พิจารณาอย่างไรในวิสัชชนาพระนาคเสน เรื่องตายแล้วเกิด ให้ไม่ขัดแย้งกับพระศาสดา ?

กระทู้คำถาม
[๗๖๔] ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุราธะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส
ข้าพระองค์อยู่ที่กุฎีในป่าในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้ง
นั้น พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเป็นอันมาก ได้เข้าไปหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่
ได้ปราศรัยกับข้าพระองค์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงได้นั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ถามข้าพระองค์ว่า ดูกรท่านอนุราธะ พระตถาคต
ผู้เป็นอุดมบุรุษเป็นบรมบุรุษ ทรงบรรลุถึงธรรมอันควรบรรลุอย่างยอดเยี่ยมแล้ว เมื่อ
ทรงบัญญัติข้อนั้น ย่อมทรงบัญญัติในฐานะทั้ง ๔ นี้ คือ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย
แล้วย่อมเกิดอีก ฯลฯ หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้
ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพวกปริพาชกผู้ถือ
ลัทธิอื่นเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้ตอบเขาเหล่านั้นว่า ดูกรท่าน
ทั้งหลาย พระตถาคตผู้เป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ ทรงบรรลุถึงธรรมอันควร
บรรลุอย่างยอดเยี่ยมแล้ว เมื่อทรงบัญญัติข้อนั้น  ย่อมทรงบัญญัตินอกจาก
ฐานะทั้ง ๔ นี้ คือ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก ฯลฯ หรือว่าสัตว์
เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดก็หามิได้ ดังนี้ ข้า
แต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น
เหล่านั้นได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ก็ภิกษุรูปนี้ชะรอยจักเป็นภิกษุใหม่ บวชแล้วไม่
นาน หรือว่าเป็นพระเถระแต่หากเป็นพระเขลา ไม่ฉลาด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวก
ปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้น ได้รุกรานข้าพระองค์ด้วยวาทะว่าเป็นภิกษุใหม่ และ
ด้วยวาทะว่าเป็นพระเขลา แล้วได้พากันลุกขึ้นจากอาสนะหลีกไป ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ เมื่อพวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้นหลีกไปแล้วไม่นาน ข้าพระองค์ได้
มีความคิดว่า ถ้าพวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้นพึงถามเรายิ่งขึ้นไปไซร้ เราจะ
พยากรณ์แก่พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้นอย่างไรจึงจะเป็นอันกล่าวตามพระ-
*ดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว จะไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง และ
พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่ถึงฐานะอัน
วิญญูชนพึงติเตียนได้ ดังนี้ พระเจ้าข้า ฯ
             [๗๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้น
เป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านพระอนุราธะกราบทูลว่าไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
             อ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาควรหรือ
หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
             อ. ไม่ควรเลย พระเจ้าข้า ฯ
             พ. เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
             อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
             อ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ
หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
             อ. ไม่ควรเลย พระเจ้าข้า ฯ
             [๗๖๖] พ. ดูกรอนุราธะ เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่
เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี
ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี รูปนั้นทั้งหมด
เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็น
เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ
อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอก
ก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี เวทนา...
สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณทั้งหมด ท่านพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตาม
เป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดูกร
อนุราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ย่อม
เบื่อหน่ายทั้งในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสังขาร
ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด
จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้น
แล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิ
ได้มีดังนี้ ฯ
             [๗๖๗] ดูกรอนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอย่อมเห็น
รูปว่าเป็นสัตว์หรือ ฯ
             อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. เธอเห็นเวทนาว่าเป็นสัตว์หรือ ฯ
             อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. เธอเห็นสัญญาว่าเป็นสัตว์หรือ ฯ
             อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. เธอเห็นสังขารว่าเป็นสัตว์หรือ ฯ
             อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. เธอเห็นวิญญาณว่าเป็นสัตว์หรือ ฯ
             อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             [๗๖๘] พ. ดูกรอนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอย่อม
เห็นว่าสัตว์ในรูปหรือ ฯ
             อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. เธอเห็นว่าสัตว์อื่นจากรูปหรือ ฯ
             อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. เธอเห็นว่า สัตว์ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ
หรือ ฯ
             อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. เธอเห็นว่า สัตว์อื่นจากเวทนา จากสัญญา จากสังขาร จากวิญญาณ
หรือ ฯ
             อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             [๗๖๙] พ. ดูกรอนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอเห็นรูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นสัตว์หรือ ฯ
             อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             [๗๗๐] พ. ดูกรอนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอเห็น
ว่า สัตว์นี้ไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณหรือ ฯ
             อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรอนุราธะ ก็เธอหาสัตว์ในขันธ์ ๕ นี้โดยจริง โดยแท้ ไม่ได้
ในปัจจุบัน ควรหรือที่เธอจะพยากรณ์ว่า ดูกรท่านทั้งหลาย พระตถาคตผู้เป็น
อุดมบุรุษ ทรงบรรลุถึงธรรมอันควรบรรลุอย่างยอดเยี่ยมแล้ว เมื่อทรงบัญญัติข้อ
นั้น ย่อมทรงบัญญัตินอกจากฐานะทั้ง ๔ นี้ คือ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อม
เกิดอีก ฯลฯ หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิด
อีกก็หามิได้ ดังนี้ ฯ

             อ. ไม่ควรเลย พระเจ้าข้า ฯ
             พ. สาธุ สาธุ อนุราธะ ดูกรอนุราธะ ในกาลก่อนด้วย ในบัดนี้ด้วย
เราย่อมบัญญัติทุกข์และความดับแห่งทุกข์ ฯ
จบสูตรที่ ๒

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘  บรรทัดที่ ๙๔๗๖ - ๙๕๙๘.  หน้าที่  ๔๐๙ - ๔๑๔.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=9476&Z=9598&pagebreak=0
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=762



vs.



ปฏิสนธิคหณปัญหา ที่ ๖
             ครั้งนั้นพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงมีพระราชปุจฉาถามอรรถปัญหาอันอื่น ต่อไปว่า
ภนฺเต  นาคเสน  ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า คนที่ตายไปแล้ว จะไม่ปฏิสนธิเกิดมาเป็นร่างกาย
จิตใจสูญไปนี้  จะมีบ้างหรือ  หรือว่าไม่มี
             พระนาคเสนได้ฟังพระโองการฉะนี้จึงถวายพระพรว่า ดูรานะมหาบพิตร  คนบางจำ
พวกดับจิตแล้วไม่เกิดอีกก็มี  ที่กลับมาเกิดอีกก็มี
             พระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงซักถามต่อไปนี้ว่า  ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า  พระผู้เป็น
เจ้าว่าบุคคลที่ดับจิตไม่ได้เกิดอีกนั้น ได้แก่คนจำพวกใด  คนที่ดับจิตตายไปแล้วกลับเกิดใหม่นั้น
ได้แก่คนจำพวกใด  นิมนต์วิสัชนาไปให้แจ้งก่อน
             พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาราช  ดูรานะบพิตร  คนที่มีราคาทิกิเลสดับจิตแล้วเกิด
ใหม่  ที่หากิเลสมิได้ดับจิตแล้วไม่เกิดอีก  ขอถวายพระพร
             พระเจ้ากรุงมิลินท์จึงย้อนถามว่า  ก็พระผู้เป็นเจ้านี้เล่าดับจิตแล้วจะเกิดใหม่  หรือว่าไม่
เกิดอีกในภพเป็นประการใด
             พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ  ถ้าว่า
อาตมาประกอบไปด้วยกิเลส  ดับจิตไปก็ต้องเกิดใหม่  ถ้าว่าอาตมาหากิเลสมิได้ก็จะดับสูญไป
ไม่เกิดอีก
  ขอถวายพระพร
             สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นสาคลนคร  ก็มีพระโองการสรรเสริญว่า กลฺโสสิ  พระผู้เป็น
เจ้าวิสัชนานี้สมควรแล้ว
ปฏิสนธิคหณปัญหา คำรบ ๖ จบเท่านี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่  ๔๙.
http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=10
             สารบัญมิลินทปัญหา
http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_10
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่