ศูนย์สี่หนึ่งหก
ดาริกามณี
ฝักบัวหลวงแห้งสีน้ำตาลหม่นเสียบอยู่ในก้านยาวของสายบัวแห้งยาวราวครึ่งเมตร ปักอยู่ในแจกันไม้ไผ่ลำขนาดท่อนแขน ปลายด้านหนึ่งผ่าสี่ซีกถึงปล้องกลางขัดกันไว้ด้วยไม้ไผ่เหลาท่อนเล็กเท่านิ้วก้อยเป็นขาตั้ง คู่กับดอกบัวแห้งเป็นใบลานแห้งสีขาว น้ำมันหอมกลิ่นยูคาลิปตัสกรุ่นกำจาย
ผมนั่งมองอย่างชื่นชมราวกับว่านั่นคือศิลปะล้ำเลิศจากฝีมือประติมากรเอกของโลก ผมไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่มีมิตรสหายคนสนิทในที่ทำงาน ผมชอบเดินก้มหน้า นับก้าวการเดินของตัวเอง จากห้องสมุดเดินไปสำนักงานกลาง หนึ่งพันสามร้อยห้าสิบก้าว (1,350) ไปโรงอาหารหนึ่งพันสิบก้าว (1,010) และเมื่อถูกถามว่ากำลังจะไปไหน ผมมักตอบว่า ไปเดินเล่น ทั้งที่เป็นเวลางาน ไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงแล้วผมกำลังไปไหน บางครั้งอาจกำลังไปประชุม บางทีอาจกำลังไปติดต่อกับอีกแผนกหนึ่ง – ขณะอยู่ในเวลางานผมไม่เคยไปเดินเล่นจริงๆ สักครั้ง
ผู้คนทึกทักกันเองว่าผมเป็นคนไร้มนุษยสัมพันธ์ นั่นเพราะโลกของผมสวยงามพอแล้ว ผมรักในงานที่ทำ ห้องสมุดเล็กๆ ที่ผมมักเรียกมันว่า วันเดอร์แลนด์ไลบรารี่ ผมเป็นบรรณารักษ์คนเดียวของที่นี่ หน้าที่หลักคืองานบริการและงานเทคนิคห้องสมุด ห้องสมุดแห่งนี้ไม่มีวารสาร นิตยสาร ไม่มีซีดี-รอม คอมพิวเตอร์สำหรับสืบค้น ไม่มีไมโครฟิล์ม ไมโครฟิช เทปคาสเส็ต มัลติมีเดียซีดี สไลด์ แผนที่ หรือแม้แต่หนังสือพิมพ์ สามทางที่จะค้นหนังสือในห้องสมุด หนึ่ง ค้นจากตู้บัตรรายการซึ่งเป็นตู้ไม้ ขนาดบัตร 4x 6 นิ้ว สอง เดินหาด้วยตัวเองจากชั้นหนังสือร่วมร้อย และสุดท้ายคือถามบรรณารักษ์ ซึ่งผู้ใช้บริการเกือบทุกคนมักใช้ตัวเลือกหลังสุด “วันเดอร์แลนด์ไลบรารี่” เป็นห้องสมุดที่มีหนังสือสองหมื่นเจ็ดพันเล่ม (27,000)
ฝักของบัวหลวงก้านนั้นผมเดินลุยน้ำในบ่อข้างห้องสมุดลงไปเก็บมันขึ้นมา ซึ่งนอกจากบ่อน้ำที่ถูกปูเต็มด้วยใบและดอกของบัวสีขาวแล้วอีกด้านหนึ่งยังเป็นแม่น้ำสายเล็กๆ ที่ไหลเอื่อยช้า แต่ใสจนแลเห็นถึงก้นน้ำ ข้างแม่น้ำเป็นกอสละสูงท่วมหัวที่ไม่ออกผล ส่วนใบลานนั้นเป็นเศษใบไม้ที่ใครสักคนทำหล่นไว้บนทางเดินที่ปูด้วยก้อนหินแม่น้ำจากห้องสมุดไปสู่ประตูสำนักงานใหญ่ที่ไกลถึงเกือบกิโลเมตร
ผมอ่านหนังสือในห้องสมุดเพียงหนึ่งในเจ็ดของทั้งหมด ผมจะอ่านให้จบเล่มหนึ่งแล้วจึงอ่านเล่มถัดกันบนชั้นหนังสือ เล่มที่ยังอ่านไม่จบนั้นไม่มีที่คั่นหนังสือแต่อย่างใด เพราะผมจำเลขหน้าสุดท้ายที่อ่านค้างไว้ ผมเริ่มต้นอ่านหนังสือในหมวดหมู่เก้าร้อย (900) เล่มล่าสุดคือ ประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หน้าสามร้อยเจ็ดสิบ (370)
เธอเป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งในจำนวนเจ้าหน้าที่หนึ่งพันสองร้อย (1,200) คนของหน่วยงาน เธอเป็นพนักงานที่ผมไม่รู้ระดับ พนักงานทุกคนไม่มีระดับ ทุกคนมีเพียงตัวเลขสี่ตัวเพื่อยืนยันสถานะ รหัสของเธอคือ แปดศูนย์สองศูนย์ ไม่ใช่แปดพันยี่สิบ แต่เป็นแปดสิบยี่สิบ (8020)
“สวัสดี ศูนย์สี่หนึ่งหก (0416) ฉันเอาประเทศรัสเซียมาคืน” นั่นคือเลขรหัสของผม เธอยิ้มให้ วางหนังสือทั้งหมดลงบนเคาน์เตอร์ยืม-คืน วรรณกรรมรัสเซียทั้งที่เป็นรัสเซียและที่ยังเป็นโซเวียต ฉบับแปลภาษาอังกฤษ และภาษาไทยนับสิบเล่มไล่เรียงนับแต่ ลีโอ ตอลสตอย - แม็กซิม กอร์กี้ - แอนเดร พลาโทนอฟ - ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี - อีวาน บูนิน - อันตัน เชคอฟ - ลีโอนิค เพอโวมายสกี - อเล็กซานเดอร์ ฟาเดเยฟ และคนอื่นๆ อีกสองสามคน รวมหนังสือหลายสิบเล่ม เธอมักยืมหนังสือวรรณกรรม โดยยึดเอาเชื้อชาติของผู้เขียน ไม่ใช่ชื่อเรื่อง หรือชื่อผู้แต่ง
“จะอ่านญี่ปุ่น” ผมไม่พูดจา แต่เดินไปที่ชั้นหนังสือไล่นิ้วหยิบบนชั้นมาให้ ครึ่งหนึ่งนั้นเป็นของนักเขียนชื่อ มุราคามิ ฮารุกิ เกือบทุกเล่ม Dance Dance Dance, Hear the Wind Sing, Pinball, Norwegian Wood, A Wild Sheep Chase, Hard boiled Wonderland, Sputnik Sweet heart, After the quake, South of the border –west of the sun, The wind-up Bird chronicle, The Elephant Vanishes และ Kafka on the shore ที่นี่จัดหมวดหมู่หนังสือด้วยระบบทศนิยมของดิวอี้ วรรณกรรมทั้งสิ้นอยู่ที่หมวดหมู่แปดร้อย (800) โดยแบ่งย่อยตามเลขของภาษาและภูมิศาสตร์อีกครั้ง เช่น วรรณกรรมไทยคือแปดเก้าห้าจุดเก้าหนึ่งสาม (895.913) ไม่ให้เลขหมู่ว่า นว. (นวนิยาย)
ผมไม่รู้จักเธอ และจะไม่รู้จักถ้าหากฝนไม่ตกลงมาและดอกบัวในสระหุบกลีบหลบฝน สายฝนที่หล่นจากเมฆก้อนอ้วนกำลังสาดสายลงมาราวกับว่าถูกใครเจาะเป็นรูพรุน
“โลกของมุราคามิ กับโลกของพวกเราอาจแตกต่างกันบ้างแต่คู่ขนานกันไป ถ้าหลุดเข้าไปในโลกของเขาแล้ว อย่าลืมกลับออกมานะ”
“อย่างนั้นเลยหรือ ชักน่าสนใจ”
“ผมเคยเข้าใจว่าตัวเองเป็นตัวละครใน คาฟกา ออนเดอะฌอร์ เพราะตัวละครเอกใช้ชีวิตในห้องสมุด”
“น่าสนุกดีนะคะ ได้อ่านหนังสือทั้งวัน”
“ถ้าได้อ่านเล่มที่ชอบก็จะสนุก แต่โดยหน้าที่ ผมจำเป็นต้องอ่านทุกเล่มถึงแม้จะรู้สึกเหมือนกำลังกลืนยาขมลงคอไปก็ตาม”
สายฝนที่เริ่มเปาะแปะ และเทลงมาอย่างรวดเร็วในไม่ช้า
“แย่จัง ฉันจะกลับยังไงเนี่ย หนังสือต้องเปียกฝนแน่ๆ”
“รอให้ฝนหยุดค่อยกลับ”
“แต่ฉันจะไปไม่ทันรถรับ-ส่ง” ผมนิ่งเงียบ รอการตัดสินใจของเธอ อึดใจเดียวเธอจึงเอ่ยปาก
“ช่างเถอะ ฉันกลับแท็กซี่ก็ได้” และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นแห่งการก่อร่างสร้างตัวของมิตรภาพระหว่าง ศูนย์สี่หนึ่งหก (0416) กับแปดสิบยี่สิบ (8020)
“ผมจะพาคุณเดินดูหนังสือแต่ละชั้น คราวต่อไป คุณจะเพลินกับการได้เลือกหนังสือด้วยตัวเอง”
“ตรงนี้เป็นประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์หมวดเก้าร้อย เล่มนี้ ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วเล่มนี้ สยามประเทศ ส่วนเล่มนี้น่าสนใจมาก จดหมายเหตุลาลูแบร์ คุณจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบไม่น่าเบื่อจากหนังสือเหล่านี้ และหากคุณต้องการหาวรรณกรรมประเทศต่างๆ จะอยู่ตรงนี้ ในหมวดหมู่ของวรรณกรรมจะไม่ได้เรียงตามประเทศแต่เรียงตามอักษรผู้แต่ง ดังนั้น มุราคามิ กับ แม็กซิม อาจจะอยู่ใกล้กัน คุณสนใจพุทธศาสนาไหม เล่มใหม่ของที่นี่เป็นหนังสือชุดหนึ่งร้อยปีพุทธทาสภิกขุ”
“อืมม์ คุณจำได้ทุกเล่มไหม ว่าเล่มไหนต้องอยู่ตรงไหน”
“เกือบทุกเล่ม จากเลขเรียกหนังสือในเล่ม จะมีเลขทะเบียนซึ่งบอกจำนวนหนังสือในห้องสมุด เลขหมู่หนังสือ ซึ่งจะบอกว่าหนังสือเล่มนั้นจะถูกจัดวางไว้ตรงไหนของห้องสมุด และเลขฉบับ จะบอกว่าในห้องสมุดมีหนังสือชื่อเดียวกันกี่ก๊อบปี้ และเลขอื่นๆ เป็นสัญลักษณ์สำหรับบรรณารักษ์ในการจัดการกับหนังสือ”
“ฉันไม่เคยรู้ ทุกครั้งที่เข้าห้องสมุด ก็ต้องเดินไปหาบรรณารักษ์”
“ใครๆ ก็มักทำอย่างนั้น”
“คราวหลังฉันจะหาหนังสือเองบ้าง”
“ถ้าไม่เจอแล้วค่อยเดินมาถาม” สายฝนเป็นใจ เวลาล่วงไปค่อนค่ำ เธอยังกลับไม่ได้ หน่วยรักษาความปลอดภัยเริ่มเปิดไฟทางเดิน ไฟระหว่างอาคาร และเดินสำรวจความปลอดภัยในชุดกันฝน พวกเขาเดินมาจนถึงห้องสมุด
“ได้เวลาปิดแล้วครับผม” สามเจ็ดหกหก (3766) เป็นชื่อของเขา เราต้องทำตาม เพราะหน่วยรักษาความปลอดภัยมีอำนาจสูงส่ง มีสิทธิ์ออกคำสั่งได้กับทุกคนเสมือนพนักงานทุกคนเป็นมดตัวเล็กๆ ที่พวกเขาจะบี้บดให้เหลือเพียงซากปลิวหายไปในลมก็ย่อมทำได้ พนักงานรักษาความปลอดภัยเป็นหน้าที่เดียวที่มีระดับ แต่กระนั้นก็ดี ผมก็ยังไม่อาจรู้ได้ว่าสามเจ็ดหกหก (3766) เป็นหัวหน้าหรือเป็นรองหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย
“ไปที่ห้องพักของผมไหม เดินจากที่นี่สี่พันสองร้อยก้าว” (4,200) เธอทำหน้าแปลกใจ ผมไม่แน่ใจว่าสำหรับเธอแล้ว มันไกลไปหรือเปล่า หนังสือยังวางอยู่ที่ห้องสมุด เราไม่อาจทำใจได้หากมันต้องเปียกฝนและพองเป็นสองเท่าเมื่อมันแห้งลง ผมพาเธอเดินตากฝนมายังห้องพักซึ่งอยู่ที่ชั้นสิบแปด (18) ของอพาร์ทเมนต์
นกตัวนั้นนิ่งสนิทที่มุมหนึ่งของห้อง มันเป็นนกตัวเดียวกับเมื่อเช้าที่ทะเล่อทะล่าบินเข้ามาในห้องแล้วหาทางออกไม่ได้ ทั้งๆ ที่ผมเปิดประตูหลังให้มันบินออกไป ทางเดิมที่มันบินเข้ามานั่นเองแหละ ประตูขนาด 1x 2 เมตร กว้างมากพอสำหรับนกตัวเล็กๆ ผมก้มหยิบมันไว้ในอุ้งมือ มันไม่บินหนี อาจเพราะมันบินทั้งวันแล้ว เรี่ยวแรงทั้งหมดของนกตัวเล็กๆ คงหมดไปตั้งแต่กลางวัน
“คุณจะปล่อยมันออกไปหรือ”
“ปล่อยออกไป มันจะเป็นเหยื่อของแมว เพราะมันยังไม่มีแรงพอจะบินหนี” ผมนั่งมอง มันนอนนิ่งไม่ไหวติง ความเงียบเป็นเพื่อนเรา เสียงของลมหายใจเท่านั้นที่ได้ยิน
“คุณทำอะไรในวันหยุดคะ” เธอตั้งคำถาม เมื่อความเงียบเดินเล่นนานเกินไป
“ดูหนัง อ่านหนังสือ เขียนเรื่องสั้น ไปโรงเรียนตาบอด”
“คุณเป็นอาสาสมัครของที่นั่นเหรอคะ”
“เป็น แต่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับใครนัก ผมมักไปนั่งอยู่เป็นเพื่อนเด็กๆ มากกว่าที่จะสอนการบ้านหรืออ่านหนังสือให้ฟัง นอกจากอยากจะเล่า ผมจะนึกถึงหนังสือเล่มล่าสุดที่อ่านและเล่าเรื่องในนั้นให้เด็กบางคนฟัง เด็กที่ชอบวิชาประวัติศาสตร์ไทยเพิ่งจบมัธยมปลายและไปเรียนต่อที่จังหวัดอื่นแล้ว”
“ชีวิตคุณดูไม่ค่อยมีเรื่องตื่นเต้นนะคะ”
“ระยะหลังนี้ผมจะใช้ชีวิตในแบบที่จำเจมากขึ้น เช้าไปทำงาน เลิกงาน กด Pause ให้กับเครื่องยนต์ชีวิต ไม่จำเป็นจะไม่คิด ไม่พยายามคิด เพราะหลังจาก 17.00 คือเวลาคิดเรื่องอื่น, คลับคล้ายจะทำตัวเหมือนหุ่นยนต์เข้าไปทุกที เสาร์ อาทิตย์ มีเพียงบางสัปดาห์เท่านั้นที่ไปโรงเรียนตาบอด ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ไปทุกสัปดาห์ ไม่ใช่ระยะทางที่ไกลขึ้น แต่เพราะอยู่ติดบ้านมากขึ้น”
“แล้วระยะแรกของคุณเป็นยังไงเหรอคะ”
“มีคนรัก แล้วเธอก็จากไป”
“ทำไมเธอถึงจากไป”
“เธอบอกว่า ผมเป็นสิ่งมีชีวิตที่เข้าใจยากที่สุดในโลก อันที่จริงมันเป็นข้ออ้างที่ผมไม่มีทางอธิบายได้มากกว่า สิ่งมีชีวิตที่เข้าใจยากที่สุดในโลกคืออะไร คุณอธิบายได้บ้างไหม”
“ไม่รู้สิคะ ฉันไม่เคยคิดจะทำความเข้าใจกับสิ่งที่เข้าใจยากเกินความสามารถของตัวเอง”
“นั่นแหละคำตอบ... เธอไม่คิดจะเข้าใจผมต่างหาก”
“แล้วเธอก็จากคุณไป”
“ใช่ แล้วเธอก็จากผมไป กาแฟหน่อยไหม มันจะช่วยให้อุ่นขึ้น” เสื้อผ้าเธอเปียกชื้น และมันยังเปียกอยู่ เธอไม่คิดจะเปลี่ยนชุด เพราะผมเองก็ไม่มีชุดให้เธอเปลี่ยน เราอยู่ในสภาพเดียวกัน เสื้อผ้าชื้นฝน หนาวเย็น แต่ไม่มีใครปริปาก
“ดีเหมือนกัน คุณจะลำบากใจไหมถ้าฉันจะถามเรื่องความรักของคุณ”
“ไม่เลย ยินดี ไม่มีใครถามผมเรื่องนี้มานานแล้ว”
“ทำไมคุณรักเธอ”
“เธอเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในชีวิตผม เธอทำให้ผมรู้สึกมือสั่นขณะที่กดเบอร์โทรศัพท์ไปหาเธอ และหัวใจเต้นแรงทุกครั้งที่เจอหน้า ผมรู้เลยว่าเธอคือคนที่ผมจะต้องร่วมใช้ชีวิตไปด้วยกัน”
“น่าเศร้าใจกับความรักที่ไม่สมหวัง”
“ใช่ มันน่าเศร้าเกินกว่าจะทำใจได้ในระยะเวลาอันสั้น”
“ฉันเดาว่าเธอเก็บเสื้อผ้าลงกระเป๋าและไปกับผู้ชายอีกคนที่รออยู่ในรถยุโรปราคาแพง”
“เปล่า...เธอตกจากชั้นสิบแปด จากตรงนี้ระเบียงนี่”
และในเช้าของวันถัดมาหนังสือในหมวดแปดเก้าห้าจุดหก (895.6) “ญี่ปุ่น” ยังวางอยู่ที่เดิมของมัน ไม่มีแม้เงาของแปดสิบยี่สิบ เธอไม่ได้ไปที่ห้องสมุดอีกเลยนับแต่นั้น เธอยังเป็นพนักงานในจำนวนหนึ่งพันสองร้อยคน (1,200) ขององค์กร เพียงแต่เธอไม่อยากเป็นคนที่ตกจากระเบียงชั้นสิบแปด.../
ปล.เรื่องสั้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๐
เผื่อบางทีจะทำให้มีกำลังใจอยากเขียนอีกครั้ง....
เรื่องสั้น : ศูนย์สี่หนึ่งหก
ดาริกามณี
ฝักบัวหลวงแห้งสีน้ำตาลหม่นเสียบอยู่ในก้านยาวของสายบัวแห้งยาวราวครึ่งเมตร ปักอยู่ในแจกันไม้ไผ่ลำขนาดท่อนแขน ปลายด้านหนึ่งผ่าสี่ซีกถึงปล้องกลางขัดกันไว้ด้วยไม้ไผ่เหลาท่อนเล็กเท่านิ้วก้อยเป็นขาตั้ง คู่กับดอกบัวแห้งเป็นใบลานแห้งสีขาว น้ำมันหอมกลิ่นยูคาลิปตัสกรุ่นกำจาย
ผมนั่งมองอย่างชื่นชมราวกับว่านั่นคือศิลปะล้ำเลิศจากฝีมือประติมากรเอกของโลก ผมไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่มีมิตรสหายคนสนิทในที่ทำงาน ผมชอบเดินก้มหน้า นับก้าวการเดินของตัวเอง จากห้องสมุดเดินไปสำนักงานกลาง หนึ่งพันสามร้อยห้าสิบก้าว (1,350) ไปโรงอาหารหนึ่งพันสิบก้าว (1,010) และเมื่อถูกถามว่ากำลังจะไปไหน ผมมักตอบว่า ไปเดินเล่น ทั้งที่เป็นเวลางาน ไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงแล้วผมกำลังไปไหน บางครั้งอาจกำลังไปประชุม บางทีอาจกำลังไปติดต่อกับอีกแผนกหนึ่ง – ขณะอยู่ในเวลางานผมไม่เคยไปเดินเล่นจริงๆ สักครั้ง
ผู้คนทึกทักกันเองว่าผมเป็นคนไร้มนุษยสัมพันธ์ นั่นเพราะโลกของผมสวยงามพอแล้ว ผมรักในงานที่ทำ ห้องสมุดเล็กๆ ที่ผมมักเรียกมันว่า วันเดอร์แลนด์ไลบรารี่ ผมเป็นบรรณารักษ์คนเดียวของที่นี่ หน้าที่หลักคืองานบริการและงานเทคนิคห้องสมุด ห้องสมุดแห่งนี้ไม่มีวารสาร นิตยสาร ไม่มีซีดี-รอม คอมพิวเตอร์สำหรับสืบค้น ไม่มีไมโครฟิล์ม ไมโครฟิช เทปคาสเส็ต มัลติมีเดียซีดี สไลด์ แผนที่ หรือแม้แต่หนังสือพิมพ์ สามทางที่จะค้นหนังสือในห้องสมุด หนึ่ง ค้นจากตู้บัตรรายการซึ่งเป็นตู้ไม้ ขนาดบัตร 4x 6 นิ้ว สอง เดินหาด้วยตัวเองจากชั้นหนังสือร่วมร้อย และสุดท้ายคือถามบรรณารักษ์ ซึ่งผู้ใช้บริการเกือบทุกคนมักใช้ตัวเลือกหลังสุด “วันเดอร์แลนด์ไลบรารี่” เป็นห้องสมุดที่มีหนังสือสองหมื่นเจ็ดพันเล่ม (27,000)
ฝักของบัวหลวงก้านนั้นผมเดินลุยน้ำในบ่อข้างห้องสมุดลงไปเก็บมันขึ้นมา ซึ่งนอกจากบ่อน้ำที่ถูกปูเต็มด้วยใบและดอกของบัวสีขาวแล้วอีกด้านหนึ่งยังเป็นแม่น้ำสายเล็กๆ ที่ไหลเอื่อยช้า แต่ใสจนแลเห็นถึงก้นน้ำ ข้างแม่น้ำเป็นกอสละสูงท่วมหัวที่ไม่ออกผล ส่วนใบลานนั้นเป็นเศษใบไม้ที่ใครสักคนทำหล่นไว้บนทางเดินที่ปูด้วยก้อนหินแม่น้ำจากห้องสมุดไปสู่ประตูสำนักงานใหญ่ที่ไกลถึงเกือบกิโลเมตร
ผมอ่านหนังสือในห้องสมุดเพียงหนึ่งในเจ็ดของทั้งหมด ผมจะอ่านให้จบเล่มหนึ่งแล้วจึงอ่านเล่มถัดกันบนชั้นหนังสือ เล่มที่ยังอ่านไม่จบนั้นไม่มีที่คั่นหนังสือแต่อย่างใด เพราะผมจำเลขหน้าสุดท้ายที่อ่านค้างไว้ ผมเริ่มต้นอ่านหนังสือในหมวดหมู่เก้าร้อย (900) เล่มล่าสุดคือ ประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หน้าสามร้อยเจ็ดสิบ (370)
เธอเป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งในจำนวนเจ้าหน้าที่หนึ่งพันสองร้อย (1,200) คนของหน่วยงาน เธอเป็นพนักงานที่ผมไม่รู้ระดับ พนักงานทุกคนไม่มีระดับ ทุกคนมีเพียงตัวเลขสี่ตัวเพื่อยืนยันสถานะ รหัสของเธอคือ แปดศูนย์สองศูนย์ ไม่ใช่แปดพันยี่สิบ แต่เป็นแปดสิบยี่สิบ (8020)
“สวัสดี ศูนย์สี่หนึ่งหก (0416) ฉันเอาประเทศรัสเซียมาคืน” นั่นคือเลขรหัสของผม เธอยิ้มให้ วางหนังสือทั้งหมดลงบนเคาน์เตอร์ยืม-คืน วรรณกรรมรัสเซียทั้งที่เป็นรัสเซียและที่ยังเป็นโซเวียต ฉบับแปลภาษาอังกฤษ และภาษาไทยนับสิบเล่มไล่เรียงนับแต่ ลีโอ ตอลสตอย - แม็กซิม กอร์กี้ - แอนเดร พลาโทนอฟ - ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี - อีวาน บูนิน - อันตัน เชคอฟ - ลีโอนิค เพอโวมายสกี - อเล็กซานเดอร์ ฟาเดเยฟ และคนอื่นๆ อีกสองสามคน รวมหนังสือหลายสิบเล่ม เธอมักยืมหนังสือวรรณกรรม โดยยึดเอาเชื้อชาติของผู้เขียน ไม่ใช่ชื่อเรื่อง หรือชื่อผู้แต่ง
“จะอ่านญี่ปุ่น” ผมไม่พูดจา แต่เดินไปที่ชั้นหนังสือไล่นิ้วหยิบบนชั้นมาให้ ครึ่งหนึ่งนั้นเป็นของนักเขียนชื่อ มุราคามิ ฮารุกิ เกือบทุกเล่ม Dance Dance Dance, Hear the Wind Sing, Pinball, Norwegian Wood, A Wild Sheep Chase, Hard boiled Wonderland, Sputnik Sweet heart, After the quake, South of the border –west of the sun, The wind-up Bird chronicle, The Elephant Vanishes และ Kafka on the shore ที่นี่จัดหมวดหมู่หนังสือด้วยระบบทศนิยมของดิวอี้ วรรณกรรมทั้งสิ้นอยู่ที่หมวดหมู่แปดร้อย (800) โดยแบ่งย่อยตามเลขของภาษาและภูมิศาสตร์อีกครั้ง เช่น วรรณกรรมไทยคือแปดเก้าห้าจุดเก้าหนึ่งสาม (895.913) ไม่ให้เลขหมู่ว่า นว. (นวนิยาย)
ผมไม่รู้จักเธอ และจะไม่รู้จักถ้าหากฝนไม่ตกลงมาและดอกบัวในสระหุบกลีบหลบฝน สายฝนที่หล่นจากเมฆก้อนอ้วนกำลังสาดสายลงมาราวกับว่าถูกใครเจาะเป็นรูพรุน
“โลกของมุราคามิ กับโลกของพวกเราอาจแตกต่างกันบ้างแต่คู่ขนานกันไป ถ้าหลุดเข้าไปในโลกของเขาแล้ว อย่าลืมกลับออกมานะ”
“อย่างนั้นเลยหรือ ชักน่าสนใจ”
“ผมเคยเข้าใจว่าตัวเองเป็นตัวละครใน คาฟกา ออนเดอะฌอร์ เพราะตัวละครเอกใช้ชีวิตในห้องสมุด”
“น่าสนุกดีนะคะ ได้อ่านหนังสือทั้งวัน”
“ถ้าได้อ่านเล่มที่ชอบก็จะสนุก แต่โดยหน้าที่ ผมจำเป็นต้องอ่านทุกเล่มถึงแม้จะรู้สึกเหมือนกำลังกลืนยาขมลงคอไปก็ตาม”
สายฝนที่เริ่มเปาะแปะ และเทลงมาอย่างรวดเร็วในไม่ช้า
“แย่จัง ฉันจะกลับยังไงเนี่ย หนังสือต้องเปียกฝนแน่ๆ”
“รอให้ฝนหยุดค่อยกลับ”
“แต่ฉันจะไปไม่ทันรถรับ-ส่ง” ผมนิ่งเงียบ รอการตัดสินใจของเธอ อึดใจเดียวเธอจึงเอ่ยปาก
“ช่างเถอะ ฉันกลับแท็กซี่ก็ได้” และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นแห่งการก่อร่างสร้างตัวของมิตรภาพระหว่าง ศูนย์สี่หนึ่งหก (0416) กับแปดสิบยี่สิบ (8020)
“ผมจะพาคุณเดินดูหนังสือแต่ละชั้น คราวต่อไป คุณจะเพลินกับการได้เลือกหนังสือด้วยตัวเอง”
“ตรงนี้เป็นประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์หมวดเก้าร้อย เล่มนี้ ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วเล่มนี้ สยามประเทศ ส่วนเล่มนี้น่าสนใจมาก จดหมายเหตุลาลูแบร์ คุณจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบไม่น่าเบื่อจากหนังสือเหล่านี้ และหากคุณต้องการหาวรรณกรรมประเทศต่างๆ จะอยู่ตรงนี้ ในหมวดหมู่ของวรรณกรรมจะไม่ได้เรียงตามประเทศแต่เรียงตามอักษรผู้แต่ง ดังนั้น มุราคามิ กับ แม็กซิม อาจจะอยู่ใกล้กัน คุณสนใจพุทธศาสนาไหม เล่มใหม่ของที่นี่เป็นหนังสือชุดหนึ่งร้อยปีพุทธทาสภิกขุ”
“อืมม์ คุณจำได้ทุกเล่มไหม ว่าเล่มไหนต้องอยู่ตรงไหน”
“เกือบทุกเล่ม จากเลขเรียกหนังสือในเล่ม จะมีเลขทะเบียนซึ่งบอกจำนวนหนังสือในห้องสมุด เลขหมู่หนังสือ ซึ่งจะบอกว่าหนังสือเล่มนั้นจะถูกจัดวางไว้ตรงไหนของห้องสมุด และเลขฉบับ จะบอกว่าในห้องสมุดมีหนังสือชื่อเดียวกันกี่ก๊อบปี้ และเลขอื่นๆ เป็นสัญลักษณ์สำหรับบรรณารักษ์ในการจัดการกับหนังสือ”
“ฉันไม่เคยรู้ ทุกครั้งที่เข้าห้องสมุด ก็ต้องเดินไปหาบรรณารักษ์”
“ใครๆ ก็มักทำอย่างนั้น”
“คราวหลังฉันจะหาหนังสือเองบ้าง”
“ถ้าไม่เจอแล้วค่อยเดินมาถาม” สายฝนเป็นใจ เวลาล่วงไปค่อนค่ำ เธอยังกลับไม่ได้ หน่วยรักษาความปลอดภัยเริ่มเปิดไฟทางเดิน ไฟระหว่างอาคาร และเดินสำรวจความปลอดภัยในชุดกันฝน พวกเขาเดินมาจนถึงห้องสมุด
“ได้เวลาปิดแล้วครับผม” สามเจ็ดหกหก (3766) เป็นชื่อของเขา เราต้องทำตาม เพราะหน่วยรักษาความปลอดภัยมีอำนาจสูงส่ง มีสิทธิ์ออกคำสั่งได้กับทุกคนเสมือนพนักงานทุกคนเป็นมดตัวเล็กๆ ที่พวกเขาจะบี้บดให้เหลือเพียงซากปลิวหายไปในลมก็ย่อมทำได้ พนักงานรักษาความปลอดภัยเป็นหน้าที่เดียวที่มีระดับ แต่กระนั้นก็ดี ผมก็ยังไม่อาจรู้ได้ว่าสามเจ็ดหกหก (3766) เป็นหัวหน้าหรือเป็นรองหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย
“ไปที่ห้องพักของผมไหม เดินจากที่นี่สี่พันสองร้อยก้าว” (4,200) เธอทำหน้าแปลกใจ ผมไม่แน่ใจว่าสำหรับเธอแล้ว มันไกลไปหรือเปล่า หนังสือยังวางอยู่ที่ห้องสมุด เราไม่อาจทำใจได้หากมันต้องเปียกฝนและพองเป็นสองเท่าเมื่อมันแห้งลง ผมพาเธอเดินตากฝนมายังห้องพักซึ่งอยู่ที่ชั้นสิบแปด (18) ของอพาร์ทเมนต์
นกตัวนั้นนิ่งสนิทที่มุมหนึ่งของห้อง มันเป็นนกตัวเดียวกับเมื่อเช้าที่ทะเล่อทะล่าบินเข้ามาในห้องแล้วหาทางออกไม่ได้ ทั้งๆ ที่ผมเปิดประตูหลังให้มันบินออกไป ทางเดิมที่มันบินเข้ามานั่นเองแหละ ประตูขนาด 1x 2 เมตร กว้างมากพอสำหรับนกตัวเล็กๆ ผมก้มหยิบมันไว้ในอุ้งมือ มันไม่บินหนี อาจเพราะมันบินทั้งวันแล้ว เรี่ยวแรงทั้งหมดของนกตัวเล็กๆ คงหมดไปตั้งแต่กลางวัน
“คุณจะปล่อยมันออกไปหรือ”
“ปล่อยออกไป มันจะเป็นเหยื่อของแมว เพราะมันยังไม่มีแรงพอจะบินหนี” ผมนั่งมอง มันนอนนิ่งไม่ไหวติง ความเงียบเป็นเพื่อนเรา เสียงของลมหายใจเท่านั้นที่ได้ยิน
“คุณทำอะไรในวันหยุดคะ” เธอตั้งคำถาม เมื่อความเงียบเดินเล่นนานเกินไป
“ดูหนัง อ่านหนังสือ เขียนเรื่องสั้น ไปโรงเรียนตาบอด”
“คุณเป็นอาสาสมัครของที่นั่นเหรอคะ”
“เป็น แต่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับใครนัก ผมมักไปนั่งอยู่เป็นเพื่อนเด็กๆ มากกว่าที่จะสอนการบ้านหรืออ่านหนังสือให้ฟัง นอกจากอยากจะเล่า ผมจะนึกถึงหนังสือเล่มล่าสุดที่อ่านและเล่าเรื่องในนั้นให้เด็กบางคนฟัง เด็กที่ชอบวิชาประวัติศาสตร์ไทยเพิ่งจบมัธยมปลายและไปเรียนต่อที่จังหวัดอื่นแล้ว”
“ชีวิตคุณดูไม่ค่อยมีเรื่องตื่นเต้นนะคะ”
“ระยะหลังนี้ผมจะใช้ชีวิตในแบบที่จำเจมากขึ้น เช้าไปทำงาน เลิกงาน กด Pause ให้กับเครื่องยนต์ชีวิต ไม่จำเป็นจะไม่คิด ไม่พยายามคิด เพราะหลังจาก 17.00 คือเวลาคิดเรื่องอื่น, คลับคล้ายจะทำตัวเหมือนหุ่นยนต์เข้าไปทุกที เสาร์ อาทิตย์ มีเพียงบางสัปดาห์เท่านั้นที่ไปโรงเรียนตาบอด ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ไปทุกสัปดาห์ ไม่ใช่ระยะทางที่ไกลขึ้น แต่เพราะอยู่ติดบ้านมากขึ้น”
“แล้วระยะแรกของคุณเป็นยังไงเหรอคะ”
“มีคนรัก แล้วเธอก็จากไป”
“ทำไมเธอถึงจากไป”
“เธอบอกว่า ผมเป็นสิ่งมีชีวิตที่เข้าใจยากที่สุดในโลก อันที่จริงมันเป็นข้ออ้างที่ผมไม่มีทางอธิบายได้มากกว่า สิ่งมีชีวิตที่เข้าใจยากที่สุดในโลกคืออะไร คุณอธิบายได้บ้างไหม”
“ไม่รู้สิคะ ฉันไม่เคยคิดจะทำความเข้าใจกับสิ่งที่เข้าใจยากเกินความสามารถของตัวเอง”
“นั่นแหละคำตอบ... เธอไม่คิดจะเข้าใจผมต่างหาก”
“แล้วเธอก็จากคุณไป”
“ใช่ แล้วเธอก็จากผมไป กาแฟหน่อยไหม มันจะช่วยให้อุ่นขึ้น” เสื้อผ้าเธอเปียกชื้น และมันยังเปียกอยู่ เธอไม่คิดจะเปลี่ยนชุด เพราะผมเองก็ไม่มีชุดให้เธอเปลี่ยน เราอยู่ในสภาพเดียวกัน เสื้อผ้าชื้นฝน หนาวเย็น แต่ไม่มีใครปริปาก
“ดีเหมือนกัน คุณจะลำบากใจไหมถ้าฉันจะถามเรื่องความรักของคุณ”
“ไม่เลย ยินดี ไม่มีใครถามผมเรื่องนี้มานานแล้ว”
“ทำไมคุณรักเธอ”
“เธอเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในชีวิตผม เธอทำให้ผมรู้สึกมือสั่นขณะที่กดเบอร์โทรศัพท์ไปหาเธอ และหัวใจเต้นแรงทุกครั้งที่เจอหน้า ผมรู้เลยว่าเธอคือคนที่ผมจะต้องร่วมใช้ชีวิตไปด้วยกัน”
“น่าเศร้าใจกับความรักที่ไม่สมหวัง”
“ใช่ มันน่าเศร้าเกินกว่าจะทำใจได้ในระยะเวลาอันสั้น”
“ฉันเดาว่าเธอเก็บเสื้อผ้าลงกระเป๋าและไปกับผู้ชายอีกคนที่รออยู่ในรถยุโรปราคาแพง”
“เปล่า...เธอตกจากชั้นสิบแปด จากตรงนี้ระเบียงนี่”
และในเช้าของวันถัดมาหนังสือในหมวดแปดเก้าห้าจุดหก (895.6) “ญี่ปุ่น” ยังวางอยู่ที่เดิมของมัน ไม่มีแม้เงาของแปดสิบยี่สิบ เธอไม่ได้ไปที่ห้องสมุดอีกเลยนับแต่นั้น เธอยังเป็นพนักงานในจำนวนหนึ่งพันสองร้อยคน (1,200) ขององค์กร เพียงแต่เธอไม่อยากเป็นคนที่ตกจากระเบียงชั้นสิบแปด.../
ปล.เรื่องสั้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๐
เผื่อบางทีจะทำให้มีกำลังใจอยากเขียนอีกครั้ง....