บทที่ ๗
http://ppantip.com/topic/31089731
(ขอบคุณทุกเสียง ทุกความรู้สึก ที่ส่งผ่านมาถึงผู้เขียนเรื่องนี้)
บทที่ ๘
ยุพินกล่าวคำลาพ่อปู่บัวออกจากห้องพิธีกรรมอย่างเงียบ ๆ แม้ในใจรู้สึกพะวงกับเหตุการณ์ถ้วยชาแตกอยู่บ้าง แต่หล่อนก็ระงับอาการเก็บความรู้สึกลุกจากมาโดยมิได้เอื้อนเอ่ยอะไร ด้วยเกรงเป็นที่ขัดเคืองใจอีกฝ่ายซึ่งเขาเองยังคงความสงบอยู่ได้เพียงหยิบผ้าผืนหนึ่งวางซับน้ำชาบนพื้นพลางเช็ดทำความสะอาดด้วยสีหน้าท่าทางเป็นปกติ
มณีวรรณเดินนิ่วหน้าตามหลังยุพินไปติด ๆ โดยไม่พูดอะไรเช่นเดียวกัน จนถึงเชิงบันไดก็จับแขนเพื่อนสูงวัยถามเรียบ ๆ แต่สีหน้าจริงจัง
“พินจ้ะ เรื่องนี้เธอคิดว่ายังไง”
“เอ...เรื่องไหนนะ เธอไม่ขึ้นหัวข้อฉันก็ตอบไม่ถูกน่ะซี” ยุพินแกล้งรวนไปอย่างนั้น หล่อนพอเดาใจมณีวรรณได้ว่าตั้งกระทู้ถามเรื่องอะไร
“ก็ถ้วยชาแตกเพล้งต่อหน้าต่อตา อย่าบอกนะว่าเธอไม่รู้สึกอะไรเลยสักนิด”
“ฉันยังคิดไม่ตกอยู่นี่ละ จะถือว่าเป็นลางไม่ดีอะไรหรือเปล่า” แม้ยุพินไม่ได้เป็นคนเชื่อถือโชคลางอะไรนัก แต่มาเจอเหตุการณ์แบบนี้ในตำหนักคนทรง ทำให้หล่อนอดคิดไปทำนองนั้นไม่ได้
“งั้นเธอก็คิดเหมือนฉัน”
“แต่พ่อปู่ไม่ได้พูดอะไร หรือน้ำชาร้อนจัดจนถ้วยแตกเราก็ไม่รู้นะ” ยุพินพยายามคิดไปในทางที่ดี
“ขอให้เป็นยังงั้นเถอะ สาธุ” มณีวรรณประนมมือระดับอกแล้วยกขึ้นจรดหน้าผาก “ขอบารมีพ่อปู่บัวคุ้มครอง”
ยุพินแลเห็นเพื่อนไม่พูดอะไรต่อจึงเงียบไปเช่นเดียวกัน ออกเดินต่อพลางสูดกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของหมู่ไม้พุ่มข้างทาง ทำใจให้ปลอดโปร่งจากความวิตกกังวลต่าง ๆ จนเข้าไปนั่งในรถแล้วหล่อนก็เริ่มสนทนาเรื่องอื่นที่อยากรู้
“วรรณ เธอรู้มั้ยว่าทำไมถึงเรียกท่านว่าพ่อปู่บัว”
“องค์ท่านเป็นกุมาร ชื่อบัว” มณีวรรณบอกเสียงเรียบ ดูกระจกมองหลังพลางถอยรถออกจากที่จอด
“อ๋อ...ฉันพอเข้าใจแล้ว” ยุพินพยักหน้าหงึก ๆ ครางรับรู้ “คนทรงสูงอายุ ก็เลยเรียกรวมกันว่าพ่อปู่บัว”
“ท่านทรงมาหลายสิบปีแล้วนะ อาจจะเรียกกันด้วยความเคารพ”
“ดูพ่อปู่อยู่แบบสมถะดีนะ บ้านเรือนออกใหญ่โตแต่ไม่ประดับตกแต่งอะไรมากมาย”
มณีวรรณหมุนพวงมาลัยตั้งลำรถได้ในทิศทางตรงแล้วพารถเคลื่อนผ่านประตูรั้วออกไปช้า ๆ
“คนปฏิบัติก็แบบนี้ละมั้ง พ่อปู่นุ่งชุดขาวตลอดนะ ปฏิบัติอยู่บ้าน ไม่ได้ไปอยู่วัดอะไรหรอก”
“บวชอยู่ที่บ้านไงเธอ” ยุพินบอก
“สรุปว่าวันนี้ฉันพาเธอมาถูกที่มั้ย” มณีวรรณตั้งคำถามใหม่
“ถูกต้องตรงเผงเชียวแหละเธอเอ๋ย” ยุพินตอบยิ้ม ๆ “เธอก็เห็นอยู่ว่าฉันยังไม่ได้พูดอะไรเลย แค่จุดธูปบอกเล่าปัญหาอยู่ในใจ แต่พ่อปู่ทักมาเป็นช่องเลยเชียว ทำฉันงงจนพูดไม่ออก”
“ทีนี้เธอคงไม่ว่าฉันงมงายไร้สาระแล้วนะ” มณีวรรณว่าพลางชายตามองเพื่อน “ของไม่เห็นตัวนี่ใครไม่เชื่อแต่ฉันเชื่อ ก็คิดดูซีว่าน่าแปลกดีมั้ย ทำไมร่างทรงพูดออกมาได้เหมือนเป็นคนอยู่ร่วมบ้านกับเรา ทั้งที่ไม่ใช่คนละแวกบ้านเราแท้ ๆ แต่กลับรู้ปัญหาในครอบครัวเราซะได้”
“น่าแปลกมากเชียวละ” ยุพินพูดทอดเสียง
“ข้อนี้ฉันก็ไม่รู้จริงเท็จเป็นยังไงหรอกนะ แต่บางคนพูดกันว่า คนเรามีเทพประจำตัวใช่มั้ย ท่านเห็นความดีความชั่ว เห็นปัญหาของเราอยู่ เวลาเราเข้าไปหาคนทรงน่ะ องค์เทพท่านถามไถ่กัน คนอย่างเรา ๆ ก็เลยไม่ต้องพูดอะไรมาก”
“ก็เป็นความเชื่อเฉพาะบุคคลนะ วรรณ” ยุพินบอกเรียบ ๆ “แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคน”
มณีวรรณนิ่งไปครู่ใหญ่เพราะขับรถไปถึงปากซอยออกสู่ถนนใหญ่ หยุดรถเหลียวซ้ายแลขวารอจนถนนว่างจึงพารถแล่นออกไป แล้วสนทนาต่อ
“ไปหาคนทรงก็คล้าย ๆ ไปเช่าบูชาพระเครื่องอยู่นะเธอ” มณีวรรณเปรียบเทียบ
ยุพินฟังแล้วเหลียวมองหน้าเพื่อนด้วยความฉงน โดยไม่ทันถามอะไรอีกฝ่ายก็ขยายความให้เสร็จสรรพ
“พระเครื่องมีแท้มีปลอมใช่มั้ย คนทรงก็มีจริงมีปลอมเหมือนกัน ประมาณว่าเจ้าสำนักเป็นคนมีจิตวิทยาสูง มีคำถามนำเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้คนที่ไปหาเล่าต่อออกมาเอง แล้วทีนี้ก็มีการพูดเดาว่าเกิดปัญหานั้นนี้เดาทางไป ไม่มีองค์เทพอะไรหรอก”
“ฉันว่าคนที่เดินเข้าสำนักทรงก็มีปัญหาแก้ไม่ตกด้วยกันทั้งนั้นละ เรื่องไหนแค่นั้นเอง”
“มันก็แบบนั้นสิเธอ” มณีวรรณรีบบอก หัวคิ้วย่นไปครู่หนึ่งแล้วคลายเป็นปกติ “เอ...จะว่าไปสำนักทรงก็คล้ายคลินิกรักษาไข้อยู่นะ หมอจริงมี หมอปลอมมี คนไข้ก็ต้องเลือกดูดี ๆ ไม่งั้นละเจ็บหนักกว่าเก่า เสียเงินเสียใจหนักขึ้นไปอีก”
ยุพินหัวเราะกับความช่างพูดช่างเปรียบเทียบของเพื่อน ฝ่ายมณีวรรณหยุดทำเสียงถอนใจดัง ๆ แล้วกล่าวขึ้นอีก
“เป็นคนนี่ยุ่งนัก ที่จนก็อยากรวย ที่รวยแล้วก็อยากรวยมากขึ้นอีก ฉันเคยเจอผู้หญิงแต่งตัวดีมีสง่าราศี เหมือนคุณหญิงคุณนาย วิ่งเข้าสำนักทรงอยู่บ่อยไป ก็ไม่ได้มีปัญหาชีวิตอะไรหรอก ครอบครัวลูกผัวดีหมด แต่อิฉันอยากรวยเพิ่มเลยมาขอเลขขอหวยหวังรวยทางลัด”
ยุพินฟังแล้วถึงกับส่ายหน้า แต่หล่อนก็เห็นเป็นเรื่องธรรมดาของ ‘คน’ ไปเสียแล้ว โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้จักความพอดีและพอใจตามอัตภาพของตน ซึ่งเขาเหล่านั้นคงต้องแหวกว่ายเวียนวนอยู่ในกระแสธารแห่ง ‘ความอยาก’ อันไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด
“เราแก่ซะแล้วเลยอยากน้อยลงละมัง ถึงวันถึงวัยช่วงหนึ่งคงหมดความอยากได้ใคร่ดีตามสังขาร เพราะถึงอยากแค่ไหนแต่สังขารมันไม่อำนวยให้เราทำตามใจอยากได้” ยุพินพูดเนือย ๆ อย่างคนปลงชีวิต
“ว่าไม่ได้นะเธอ” มณีวรรณละสายตาจากถนนเบื้องหน้ามองเพื่อนแวบหนึ่ง “หมดทุกข์เรื่องอยากเสร็จแล้ว ก็มาทุกข์เรื่องความไม่อยากต่อไงล่ะ ที่แก่ลงหย่อนลงก็ไม่อยากแก่ ให้หมอตัดตรงโน้นดึงตรงนี้ให้มันดูเต่งตึง ฉันเคยเห็นนะ บางคนยิ้มทีนึงมุมปากแทบจะถึงใบหู เป็นฉันคงไม่กล้าส่องกระจกดูหน้าตัวเอง กลัว ๆ หลอน ๆ ชอบกลน่ะ”
“แหม ช่างว่าเขานะ ถึงทีตัวเองบ้างระวังให้ดี” ยุพินพูดกลั้วหัวเราะ
“โอ๊ย ฉันไม่ทำเด็ดขาด สวยงามตามวัยก็ดีแล้ว แก่อย่างสง่า ชราอย่างสงบ” มณีวรรณเชิดหน้าเล็กน้อยด้วยรอยยิ้มกว้าง
ยุพินนึกไปถึงดอกไม้หลากสีสวยงาม ยามแรกแย้มเบ่งบานล้วนแต่เป็นที่ต้องตาต้องใจผู้พบเห็น หมู่ภมรพากันบินตอมเสพความหอมหวาน แต่อนิจจา เมื่อถึงเวลาดอกไม้เหี่ยวเฉา กลับกลายเป็นที่ไม่จำเริญหูจำเริญตาแก่ใคร ดอกใบเคยตัดประดับแจกันเป็นกลุ่มพุ่มสวยงาม ยามร่วงโรยเขาก็จับโยนทิ้งถังขยะโดยปราศจากความอาลัย
ชีวิตดั่งดอกไม้...โรยราแล้วไม่มีใครต้องการ
“แล้วเธอจะพาลูกมาหาพ่อปู่วันไหน” มณีวรรณถามหลังจากต่างคนต่างเงียบกันไปครู่ใหญ่
“ฉันตั้งใจว่าวันเสาร์ รอให้หยุดงานจะได้ไปแบบสบาย ๆ ไม่ต้องรีบร้อนอะไร”
“วันนี้วันพฤหัสฯแล้ว รอสักวันสองวันคงไม่เป็นไร พ่อปู่ก็ว่าจะกำราบวิญญาณนั้นช่วยอีกทางนี่นะ”
“ได้เธอช่วยแนะนำและเป็นธุระให้หรอกนะ ฉันถึงนั่งเบาใจอยู่แบบนี้ได้ ขอบใจมากนะวรรณ” หล่อนเอียงศีรษะพิงเบาะมองเพื่อนด้วยความตื้นตันใจ
“ฉันไปไหนไม่มีใครก็ได้เธอไปเป็นเพื่อนตลอด ต้องขอบใจเธอเหมือนกันจ้ะ” มณีวรรณหันไปสบตาเพื่อนด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม “แล้ววันเสาร์จะให้ฉันไปด้วยมั้ย”
“ถ้าเธอว่างฉันก็จองตัวไว้ตรงนี้เลย เดี๋ยวฉันให้ยายกัญขับรถแวะไปรับเธอที่บ้าน ไปรถคันเดียวกันสะดวกดี”
“เธอโทร.นัดเวลามานะ ฉันจะได้เตรียมตัวถูก”
เมื่อรถเก๋งสีเทาของมณีวรรณเลี้ยวเข้าซอยข้างโชว์รูมรถยนต์และผ่านปากทางเข้าวัดไทรทอง ยุพินเกิดนึกไปถึงต้นกับต่อขึ้นมาในห้วงความคิด ไม่รู้ว่าหลังไปพบแม่ชีตาเห็นแล้วจะเป็นอย่างไรกันบ้าง หล่อนดูนาฬิกาข้อมือเห็นว่าเป็นเวลา 16.20 น.จึงตัดสินใจยังไม่กลับเข้าบ้าน
“เธอแวะส่งฉันที่หน้าปากซอยนะ” หล่อนบอกเพื่อน
“อ้าว จะไปทำธุระอะไรที่ไหนอีกหรือเปล่า ฉันจะได้ขับรถให้ม้วนเดียวจบเลย” มณีวรรณถาม
“ไม่มีอะไรหรอก ฉันจะแวะคุยกับสองพี่น้องร้านก๋วยเตี๋ยว ลูกนายปิยะหน้าโรงเรียนน่ะ”
“ที่พ่อบ้านเธอแนะนำทำเลให้มาเปิดร้านใช่มั้ย นี่ก็หลายปีแล้วนะ ป่านนี้ได้แฟนมาช่วยล้างชามก๋วยเตี๋ยวแล้วละมัง”
“ยังโสดอยู่ทั้งคู่เลยจ้ะ แต่ก็เห็นสาว ๆ แอบมองอยู่เหมือนกัน” ยุพินกล่าวยิ้ม ๆ “นี่ถ้ายายกัญยังไม่มีแฟนนะ ฉันแอบเชียร์สองหนุ่มนี้อยู่เหมือนกัน นิสัยดีแถมยังขยันทำมาหากิน”
“อ้าว ลุกขึ้นมาเป็นนักจัดการชีวิตลูกนี่ไม่ใช่อะไรหรอก อยากกินก๋วยเตี๋ยวฟรีตลอดชีพว่างั้นเถอะ” มณีวรรณสัพยอก
“แหม เธอก็ว่าไปโน่น” ยุพินหัวเราะชื่นบาน หล่อนชี้สถานที่ให้เพื่อนจอดรถหน้าร้านต้นกับต่อ กล่าวร่ำลากันเสร็จแล้วเปิดประตูรถลงไปยืนมองเพื่อนกลับรถแล่นจากไป
หล่อนมองเห็นต้นยืนสวมผ้ากันเปื้อนสีเหลืองอยู่หลังรถเข็นตั้งหม้อก๋วยเตี๋ยว ส่วนต่อเช็ดโต๊ะอยู่ด้านในร้านซึ่งยังไม่มีลูกค้า
“ได้ที่หรือยังล่ะต้น” หล่อนเป็นฝ่ายเดินเข้าไปปราศรัย
“อ้าว ป้าไปไหนมาคนเดียวหรือครับ” ต้นขยับตัวออกมาถาม
ต่อมองมาที่หน้าร้านแล้วกุลีกุจอออกมาขยับเก้าอี้ต้อนรับแขกด้วยรอยยิ้ม
“เชิญนั่งก่อนครับ วันนี้รับอะไรดีคร้าบ” ต่อเชื้อเชิญ
“ตอนเย็น ๆ ป้าจะออกมาอีกทีนะต่อ นี่ไปธุระข้างนอกเลยแวะมาคุยด้วยจ้ะ” ยุพินพูดออกไปแล้วกังวลในใจเล็กน้อย กลัวว่าจะมีใครถามถึง ‘ธุระ’ ของหล่อน แต่ปรากฏว่าชายหนุ่มทั้งสองก็มีมารยาทดีพอที่จะไม่ถามเรื่องส่วนตัวของหล่อน
“ป้าจะทานอะไรเดี๋ยวผมให้ต่อเดินไปส่งให้นะครับ สั่งไว้ก่อนก็ได้” ต้นเดินถือแก้วน้ำแข็งมาวางบนโต๊ะตรงหน้ายุพิน
“ไม่ต้องลำบากขนาดนั้นหรอกจ้ะ เดี๋ยวบ้านอื่นเห็นเข้าจะเอาเป็นตัวอย่างได้ ทีนี้ต่อจะได้เดินบริการลูกค้าทั้งซอยจนหัวหมุนอยู่คนเดียว” หล่อนยิ้มน้อย ๆ ด้วยความเกรงใจ แลเห็นต่อหัวเราะเบิกบานใจจึงยกแก้วน้ำขึ้นดื่มก่อนจะสนทนาต่อ “นี่แน่ะ ป้าถามอะไรหน่อยนะหนุ่ม ๆ ไปหาแม่ชีตาเห็นกลับมาวันนั้นแล้วเป็นยังไง ดีขึ้นหรือเปล่า”
“ไม่เจอกันอีกเลยละครับ” ต่อพูด
“ป้ารู้ใช่มั้ยครับว่าต่อเขาหมายถึงอะไร” ต้นถามขรึม ๆ
ยุพินพยักหน้าช้า ๆ แสดงความเข้าใจ ต่อจึงเล่าขยายความเพิ่มเติม
“สงสัยได้น้ำมนต์ของหลวงพ่อครับ ขากลับพี่ต้นแวะเข้าไปขอมาพรมซะทั่วบ้าน”
“ไม่เจอกันก็ดีแล้วนะ เราจะได้อยู่ตามประสาของเรา” ยุพินพูดอย่างมีนัย ด้วยใจหล่อนนึกถึงความหวาดหวั่นของบุคคลในครอบครัวตัวเอง
“น้องกัญเป็นยังไงบ้างครับ” ต้นถาม
“ก็...ยังมีเจอ ๆ กันอยู่น่ะ” หล่อนตอบเสียงเบา
ต่อขมวดคิ้ว เอียงศีรษะเล็กน้อย “เอ...หรือว่าน้องกัญมีสัมผัสพิเศษมองเห็นผีได้แบบนั้นหรือเปล่าน้อ ไม่เห็นเคยพูดให้เราฟังเลยนะครับ”
“ถ้าเลือกได้ ป้าว่าขอไม่เห็นจะดีกว่านะ เพราะมาแต่ละครั้งนี่มาไม่ดีสักเท่าไหร่”
“ทำไมครับ มาแบบเละ ๆ บวม ๆ ยังงั้นหรือครับ” ต่อถามหน้าตาตื่น
“ทำนองนั้นละจ้ะ” ยุพินตั้งใจตอบให้คลุมเครือ เหม่อมองออกไปเบื้องหน้าเห็นท้องฟ้าแจ่มใสยามเย็นกลายเป็นสีเทาทึม มีลมพัดแรงเข้ามาในร้านปะทะผิวหน้าและผิวกายจนหล่อนรับรู้ถึงการขยับไหวของเส้นผม
“ต่อ เก็บโต๊ะข้างนอกก่อนดีมั้ย ฝนตั้งเค้ามาแล้ว ดูท่าจะตกจริงซะด้วย” ต้นบอกน้องชาย
“ฝนมันมีตกหลอก ๆ ด้วยหรือครับพี่” ต่อย้อนถามยิ้ม ๆ
ยุพินมองเห็นเมฆสีเทารวมตัวกันหนาแน่นขึ้นกลายเป็นสีดำแผ่ไปทั่วท้องฟ้า หล่อนรู้สึกถึงความอบอ้าวของอากาศรอบตัวพลางคิดว่าฝนคงตกเหมือนที่ต้นพูดก็เลยเอ่ยปากขอตัวกลับเข้าบ้าน
“งั้นป้าไม่อยู่รบกวนละนะ”
.................................
ผีล่ากรรม ( บทที่ ๘ )
(ขอบคุณทุกเสียง ทุกความรู้สึก ที่ส่งผ่านมาถึงผู้เขียนเรื่องนี้)
ยุพินกล่าวคำลาพ่อปู่บัวออกจากห้องพิธีกรรมอย่างเงียบ ๆ แม้ในใจรู้สึกพะวงกับเหตุการณ์ถ้วยชาแตกอยู่บ้าง แต่หล่อนก็ระงับอาการเก็บความรู้สึกลุกจากมาโดยมิได้เอื้อนเอ่ยอะไร ด้วยเกรงเป็นที่ขัดเคืองใจอีกฝ่ายซึ่งเขาเองยังคงความสงบอยู่ได้เพียงหยิบผ้าผืนหนึ่งวางซับน้ำชาบนพื้นพลางเช็ดทำความสะอาดด้วยสีหน้าท่าทางเป็นปกติ
มณีวรรณเดินนิ่วหน้าตามหลังยุพินไปติด ๆ โดยไม่พูดอะไรเช่นเดียวกัน จนถึงเชิงบันไดก็จับแขนเพื่อนสูงวัยถามเรียบ ๆ แต่สีหน้าจริงจัง
“พินจ้ะ เรื่องนี้เธอคิดว่ายังไง”
“เอ...เรื่องไหนนะ เธอไม่ขึ้นหัวข้อฉันก็ตอบไม่ถูกน่ะซี” ยุพินแกล้งรวนไปอย่างนั้น หล่อนพอเดาใจมณีวรรณได้ว่าตั้งกระทู้ถามเรื่องอะไร
“ก็ถ้วยชาแตกเพล้งต่อหน้าต่อตา อย่าบอกนะว่าเธอไม่รู้สึกอะไรเลยสักนิด”
“ฉันยังคิดไม่ตกอยู่นี่ละ จะถือว่าเป็นลางไม่ดีอะไรหรือเปล่า” แม้ยุพินไม่ได้เป็นคนเชื่อถือโชคลางอะไรนัก แต่มาเจอเหตุการณ์แบบนี้ในตำหนักคนทรง ทำให้หล่อนอดคิดไปทำนองนั้นไม่ได้
“งั้นเธอก็คิดเหมือนฉัน”
“แต่พ่อปู่ไม่ได้พูดอะไร หรือน้ำชาร้อนจัดจนถ้วยแตกเราก็ไม่รู้นะ” ยุพินพยายามคิดไปในทางที่ดี
“ขอให้เป็นยังงั้นเถอะ สาธุ” มณีวรรณประนมมือระดับอกแล้วยกขึ้นจรดหน้าผาก “ขอบารมีพ่อปู่บัวคุ้มครอง”
ยุพินแลเห็นเพื่อนไม่พูดอะไรต่อจึงเงียบไปเช่นเดียวกัน ออกเดินต่อพลางสูดกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของหมู่ไม้พุ่มข้างทาง ทำใจให้ปลอดโปร่งจากความวิตกกังวลต่าง ๆ จนเข้าไปนั่งในรถแล้วหล่อนก็เริ่มสนทนาเรื่องอื่นที่อยากรู้
“วรรณ เธอรู้มั้ยว่าทำไมถึงเรียกท่านว่าพ่อปู่บัว”
“องค์ท่านเป็นกุมาร ชื่อบัว” มณีวรรณบอกเสียงเรียบ ดูกระจกมองหลังพลางถอยรถออกจากที่จอด
“อ๋อ...ฉันพอเข้าใจแล้ว” ยุพินพยักหน้าหงึก ๆ ครางรับรู้ “คนทรงสูงอายุ ก็เลยเรียกรวมกันว่าพ่อปู่บัว”
“ท่านทรงมาหลายสิบปีแล้วนะ อาจจะเรียกกันด้วยความเคารพ”
“ดูพ่อปู่อยู่แบบสมถะดีนะ บ้านเรือนออกใหญ่โตแต่ไม่ประดับตกแต่งอะไรมากมาย”
มณีวรรณหมุนพวงมาลัยตั้งลำรถได้ในทิศทางตรงแล้วพารถเคลื่อนผ่านประตูรั้วออกไปช้า ๆ
“คนปฏิบัติก็แบบนี้ละมั้ง พ่อปู่นุ่งชุดขาวตลอดนะ ปฏิบัติอยู่บ้าน ไม่ได้ไปอยู่วัดอะไรหรอก”
“บวชอยู่ที่บ้านไงเธอ” ยุพินบอก
“สรุปว่าวันนี้ฉันพาเธอมาถูกที่มั้ย” มณีวรรณตั้งคำถามใหม่
“ถูกต้องตรงเผงเชียวแหละเธอเอ๋ย” ยุพินตอบยิ้ม ๆ “เธอก็เห็นอยู่ว่าฉันยังไม่ได้พูดอะไรเลย แค่จุดธูปบอกเล่าปัญหาอยู่ในใจ แต่พ่อปู่ทักมาเป็นช่องเลยเชียว ทำฉันงงจนพูดไม่ออก”
“ทีนี้เธอคงไม่ว่าฉันงมงายไร้สาระแล้วนะ” มณีวรรณว่าพลางชายตามองเพื่อน “ของไม่เห็นตัวนี่ใครไม่เชื่อแต่ฉันเชื่อ ก็คิดดูซีว่าน่าแปลกดีมั้ย ทำไมร่างทรงพูดออกมาได้เหมือนเป็นคนอยู่ร่วมบ้านกับเรา ทั้งที่ไม่ใช่คนละแวกบ้านเราแท้ ๆ แต่กลับรู้ปัญหาในครอบครัวเราซะได้”
“น่าแปลกมากเชียวละ” ยุพินพูดทอดเสียง
“ข้อนี้ฉันก็ไม่รู้จริงเท็จเป็นยังไงหรอกนะ แต่บางคนพูดกันว่า คนเรามีเทพประจำตัวใช่มั้ย ท่านเห็นความดีความชั่ว เห็นปัญหาของเราอยู่ เวลาเราเข้าไปหาคนทรงน่ะ องค์เทพท่านถามไถ่กัน คนอย่างเรา ๆ ก็เลยไม่ต้องพูดอะไรมาก”
“ก็เป็นความเชื่อเฉพาะบุคคลนะ วรรณ” ยุพินบอกเรียบ ๆ “แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคน”
มณีวรรณนิ่งไปครู่ใหญ่เพราะขับรถไปถึงปากซอยออกสู่ถนนใหญ่ หยุดรถเหลียวซ้ายแลขวารอจนถนนว่างจึงพารถแล่นออกไป แล้วสนทนาต่อ
“ไปหาคนทรงก็คล้าย ๆ ไปเช่าบูชาพระเครื่องอยู่นะเธอ” มณีวรรณเปรียบเทียบ
ยุพินฟังแล้วเหลียวมองหน้าเพื่อนด้วยความฉงน โดยไม่ทันถามอะไรอีกฝ่ายก็ขยายความให้เสร็จสรรพ
“พระเครื่องมีแท้มีปลอมใช่มั้ย คนทรงก็มีจริงมีปลอมเหมือนกัน ประมาณว่าเจ้าสำนักเป็นคนมีจิตวิทยาสูง มีคำถามนำเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้คนที่ไปหาเล่าต่อออกมาเอง แล้วทีนี้ก็มีการพูดเดาว่าเกิดปัญหานั้นนี้เดาทางไป ไม่มีองค์เทพอะไรหรอก”
“ฉันว่าคนที่เดินเข้าสำนักทรงก็มีปัญหาแก้ไม่ตกด้วยกันทั้งนั้นละ เรื่องไหนแค่นั้นเอง”
“มันก็แบบนั้นสิเธอ” มณีวรรณรีบบอก หัวคิ้วย่นไปครู่หนึ่งแล้วคลายเป็นปกติ “เอ...จะว่าไปสำนักทรงก็คล้ายคลินิกรักษาไข้อยู่นะ หมอจริงมี หมอปลอมมี คนไข้ก็ต้องเลือกดูดี ๆ ไม่งั้นละเจ็บหนักกว่าเก่า เสียเงินเสียใจหนักขึ้นไปอีก”
ยุพินหัวเราะกับความช่างพูดช่างเปรียบเทียบของเพื่อน ฝ่ายมณีวรรณหยุดทำเสียงถอนใจดัง ๆ แล้วกล่าวขึ้นอีก
“เป็นคนนี่ยุ่งนัก ที่จนก็อยากรวย ที่รวยแล้วก็อยากรวยมากขึ้นอีก ฉันเคยเจอผู้หญิงแต่งตัวดีมีสง่าราศี เหมือนคุณหญิงคุณนาย วิ่งเข้าสำนักทรงอยู่บ่อยไป ก็ไม่ได้มีปัญหาชีวิตอะไรหรอก ครอบครัวลูกผัวดีหมด แต่อิฉันอยากรวยเพิ่มเลยมาขอเลขขอหวยหวังรวยทางลัด”
ยุพินฟังแล้วถึงกับส่ายหน้า แต่หล่อนก็เห็นเป็นเรื่องธรรมดาของ ‘คน’ ไปเสียแล้ว โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้จักความพอดีและพอใจตามอัตภาพของตน ซึ่งเขาเหล่านั้นคงต้องแหวกว่ายเวียนวนอยู่ในกระแสธารแห่ง ‘ความอยาก’ อันไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด
“เราแก่ซะแล้วเลยอยากน้อยลงละมัง ถึงวันถึงวัยช่วงหนึ่งคงหมดความอยากได้ใคร่ดีตามสังขาร เพราะถึงอยากแค่ไหนแต่สังขารมันไม่อำนวยให้เราทำตามใจอยากได้” ยุพินพูดเนือย ๆ อย่างคนปลงชีวิต
“ว่าไม่ได้นะเธอ” มณีวรรณละสายตาจากถนนเบื้องหน้ามองเพื่อนแวบหนึ่ง “หมดทุกข์เรื่องอยากเสร็จแล้ว ก็มาทุกข์เรื่องความไม่อยากต่อไงล่ะ ที่แก่ลงหย่อนลงก็ไม่อยากแก่ ให้หมอตัดตรงโน้นดึงตรงนี้ให้มันดูเต่งตึง ฉันเคยเห็นนะ บางคนยิ้มทีนึงมุมปากแทบจะถึงใบหู เป็นฉันคงไม่กล้าส่องกระจกดูหน้าตัวเอง กลัว ๆ หลอน ๆ ชอบกลน่ะ”
“แหม ช่างว่าเขานะ ถึงทีตัวเองบ้างระวังให้ดี” ยุพินพูดกลั้วหัวเราะ
“โอ๊ย ฉันไม่ทำเด็ดขาด สวยงามตามวัยก็ดีแล้ว แก่อย่างสง่า ชราอย่างสงบ” มณีวรรณเชิดหน้าเล็กน้อยด้วยรอยยิ้มกว้าง
ยุพินนึกไปถึงดอกไม้หลากสีสวยงาม ยามแรกแย้มเบ่งบานล้วนแต่เป็นที่ต้องตาต้องใจผู้พบเห็น หมู่ภมรพากันบินตอมเสพความหอมหวาน แต่อนิจจา เมื่อถึงเวลาดอกไม้เหี่ยวเฉา กลับกลายเป็นที่ไม่จำเริญหูจำเริญตาแก่ใคร ดอกใบเคยตัดประดับแจกันเป็นกลุ่มพุ่มสวยงาม ยามร่วงโรยเขาก็จับโยนทิ้งถังขยะโดยปราศจากความอาลัย
ชีวิตดั่งดอกไม้...โรยราแล้วไม่มีใครต้องการ
“แล้วเธอจะพาลูกมาหาพ่อปู่วันไหน” มณีวรรณถามหลังจากต่างคนต่างเงียบกันไปครู่ใหญ่
“ฉันตั้งใจว่าวันเสาร์ รอให้หยุดงานจะได้ไปแบบสบาย ๆ ไม่ต้องรีบร้อนอะไร”
“วันนี้วันพฤหัสฯแล้ว รอสักวันสองวันคงไม่เป็นไร พ่อปู่ก็ว่าจะกำราบวิญญาณนั้นช่วยอีกทางนี่นะ”
“ได้เธอช่วยแนะนำและเป็นธุระให้หรอกนะ ฉันถึงนั่งเบาใจอยู่แบบนี้ได้ ขอบใจมากนะวรรณ” หล่อนเอียงศีรษะพิงเบาะมองเพื่อนด้วยความตื้นตันใจ
“ฉันไปไหนไม่มีใครก็ได้เธอไปเป็นเพื่อนตลอด ต้องขอบใจเธอเหมือนกันจ้ะ” มณีวรรณหันไปสบตาเพื่อนด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม “แล้ววันเสาร์จะให้ฉันไปด้วยมั้ย”
“ถ้าเธอว่างฉันก็จองตัวไว้ตรงนี้เลย เดี๋ยวฉันให้ยายกัญขับรถแวะไปรับเธอที่บ้าน ไปรถคันเดียวกันสะดวกดี”
“เธอโทร.นัดเวลามานะ ฉันจะได้เตรียมตัวถูก”
เมื่อรถเก๋งสีเทาของมณีวรรณเลี้ยวเข้าซอยข้างโชว์รูมรถยนต์และผ่านปากทางเข้าวัดไทรทอง ยุพินเกิดนึกไปถึงต้นกับต่อขึ้นมาในห้วงความคิด ไม่รู้ว่าหลังไปพบแม่ชีตาเห็นแล้วจะเป็นอย่างไรกันบ้าง หล่อนดูนาฬิกาข้อมือเห็นว่าเป็นเวลา 16.20 น.จึงตัดสินใจยังไม่กลับเข้าบ้าน
“เธอแวะส่งฉันที่หน้าปากซอยนะ” หล่อนบอกเพื่อน
“อ้าว จะไปทำธุระอะไรที่ไหนอีกหรือเปล่า ฉันจะได้ขับรถให้ม้วนเดียวจบเลย” มณีวรรณถาม
“ไม่มีอะไรหรอก ฉันจะแวะคุยกับสองพี่น้องร้านก๋วยเตี๋ยว ลูกนายปิยะหน้าโรงเรียนน่ะ”
“ที่พ่อบ้านเธอแนะนำทำเลให้มาเปิดร้านใช่มั้ย นี่ก็หลายปีแล้วนะ ป่านนี้ได้แฟนมาช่วยล้างชามก๋วยเตี๋ยวแล้วละมัง”
“ยังโสดอยู่ทั้งคู่เลยจ้ะ แต่ก็เห็นสาว ๆ แอบมองอยู่เหมือนกัน” ยุพินกล่าวยิ้ม ๆ “นี่ถ้ายายกัญยังไม่มีแฟนนะ ฉันแอบเชียร์สองหนุ่มนี้อยู่เหมือนกัน นิสัยดีแถมยังขยันทำมาหากิน”
“อ้าว ลุกขึ้นมาเป็นนักจัดการชีวิตลูกนี่ไม่ใช่อะไรหรอก อยากกินก๋วยเตี๋ยวฟรีตลอดชีพว่างั้นเถอะ” มณีวรรณสัพยอก
“แหม เธอก็ว่าไปโน่น” ยุพินหัวเราะชื่นบาน หล่อนชี้สถานที่ให้เพื่อนจอดรถหน้าร้านต้นกับต่อ กล่าวร่ำลากันเสร็จแล้วเปิดประตูรถลงไปยืนมองเพื่อนกลับรถแล่นจากไป
หล่อนมองเห็นต้นยืนสวมผ้ากันเปื้อนสีเหลืองอยู่หลังรถเข็นตั้งหม้อก๋วยเตี๋ยว ส่วนต่อเช็ดโต๊ะอยู่ด้านในร้านซึ่งยังไม่มีลูกค้า
“ได้ที่หรือยังล่ะต้น” หล่อนเป็นฝ่ายเดินเข้าไปปราศรัย
“อ้าว ป้าไปไหนมาคนเดียวหรือครับ” ต้นขยับตัวออกมาถาม
ต่อมองมาที่หน้าร้านแล้วกุลีกุจอออกมาขยับเก้าอี้ต้อนรับแขกด้วยรอยยิ้ม
“เชิญนั่งก่อนครับ วันนี้รับอะไรดีคร้าบ” ต่อเชื้อเชิญ
“ตอนเย็น ๆ ป้าจะออกมาอีกทีนะต่อ นี่ไปธุระข้างนอกเลยแวะมาคุยด้วยจ้ะ” ยุพินพูดออกไปแล้วกังวลในใจเล็กน้อย กลัวว่าจะมีใครถามถึง ‘ธุระ’ ของหล่อน แต่ปรากฏว่าชายหนุ่มทั้งสองก็มีมารยาทดีพอที่จะไม่ถามเรื่องส่วนตัวของหล่อน
“ป้าจะทานอะไรเดี๋ยวผมให้ต่อเดินไปส่งให้นะครับ สั่งไว้ก่อนก็ได้” ต้นเดินถือแก้วน้ำแข็งมาวางบนโต๊ะตรงหน้ายุพิน
“ไม่ต้องลำบากขนาดนั้นหรอกจ้ะ เดี๋ยวบ้านอื่นเห็นเข้าจะเอาเป็นตัวอย่างได้ ทีนี้ต่อจะได้เดินบริการลูกค้าทั้งซอยจนหัวหมุนอยู่คนเดียว” หล่อนยิ้มน้อย ๆ ด้วยความเกรงใจ แลเห็นต่อหัวเราะเบิกบานใจจึงยกแก้วน้ำขึ้นดื่มก่อนจะสนทนาต่อ “นี่แน่ะ ป้าถามอะไรหน่อยนะหนุ่ม ๆ ไปหาแม่ชีตาเห็นกลับมาวันนั้นแล้วเป็นยังไง ดีขึ้นหรือเปล่า”
“ไม่เจอกันอีกเลยละครับ” ต่อพูด
“ป้ารู้ใช่มั้ยครับว่าต่อเขาหมายถึงอะไร” ต้นถามขรึม ๆ
ยุพินพยักหน้าช้า ๆ แสดงความเข้าใจ ต่อจึงเล่าขยายความเพิ่มเติม
“สงสัยได้น้ำมนต์ของหลวงพ่อครับ ขากลับพี่ต้นแวะเข้าไปขอมาพรมซะทั่วบ้าน”
“ไม่เจอกันก็ดีแล้วนะ เราจะได้อยู่ตามประสาของเรา” ยุพินพูดอย่างมีนัย ด้วยใจหล่อนนึกถึงความหวาดหวั่นของบุคคลในครอบครัวตัวเอง
“น้องกัญเป็นยังไงบ้างครับ” ต้นถาม
“ก็...ยังมีเจอ ๆ กันอยู่น่ะ” หล่อนตอบเสียงเบา
ต่อขมวดคิ้ว เอียงศีรษะเล็กน้อย “เอ...หรือว่าน้องกัญมีสัมผัสพิเศษมองเห็นผีได้แบบนั้นหรือเปล่าน้อ ไม่เห็นเคยพูดให้เราฟังเลยนะครับ”
“ถ้าเลือกได้ ป้าว่าขอไม่เห็นจะดีกว่านะ เพราะมาแต่ละครั้งนี่มาไม่ดีสักเท่าไหร่”
“ทำไมครับ มาแบบเละ ๆ บวม ๆ ยังงั้นหรือครับ” ต่อถามหน้าตาตื่น
“ทำนองนั้นละจ้ะ” ยุพินตั้งใจตอบให้คลุมเครือ เหม่อมองออกไปเบื้องหน้าเห็นท้องฟ้าแจ่มใสยามเย็นกลายเป็นสีเทาทึม มีลมพัดแรงเข้ามาในร้านปะทะผิวหน้าและผิวกายจนหล่อนรับรู้ถึงการขยับไหวของเส้นผม
“ต่อ เก็บโต๊ะข้างนอกก่อนดีมั้ย ฝนตั้งเค้ามาแล้ว ดูท่าจะตกจริงซะด้วย” ต้นบอกน้องชาย
“ฝนมันมีตกหลอก ๆ ด้วยหรือครับพี่” ต่อย้อนถามยิ้ม ๆ
ยุพินมองเห็นเมฆสีเทารวมตัวกันหนาแน่นขึ้นกลายเป็นสีดำแผ่ไปทั่วท้องฟ้า หล่อนรู้สึกถึงความอบอ้าวของอากาศรอบตัวพลางคิดว่าฝนคงตกเหมือนที่ต้นพูดก็เลยเอ่ยปากขอตัวกลับเข้าบ้าน
“งั้นป้าไม่อยู่รบกวนละนะ”
.................................