นมแม่และการให้นมแม่แก่เด็กทารก 0-1 ปี

กระทู้คำถาม
นมแม่เป็นนมที่เหมาะสมกับทารกตั้งแรกเกิด เพราะมีสารอาหารที่เหมาะสมพร้อมทั้งภูมิต้านทานที่ช่วยให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรงไม่เจ็บป่วยบ่อย อีกทั้งช่วยคุณแม่ประหยัด ไม่เสียเวลาในการชง สามารถเข้าปากลูกและดูดกลืนน้ำนมได้ทันที


นมแม่ที่เรียกได้ว่าอุดมสมบูรณ์ด้วยสารอาหารครบถ้วนที่สุด คือ ช่วงหลังคลอดที่จะมีน้ำนมเหลืองออกมาเรียกว่า โคลอสครัม (Colostrum) ถือเป็นหัวน้ำนมชั้นยอดของลูก เนื่องจากให้สารอาหารพลังงาน โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ครบถ้วนในสัดส่วนที่พอดี และสร้างภูมิต้านทานต่อเนื่องจากในครรภ์ได้อีกด้วย
ส่วนใหญ่แล้วนมแม่จะมาประมาณ 3-4 วันหลังคลอด ซึ่งก็จะเป็นช่วงที่ทารกกำลังนอนขี้เซาและปรับตัวกับโลกใบใหม่อยู่พอดี จากนั้นเข้าสู่วันที่ 7 ฮอร์โมนของคุณแม่ก็จะหลั่งช่วยเร่งสร้างน้ำนมให้มากขึ้นเพื่อให้ทันกับความต้องการของลูก และการให้ลูกดูดนมเร็วหรือช้าค่อนข้างมีผลในการกระตุ้น เพราะหากคุณแม่ให้ลูกดูดนมบ่อยก็จะถือเป็นการกระตุ้นให้เต้านมผลิตน้ำนมสำหรับมื้อต่อไปเยอะขึ้น อีกทั้งลูกก็จะคุ้นเคยกับหัวนมเร็วขึ้นด้วย

คุณแม่ควรให้ลูกอมดูดนมตั้งแต่หัวนมจนถึงลานนม เพื่อให้ลูกช่วยกระตุ้นต่อมน้ำนมที่กระจายอยู่ทั่วเต้านม ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหัวนมแตกได้ด้วย และการให้นมที่ดีควรให้ทุก 4 ชั่วโมงโดยสามารถสลับเต้าได้ เพราะปริมาณน้ำนมจะผลิตออกมาเพียงพอ และเมื่อลูกได้ดูดเต็มอิ่มก็จะนอนหลับยาว




•นมแม่ช่วงทารกแรกเกิด – ช่วงแรกทารกจะเอาแต่นอนหลับ และจะดูดนมอยู่ประมาณครั้งละ 5 นาที จากนั้นก็จะนานขึ้น 10 นาที และ 20 นาทีตามลำดับ เมื่อลูกดูดนมมากขึ้นนมของแม่ก็จะคัดตึงเพราะเริ่มมีน้ำนมมากขึ้น คุณแม่จะมองเห็นว่าลูกดูดนมอย่างมีความสุขไปเรื่อยๆ ราว 30 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมแบละไม่ควรให้ลูกดูดนมแต่ละครั้งนานกว่านี้
•ทารกอายุ 4-6 สัปดาห์ – หากทารกไม่ได้นมแม่ในช่วงนี้อาจจะทำให้ป่วยและรับเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะระบบหายใจและทางเดินอาหาร
•ทารกอายุ 6 เดือน – ทารกจะมีภูมิคุ้มกันอย่างดี และไม่แพ้อาหารง่าย เนื่องจากวัยนี้ต้องเริ่มต้นอาหารเสริมเพิ่มเติมจากนมแม่ได้บ้างแล้ว
•ทารกอายุ 9 เดือน – นอกจากนมแม่จะมีสารอาหารมากมายแต่ลูกต้องการอาหารเสริมอย่างน้อย 2 มื้อต่อวันแล้ว แต่สิ่งที่ลูกจะได้รับจากนมแม่คือความอบอุ่นและความปลอดภัยทุกครั้งที่ดูดนมแม่ ที่ถือว่าเป็นความมั่นคงทางจิตใจตั้งแต่วัยเริ่มต้น
•อายุ 1 ปี – การดูดนมของลูกจะค่อยๆ ลดบทบาทลงไปและหันมารับสารอาหารจากอาหารมื้อหลักครบ 3 มื้อ ซึ่งเด็กจะได้ทักษะการดูด เคี้ยว กลืน จากการดูดนมแม่ตั้งแต่วัยทารก

ปริมาณและความถี่ในการให้นมลูก
จากวันแรกคลอด แม่จะมีน้ำนมประมาณ 30 ซีซี (หรือเฉลี่ยตั้งแต่ 7-123 ซีซี) ต่อวัน ต่อมาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 70 ซีซี เป็น 100 ซีซี จนเป็นวันละ 200-300 ซีซี มากน้อยตามความบ่อยของการกระตุ้น การดูดที่ถูกวิธี และความรวดเร็วในการเริ่มให้ลูกกินนมแม่ จนกระทั่งถึงวันที่ 5 นมแม่จะเพิ่มปริมาณขึ้นเป็นประมาณ 500 ซีซีต่อวัน จะเป็นช่วงที่คุณแม่เริ่มรู้สึกว่าเต้านมตึงคัดและน้ำนมเริ่มมีมากขึ้น


สิ่งที่ควรทำคือการให้ลูกกินนมบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 8-12 ครั้ง ส่วนคุณแม่ที่รู้สึกว่านมไม่คัดเลย อย่าเพิ่งตกใจ เพราะถ้าคุณแม่ขยันให้ลูกกินนม น้ำนมจะถูกถ่ายเทจนไม่มีการคัดคั่งอยู่ในเต้าให้ปวดเต้านม ตราบใดที่ลูกกินอิ่ม หลับสบาย ไม่ร้องกวนก็นับว่าใช้ได้ ถัดมาในช่วง 3-5 เดือน แม่จะสามารถผลิตน้ำนมได้ถึง 750 ซีซีต่อวัน

ลูกจะกินนมแม่ 100 -150 ซีซี ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ตัวอย่างเช่น ลูกน้ำหนัก 3 กิโลกรัม จะต้องการน้ำนม 150 x 3 = 450 ซีซี แบ่งกิน 8 มื้อ ประมาณมื้อละ 60 ซีซี หรือ 2 ออนซ์


วันแรกคลอดลูกอาจจะกินนมแม่ 8 ครั้ง ทุกครั้งก็ได้ 3-4 ซีซี คุณแม่อาจจะกลัวว่าลูกจะได้น้ำนมไม่เพียงพอหรือจะทำให้ลูกหิวก็อย่าเพิ่งตกใจ ลูกจะมีสะสมมาจากในท้องแม่เป็นทุนสำรองไว้แล้ว 2-3 วัน ในช่วงน้ำนมกำลังเพิ่มปริมาณ ประกอบกับยังเป็นช่วงเวลาที่ลูกนอนหลับเป็นส่วนใหญ่ การใช้พลังงานจึงยังไม่มากนัก

การกินให้พอดีคือการกินให้อิ่ม นอนหลับสบายไม่งอแง น้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ก็เพียงพอ เพราะการบอกจำนวนคงเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กที่กินนมจากเต้านมแม่ แต่เรามักใช้เกณฑ์ที่ว่าให้กินนมแต่ละครั้งนานไม่น้อยกว่า 20-30 นาที และให้ได้น้ำนมอย่างน้อย 8 ครั้งต่อวัน และจำนวนครั้งจะลดลงเมื่อเด็กโตขึ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่