในหมวดที่ว่าด้วยอุดมการณ์ของผู้พิพากษาในข้อที่ว่า “ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตน” ซึ่งประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ (The Code of Judical Conduct) มิได้เป็นกฎหมาย จึงไม่มีสภาพบังคับเช่นกฎหมาย หากแต่เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนของผู้พิพากษาเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากข้อความว่า
“ผู้พิพากษาจักต้อง ....” อันเป็นเครื่องชี้แนะผู้พิพากษาให้ควรปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับประมวลจริยธรรมดังกล่าวซึ่งประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ มิใช่การบัญญัติหลักของความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตามนัยขององค์การสหประชาชาติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งคุ้มครองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการจากองค์กรหรือบุคคลใดๆ ที่จะเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงกิจการของผู้พิพากษา ซึ่งรัฐมีหน้าที่ให้การประกันแก่ผู้พิพากษาในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นจะเห็นว่า ในประเทศไทยเรายังมิได้มีการบัญญัติหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานในเรื่องหลักพื้นฐานความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้

        ในประการที่ ๔ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการที่จะต้องได้รับรองในเรื่องอิสระของการแสดงความคิดและการเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมตามกฎหมายโดยต้องรักษาไว้ซึ่งเกียรติยศศักดิ์ศรีของตุลาการ ซึ่งในหลักการนี้จะกำหนดให้ผู้พิพากษามีสิทธิในการเข้าร่วมชุมนุมแสดงความคิดเห็นได้เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป แต่ต้องปฏิบัติตนตามธรรมเนียมประเพณีทางศาล นอกจากนี้ ยังมีสิทธิเข้าร่วมในการประชุมขององค์กรอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการ ซึ่งในประเทศไทยเราได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กำหนดวางกรอบไว้ โดยห้ามมิให้ผู้พิพากษากระทำการซึ่งอาจทำให้เสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ราชการไว้เช่นกัน

        ในประการที่ ๕ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการจะต้องได้รับการรับรองในเรื่องคุณสมบัติ และการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาและตุลาการ ซึ่งมีหลักการว่าการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งผู้พิพากษานั้น อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการในทางส่วนตัวได้ หากปล่อยให้การเข้าสู่ตำแหน่งของผู้พิพากษาและตุลาการมีการใช้อิทธิพลหรือำนาจจากฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าในทางการเมืองหรือในทางใดๆ ก็ตาม เพราะตำแหน่งตุลาการเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ได้เสียของประเทศ ดังนั้น จึงควรที่รัฐจะกำหนดมาตรการในการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาและตุลาการ เพื่อให้
ผู้พิพากษาและตุลาการมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของผู้ใด ซึ่งในประเทศไทยเราได้มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๓ บัญญัติถึงเรื่องคุณสมบัติและการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการตุลาการ หรือ ก.ต. กำหนดถึงคุณสมบัติ ตลอดจนวิธีการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งและการแต่งตั้ง
ผู้พิพากษาจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ต. ก่อน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในประเทศไทยเราได้มีบทบัญญัติในเรื่องการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา บัญญัติได้ดังเช่นมาตรฐานที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ในหลักพื้นฐานความเป็นอิสระของ
ผู้พิพากษา เช่นกัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่