ประเด็น HOT!!!! กฎหมายนิรโทษกรรม เราควร "ธรรม" อย่างไร

คนถาม : ผั่นผั่น
คนตอบ : พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
คัดลอกมาจาก The secret ฉบับหน้าปกหมอก้อง (ฉบับ 26 พฤศจิกายน 2556)
พอดีเห็นกระทู้ของ http://ppantip.com/topic/31292538 : หนูผิดมากไหมค่ะ ที่ไม่เสพข่าวสารการเมืองเลย แล้วโดนด่าว่าไม่รักชาติ??(กระทู้นี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง)
เลยอยากจะคัดลอกบทความนี้มาให้อ่านกันค่ะ

ถาม : พระอาจารย์คงทราบข่าวม๊อบแล้วใช่ไหมค่ะ ผั่นพั้นดูข่าวแล้วว้าวุ่นใจ ขอถามว่าจริงๆ เราควรวางตัวอย่างไรกับเรื่องนี้ค่ะ
ตอบ : ถ้าว้าวุ้นใจก็ให้ระลึกไว้ว่าธรรมะคือหน้าที่ เรามีหน้าที่อะไรล่ะ คัดค้านกฎหมายหรือ มันเป็นหน้าที่ของรัฐสภาไม่ใช่หรือ อย่าไปก้าวก่ายหน้าที่ของตำรวจของทหาร ของ สส ของรัฐสภา ที่โลกมันวุ่นวายเพราะแต่ละคนไม่ได้ตะหนักในหน้าที่ของตัวเอง ชอบก้าวก่ายกดดันการทำหน้าที่ของคนอื่น บางเรื่องก็ต้องว่าตามกระบวนการที่กำหนดไว้ ส่วนเราก็ทำหน้าที่ของเราเองให้ดี ไม่ให้บกพร่อง
  จริงๆแล้วไม่ต้องห่วงหรอก ยังไงความถูกต้องไม่เคยหายไป ธรรมะไม่เคยหายไปจากโลก ฉะนั้น จะทำการใดๆอยากให้คำนึงถึงสันติภาพ สงสารบ้านเมืองกันบ้าง….ตัวบุคคลน่ะ แป๊ปเดียวก็ตายกันหมดแล้ว

ถาม: มีคนฝากถามว่า ถ้ามีคนทำผิดแล้วเราปล่อยปละธุระก็ไม่ใช่ คนชั่วก็จะยิ่งได้ใจและย่ำยีบ้านเมืองตามใจชอบ บางครั้งการออกมารวมตัวกันจะทำให้เขาเห็นพลังของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ตอบ : ไม่ว่าจะแสดงอะไรออกไป แต่อย่าไปจากธรรม พระอาจารย์จะไม่เข้าไปก้ายก่ายความคิด การกระทำของใคร แต่อย่าลืมว่าเราเป็นเมืองพุทธ จะคิด จะพูด จะทำอะไร ลองเช็กจิตก่อนดีกว่าว่ามีความเบียดเบียน อาฆาต มีอกุศลหรือกิเลสเป็นส่วนผสมหรือไม่ ไปชุมนุมแล้วจะสร้างภพสร้างชาติเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ตามหลักธรรมท่านเน้นตรงนี้
ถ้าจิตว่าง ออกไปชุมนุมที่เป็นกุศลต่อประเทศชาติบ้านเมืองจริงๆ มัเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ เห็นว่าบ้านนี้เมืองนี้จะให้ใครมาปู้ยี่ปู้ยำเล่นไม่ได้ ต้องลงมือทำอะไรซักอย่างที่ทำไป แต่ต้องเช็กที่จิตที่ใจให้ว่างจากกิเลส ความลำเอียงความจงเกลียดจงชัง ว่างจากสัตว์ บุคคลเรา เขา ถ้าเน้นเข้ามาข้างใน แบบนี้ก็ย่อมได้

ถาม : ถ้าเจตนาที่ออกจากบ้านมาชุมนุมคือทำเพื่อชาติ แต่ใจร้อนรุ่มเพราะโดนปลุกระดมตลอดเวลา แบบนี้ยังถือว่าเป็นกุศลเจตนาอยู่หรือเปล่าค่ะ
ตอบ : ถ้าร้อนรุ่ม อารมณ์เกิดตลอด เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวเกลียด เดี๋ยวเคียด เดี๋ยวแค้น แบบนั้นไม่ใช่ ถ้ามีจิตแห่งพระพุทธะอย่างแท้จริง วิถีแห่งการแสดงออกจะไม่ป่าเถื่อนรุนแรง สังคมพุทธเป็นสังคมปัญญาชน จะสนับสนุนหรือต่อต้านอะไรก็ต้องทำแบบอารยะ เช่น มหาตมา คานธี ต่อสู้ด้วยวิธีอหิสา การเดินตามท้องถนนพลางตะโกนเย้วๆ “ฆ่ามัน” “ไล่มัน” แบบที่เราชอบทำกันนั้นไม่ใช่อารยะ แต่ถ้าระหว่างเดินชุมนุมก็เจริญสติไปด้วย ขวาซ้ายๆ ก้าวย่างไป ดูลมไป ถือเป็นการ “เดินการกุศล” อย่างหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีใครแนะนำให้ออกมาเดินการกุศลหรอก มีแต่กระตุ้นอกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
มันเป็นเรื่องยากที่อยู่ในม๊อบแล้วจะอยู่ในร่องในรอยของพุทธะ เพราะในจิตใจมักมีแต่อกุศลจิต เป็นการสร้างภพสร้างชาติที่ไม่ดี แบบนี้ท่านไม่ส่งเสริม...ออกจากบ้านไปทั้งทีต้องไม่ตกเป็นทาสของการปลุกระดม พระอาจารย์ขอแนะนำให้ลองแสดงพลังเงียบ พลังสงบ แบบนี้น่ะ น่ากลัวที่สุด
ตอนนี้วาระเร่งด่วนแห่งชาติที่ทุกคนต้องทำคือ สจิตตปริโยทปนัง....ชำระใจของตนเองให้ผ่องแผ้วหมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง จากกิเลส เช่นโลภ โกรธ หลง นี่คือวาระเร่งด่วนของชาติ พวกกู้ชาติต้องเซฟตี้เฟิร์สต์ที่ใจตัวเองก่อน ไม่งั้นเสี่ยงไปอบายมุขมากเลย

ถาม : ผั่นพั้นอยากวางตัวเป็นกลางค่ะ เพราะเห็นว่าแต่ละคนแต่ละฝ่ายก็มีผิดมีถูก ดีชั่วคละเคล้ากันไป แต่ก็มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็น “ไทยเฉย” แบบนี้จะทำยังไงดีค่ะ
ตอบ : ก็อยู่เฉยๆต่อไป พวกที่ดิ้นไปดิ้นมาสุดท้าย เดี๋ยวเขาก็เหนื่อยเอง สุดท้ายเขาจะเป็นเหมือนกับที่เราเป็น เดี๋ยวจะรู้เองว่าต่อให้มีความดิ้นรนทางใจมากกว่านี้ โพสต์ข้อความด่ามากกว่านี้ สุดท้ายก็อาจไม่มีผลอะไรมากนัก ท่านถึงบอกว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย” “ดูก่อน” ไม่ใช่ “Do ก่อน” ดูเพื่อจะได้มีการบวกลบคูณหารถอดสแควร์รูทก่อน ว่าสิ่งที่จะทำเป็นการทำแบบบัณฑิตหรือไม่ สุดท้ายนะ ใครทำไม่ดี อยู่ได้ไม่นานหรอก แล้วจะเห็นว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

ถาม : การที่เราวางเฉยจะถือว่าไม่รักชาติไหมค่ะ
ตอบ : รักชาติ ไม่รักชาติ ไม่เกี่ยวกับการวางเฉยหรือไม่วางเฉย ไม่มีใครไม่รักชาติหรอก แต่ถ้ารักชาติจริงต้องแสดงออกให้ถูกต้องตามหลักธรรม บางครั้งการไม่ทำอะไรก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ ในบางสถานการณ์จึงต้องทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การนิ่งเฉยอาจทำให้คนไม่ดีลอยนวล ปู้ยี่ปู้ยำบ้านเมือง เพราะฉะนั้นจะออกมาก็ได้ แต่ต้องออกมาแสดง “พลังธรรม” ถึงจะดีที่สุด

ถาม : บางคนมีความเห็นว่า พระพุทธศาสนาเน้นการให้อภัย เพราะฉะนั้น จึงควรปล่อยให้กฎหมายนิรโทษกรรมผ่านไป ถือว่าแล้วๆกันไป บ้านเมืองจะได้สงบสุขเสียที
ตอบ : การให้อภัยเป็นเรื่องของจิตใจ ไม่เกี่ยวกับเรื่องของบัญญัติหรือสมมุติ ให้อภัยแล้วผลดีเกิดแก่ใครล่ะ.....แก่จิตใจตัวเองใช่ไหม จิตใจไม่มีโทษ ไม่มีเวรมีภัย ให้อภัยแล้ว ใจเราก็เกลี้ยงสบาย ส่วนข้างนอกเขาบัญญัติกฎเกณฑ์เอาไว้อย่างไร ก็ต้องทำตามกระบวนการ ใครทำผิดกฎหมายก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ถ้าทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด ปัญหาก็ย่อมเกิด

ถาม : เราจะรู้ได้อย่างไรค่ะว่า สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนควรนิ่งเฉย
ตอบ : สิ่งไหนที่ไม่ถูกต้องดีงาม ในใจลึกๆ เราย่อมรู้อยู่แล้ว ตามหลักกฎแห่งกรรมใครทำกรรมใดไว้ต้องได้รับกรรมนั้น ถ้าคุณทำผิดแล้วไปล้างบาป ลอยบาป นั้นไม่ใช่วิถีแห่งพุทธะ การแสดงความคิดเห็นโดยใช้ปัญญาพิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบก่อนโดยปราศจากอคติเป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนา เป็นสัมมาทิฎฐิ เป็นธรรมอยู่แล้ว แต่เรา “ทำเป็น” ไหม อันนี้น่าคิด
ลองคิดกันดูนะ

ปล.เจ้าของกระทู้ไม่ใช่ผั่นพั้น และเจ้าของกระทู้เห็นบทความนี้เลยอยากให้หลายๆคนที่อ่านได้ฉุกคิดกัน
ปล.2 เราอยากให้บทความนี้ยังคงอยู่ในพันทิฟ หวังว่าคงไม่มีดราม่าจนกระทู้ถูกอุ้มนะค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่