"วิฑูรย์" ดันนิคมฯ เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวยกแผง พร้อมตั้งเข็มพัฒนาอุตฯ การบิน

กระทู้ข่าว
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำคณะผู้บริหารพร้อมสื่อมวลชน เดินทางไปศึกษาดูงานการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสิงคโปร์ ภายใต้แนวคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ณ นิคมอุตสาหกรรมจูร่ง ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์

ยนิคมดังกล่าวเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมและการพัฒนาพื้นที่สีเขียวระหว่างตึกและอาคาร เป็นอุตสาหกรรมสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับแผนการผลักดันให้ นิคม/สวน/เขตประกอบการอุตสาหกรรมของไทยให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town)

Clean Tech Park เป็นโครงการใหม่ล่าสุดของประเทศสิงคโปร์ได้แบ่งการพัฒนาโครงการ ออกเป็น 3 ระยะ คาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2573 และได้เปิดตัวอาคารกลุ่มแรกอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมบริการและนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยมีแนวคิดสีเขียว ยึดหลักความสมดุลระหว่างแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์กับธรรมชาติ ด้วยการรักษาสภาพแวดล้อมเดิม ไม่มีการตัดต้นไม้ในพื้นที่ก่อสร้าง และยังดูแลรักษาต้นไม้ให้โตเต็มที่เพื่อลดความร้อนโดยรอบ อีกทั้งคำนึงถึงการออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานเต็มรูปแบบ นำลมธรรมชาติมาใช้ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ นอกจากนี้ ยังติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามาใช้ในอาคาร  Clean Tech Park  เป็นศูนย์รวมบริษัทเอกชนของสิงคโปร์ มีการวางยุทธศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาและธุรกิจ ซึ่งช่วยในการวิจัยและพัฒนา เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

ส่วนประเทศไทยมีการดำเนินโครงการคล้ายกับ Clean Tech Park  โดยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมบริการ Thai Diamond City ณ จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ 1,000 ไร่ โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับบริษัท เพชรไทยพัฒนา จำกัด พัฒนารูปแบบนิคมฯ ประเภทธุรกิจบริการ เช่น ศูนย์ทางการแพทย์ สถาบันศึกษา สนามกอล์ฟ และกิจการโลจิสติกส์ เป็นต้น ให้สามารถดำเนินการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้ โดยผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่นเดียวกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน เนื่องจากการอยู่ร่วมกันในลักษณะของนิคมอุตสาหกรรมจะเอื้อให้เกิดการส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันในกลุ่มธุรกิจประเภทเดียวกัน หรือแม้แต่ในระหว่างประเภทกิจการ

“กระทรวงอุตสาหกรรม มีแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่การเป็น เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งมีคุณลักษณะมาตรฐาน 5 มิติ 22 เกณฑ์ชี้วัด ระดับโรงงาน จะพัฒนาเข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry: GI) มี 5 ระดับ ปัจจุบันมีสถานประกอบการเข้าร่วมแล้วจำนวนกว่า 6,000 ราย ระดับนิคมอุตสาหกรรม จะพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งโรงงาน ชุมชน และ หน่วยงานส่วนท้องถิ่นเป็น “นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและเครือข่าย” (Eco Industrial Estate & Networks) ในปัจจุบันอยู่ ระยะที่ 1 คือการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศนำร่อง (ปี 2553 - 2557 ) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างน้อยปีละ 3 นิคมฯ รวม 15 นิคมฯ โดยในปี 2556 ได้ดำเนินการที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางพลี และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน

ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนานิคมฯ ต่างๆ เข้าสู่การเป็น นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไปแล้ว 12 แห่ง ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมของทุกประเทศ ต่างก็มุ่งสู่อุตสาหกรรมเป็นสีเขียว และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” ปลัดวิฑูรย์ กล่าว

สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคตของประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่จะทำให้ประเทศเติบโตและเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยอุตสาหกรรมอากาศยานและการบิน ถือเป็น 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงคมนาคม จะร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประเทศสิงคโปร์มีปัจจัยความได้เปรียบทางธุรกิจมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้  เนื่องจาก1.สิงคโปร์มีระบบพิธีการศุลกากรที่รวดเร็วมาก ซึ่งอุตสาหกรรมนี้แข่งกันที่เวลาเป็นสำคัญ โดยทุกชั่วโมงที่จอดรอหมายถึงเงินจำนวนมากที่ต้องเสียไป 2.สิงคโปร์มีความได้เปรียบตรงที่มีพื้นฐานเป็น Trader ในภูมิภาคและของโลก สามารถหาชิ้นส่วนได้เกือบทั้งหมดภายในประเทศ และ 3.สิงคโปร์จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานและการบินขึ้นเป็นการเฉพาะที่ Seletar Aerospace Park

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อไปว่า “ตลาดอุตสาหกรรมอากาศยานและการบินมีมูลค่าสูง มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปมายังภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกเพื่อต้องการลดต้นทุนการผลิต โดยประเทศที่ได้รับความสนใจในการลงทุนได้แก่ ไทย สิงคโปร์ จีน ออสเตรเลีย ไต้หวัน และมาเลเซีย ที่ผ่านมาธุรกิจอากาศยานและการบินในประเทศไทย เติบโตอย่างไม่สมดุลโดยมีการขยายตัวอย่างมากในธุรกิจสายการบินเท่านั้น เนื่องจากการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการบินที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงคมนาคม มีความเห็นร่วมกันว่าจังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพดีที่สุดสำหรับการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมการบิน ประกอบด้วย ศูนย์การผลิตยางล้อและชิ้นส่วนเครื่องบิน รวมทั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน

ปัจจุบันธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน มีผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานทั้งหมด 18 รายที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI  โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากประเทศในสหภาพยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น โดยมีชิ้นส่วนสำหรับเครื่องบินขนาดเล็ก  นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจซ่อมชิ้นส่วนอากาศยานจำนวน 18 ราย ที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI  และธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่ปัจจุบันมีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) เท่านั้น ที่สามารถซ่อมเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้

ปัจจุบัน BOI กำหนดให้อุตสาหกรรมอากาศยานและการบิน เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดตามกรอบของกฎหมาย โดยครอบคลุมทั้งการผลิตอากาศยาน การซ่อมอากาศยาน การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ดังนี้ 1) ได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรทุกเขต 2) ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีทุกเขต 3) ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นตามเกณฑ์ที่ตั้งในแต่ละเขต 4) ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยไม่กำหนดสัดส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่