"นิรโทษกรรม" ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก

กระทู้สนทนา
ทุกท่านอาจจะทราบ หรือยังไม่ทราบว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีมาแล้ว 23 ฉบับ ถ้าหากฉบับนี้ได้ประกาศใช้ จะเป็นฉบับที่ 24 ของประเทศไทย
เรามาไล่เรียงกันดีกว่าว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 23 ฉบับที่ผ่านมา นิรโทษใครไปบ้าง
1. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 ประกาศโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้การกระทำทั้งหลายของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ให้เป็นการละเมิดบทกฎหมาย

2. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออก เพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ออกโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา หลังทำการรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

3. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ. 2488 ออกโดย นายควง อภัยวงศ์ เพื่อยกโทษให้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล  

4. พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ. 2488 ออกโดย นายควง อภัยวงศ์ เพื่อปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองให้เป็นอิสระ

5. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ 2489 ออกโดย นายปรีดี พนมยงค์ เพื่อยกโทษให้ผู้ที่ต่อต้านญี่ปุ่น ในช่วงที่ทหารญี่ปุ่นเข้ามายังประเทศไทย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  

6. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ออกโดย นายควง อภัยวงศ์ เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำการรัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

7. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 กลับมาใช้ พ.ศ. 2494 ออกโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจตัวเอง

8. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 ออกโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อยกโทษความผิดฐานกบฏจลาจล เนื่องในโอกาสที่พระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ 25 ศตวรรษ

9. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2500 ออกโดย นายพจน์ สารสิน เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่รัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยระบุด้วยว่า สาเหตุของการทำรัฐประหาร เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรม ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและหวาดกลัว

10. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2502 ออกโดย จอมพลถนอม กิตติขจร หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจ โดยระบุว่า เป็นการรัฐประหารเพื่อกำจัดภัยคอมมิวนิสต์ที่อาจเข้ามายึดครองประเทศไทย

11. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502 ออกโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499

12. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 พ.ศ. 2515 ออกโดย จอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ร่วมทำการปฏิวัติ โดยครั้งนี้เป็นการปฏิวัติตัวเอง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อชาติ และกำหนดกลไกการปกครองที่เหมาะสมเสียใหม่

13. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2616 ออกโดย นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อนิรโทษกรรมให้นิสิตนักศึกษาที่เดินขบวนเรียกร้องในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

14. พระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2517 ออกโดย นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อนิรโทษกรรมให้ นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ

15. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2519 ออกโดย นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำการรัฐประหารในครั้งนั้น ซึ่งนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

16. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 ออกโดย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เพื่อยกโทษให้ผู้ที่พยายามก่อรัฐประหารรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่ไม่สำเร็จ

17. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 ออกโดย พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เพื่อนิรโทษกรรมให้การรัฐประหารตัวเอง

18. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 ออกโดย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

19. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524 ออกโดย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพื่อนิรโทษกรรมให้กลุ่มยังเติร์กที่พยายามก่อรัฐประหารรัฐบาลพลเอกเปรม แต่ไม่สำเร็จ

20. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2531 ออกโดย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เพื่อนิรโทษกรรมให้กลุ่ม "กบฏ 9 กันยา" ที่พยายามรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย

21. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532 ออกโดย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์

22. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534 ออกโดย นายอานันท์ ปันยารชุน เพื่อยกโทษให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่กระทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

23. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535 ออกโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร เพื่อยกโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมพฤษภาทมิฬทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ทหารที่ปราบปรามประชาชน รวมทั้งผู้ชุมนุม

ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นถึงว่า สังคมไทยนั้น เมื่อเวลาใครทำผิด ก็พร้อมที่จะให้อภัย และปล่อยให้เรื่องนั้นมันเลือนหายไปตามกาลเวลา
เหมือนอย่างที่มีคำกล่าวที่ว่า "คนไทยลืมง่าย"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่