2020 Vision :รถไฟความเร็วสูงไปหนองคายหรือไม่ ไม่ใช้ประเด็น

ที่มา http://news.parliament.go.th/program/2020vision/892.html
บทความโดย คณะทำงานประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี

เศรษฐกิจไทยจะโงหัวไม่ขึ้น ถ้าไม่เริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงวันนี้

ประเทศไทยจะขาดศักยภาพในการแข่งขัน และคงจะสายเกินไปหากจะต้องรออีก 10 ปี ถึงจะเริ่มต้นยกระดับระบบคมนาคมขนส่งทางราง โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพราะราคาน้ำมันที่กำลังพุ่งทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ ย่อมส่งผลให้ภาคธุรกิจไทยเผชิญภาวะความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นตามลำดับ

ผู้ประกอบการไทยคงไม่สามารถพึ่งพิงการขนส่งทางถนนเป็นหลักได้อีกต่อไป หากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นถึง 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2020 และอาจไต่ระดับขึ้นเป็น 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลภายหลังปี 2030
โครงการรถไฟความเร็วสูงและการพัฒนาระบบรางคู่เป็นไปเพื่อปลดปล่อยภาคธุรกิจ ทั้งรายเล็กและรายใหญ่จากปัญหาต้นทุนโลจิสติกส์ โดยโครงการดังกล่าวไม่ได้เพียงแค่สร้างผลประโยชน์ต่อผู้รับเหมา โรงปูนและโรงเหล็กเพียงเท่านั้น แต่จะสร้างโอกาสในการเข้าถึงระบบโลจิสติกส์สาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และเกษตรกรอีกด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ดำเนินการวางยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าน้ำหนักเบาและมีมูลค่าต่อหน่วยสูงทางรถไฟความเร็วสูง โดยตัวอย่างของสินค้าประเภทดังกล่าว ได้แก่ สินค้าต่างๆที่สามารถจัดส่งแบบพัสดุไปรษณีย์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อะไหล่รถยนต์ยารักษาโรค และสินค้าเกษตรเกรด AAA เป็นต้น

การลงทุนพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงไม่ได้เพียงแค่กระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนในช่วงระยะเวลาการก่อสร้างเพียงเท่านั้น แต่ยังจะเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานซึ่งสามารถก่อให้เกิดการกระจายโอกาสในการสร้างรายได้ และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคต่างๆ ปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินการวางแนวนโยบายการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้เศษเหล็กราคาแพงที่วิ่งด้วยความเร็ว 250 กม./ชม. สามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ที่คุ้มค่าแก่ประเทศ
ระบบรถไฟไทยเป็นระบบรางขนาด 1 เมตรที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยการล่าอาณานิคม เช่นเดียวกับในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ ลาว มาเลเซีย เวียดนาม อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ มาเลเซียตัดสินใจลงทุนสร้างระบบรางแบบสแตนดาร์ดเกจหรือระบบรางขนาด 1.4 เมตร เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศสิงค์โปร์3 รวมถึงเวียดนามที่ได้เจรจากับประเทศญี่ปุ่นถึงการลงทุนสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างเมืองฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้4 นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นอีกหนึ่งประเทศ
ที่พึ่งทำการตกลงใช้เทคโนโลยีชินคันเซ็นในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงในประเทศ เพื่อใช้วิ่งบนรางขนาด1.4 เมตรเช่นกัน5

สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเส้นทางการขนส่งใหม่ต้นทุนต่ำระหว่างประเทศ จะพบว่า ตั้งแต่ปี 2011 โรงงาน Hewlett-Packard (HPQ) ในเมืองฉงชิง (Chongqing) ได้ทำการจัดส่งคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คกว่า 4 ล้านเครื่อง ผ่านเส้นทางรถไฟที่มีระยะทางยาวมากกว่า 10,000 กม. สู่ยุโรป ในทางกลับกัน โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากค่าย BMW ได้ทำการจัดส่งอะไหล่ดังกล่าวทางรถไฟ สัปดาห์ละ 3 ถึง 7 ขบวน จากไลพ์ซิก (Leipzig) ประเทศเยอรมนี สู่โรงงานประกอบรถยนต์ในเมืองเสิ่นหยาง (Shenyang) ประเทศจีน6


ความเป็นไปได้ในการสร้างความเชื่อมโยงภาคพื้นทวีปผ่านทางราง ทำให้ข้อถกเถียงเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยจะไปถึงจังหวัดหนองคายหรือไม่คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะรัฐบาลมีนโยบายแน่ชัดในการเชื่อมต่อกับระบบรางสู่ยุโรป แต่ประเด็นที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญคือการผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันในระดับภูมิภาค


แผนที่แสดงเส้นทางรถไฟที่ เอเชีย-ยุโรป
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่