whoever do harm to a Bhikhu observing precepts would harm themselves by bad karmas.

กระทู้คำถาม

เรื่องนางจิญจมาณวิกา       
               ข้อความเบื้องต้น              
               พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนางจิญจมาณวิกา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "เอกธมฺมมตีตสฺส"๑- เป็นต้น.
____________________________
๑- (พระไตรปิฎก เป็น เอกํ ธมฺมํ อตีตสฺส.)

พวกเดียรถีย์ริษยาพระพุทธศาสนา


               ความพิสดารว่า ในปฐมโพธิกาล เมื่อสาวกของพระทศพลมีมาก หาประมาณมิได้. เมื่อพวกเทวดาและมนุษย์หยั่งลงสู่อริยภูมิ, เมื่อการเกิดขึ้นแห่งพระคุณของพระศาสดาแผ่ไปแล้ว ลาภสักการะเป็นอันมากเกิดขึ้นแล้ว.
               พวกเดียรถีย์เป็นผู้เช่นกับแสงหิ่งห้อยในเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น เป็นผู้เสื่อมลาภสักการะ. พวกเดียรถีย์เหล่านั้น ยืนในระหว่างถนน แม้ประกาศให้พวกมนุษย์รู้แจ้งอยู่อย่างนี้ว่า "พระสมณโคดมเท่านั้นหรือ เป็นพระพุทธเจ้า, แม้พวกเราก็เป็นพระพุทธเจ้า ทานที่เขาให้แล้วแก่พระสมณโคดมนั้นเท่านั้นหรือ มีผลมาก ทานที่เขาให้แล้วแม้แก่เราทั้งหลายก็มีผลมากเหมือนกัน ท่านทั้งหลายจงให้ จงทำแก่เราทั้งหลายบ้าง" ดังนี้แล้ว ไม่ได้ลาภสักการะแล้ว ประชุมคิดกันในที่ลับว่า "พวกเราพึงยังโทษให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม ในระหว่างมนุษย์ทั้งหลาย พึงยังลาภสักการะให้ยิ้ม โดยอุบายอะไรหนอแล?"
               กาลนั้นในกรุงสาวัตถี มีนางปริพาชิกาคนหนึ่งชื่อว่าจิญจมาณวิกา เป็นผู้ทรงรูปอันเลอโฉม ถึงความเลิศด้วยความงาม เหมือนนางเทพอัปสรฉะนั้น รัศมีย่อมเปล่งออกจากสรีระของนางนั้น.

               นางจิญจมาณวิการับอาสาพวกเดียรถีย์              
               ลำดับนั้น เดียรถีย์ผู้มีความรู้เฉียบแหลมคนหนึ่ง กล่าวอย่างนี้ว่า "เราทั้งหลายอาศัยนางจิญจมาณวิกา พึงยังโทษให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม ยังลาภสักการะ (ของเธอ) ให้ยิ้มได้" เดียรถีย์เหล่านั้นรับรองว่า "อุบายนี้ มีอยู่." ต่อมา นางจิญจมาณวิกานั้นไปสู่อารามของเดียรถีย์ ไหว้แล้วได้ยืนอยู่ พวกเดียรถีย์ไม่พูดกับนาง.
               นางจึงคิดว่า "เรามีโทษอะไรหนอแล?" แม้พูดครั้งที่ ๓ ว่า "พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ดิฉันไหว้" ดังนี้แล้ว จึงพูดว่า "พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ดิฉันมีโทษอะไรหนอแล? เพราะเหตุอะไร ท่านทั้งหลายจึงไม่พูดกับดิฉัน?"
               เดียรถีย์. น้องหญิง เจ้าย่อมไม่ทราบซึ่งพระสมณโคดม ผู้เบียดเบียนเราทั้งหลาย เที่ยวทำเราทั้งหลายให้เสื่อมลาภสักการะหรือ?
               นางจิญจมาณวิกา. ดิฉันยังไม่ทราบ เจ้าข้า, ก็ในเรื่องนี้ ดิฉันควรทำอย่างไรเล่า?
               เดียรถีย์. น้องหญิง ถ้าเจ้าปรารถนาความสุขแก่เราทั้งหลายไซร้, จงยังโทษให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดมแล้ว ยังลาภสักการะให้ยิ้ม เพราะอาศัยตน.
               นางกล่าวว่า "ดีละ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย, ข้อนี้จงเป็นภาระของดิฉันเอง ท่านทั้งหลายอย่าคิดแล้ว" ดังนี้แล้ว หลีกไป ห่มผ้ามีสีดุจแมลงค่อมทอง มีของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้นในมือ มุ่งหน้าตรงพระเชตวัน ไปอยู่ในสมัยเป็นที่ฟังธรรมกถาแห่งชนชาวเมืองสาวัตถี แล้วออกไปจากพระเชตวัน ตั้งแต่กาลนั้น เพราะความที่นางเป็นผู้ฉลาดในมารยาทของหญิง.
               เมื่อผู้อื่นถามว่า "นางจะไปไหนในเวลานี้?" จึงกล่าวว่า "ประโยชน์อะไรของท่านทั้งหลายด้วยที่ที่เราไป" พักอยู่ในวัดของเดียรถีย์ในที่ใกล้พระเชตวัน เมื่อคนผู้เป็นอุบาสกออกจากพระนครแต่เช้าตรู่ ด้วยหวังว่า "จักถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า" (นาง) ทำทีเหมือนอยู่ในพระเชตวันเข้าไปสู่พระนคร
               เมื่อคนผู้เป็นอุบาสกถามว่า "ท่านอยู่ ณ ที่ไหน?" แล้วจึงกล่าวว่า "ประโยชน์อะไรของท่านทั้งหลายด้วยที่ที่เราอยู่" โดยกาลล่วงไป ๑-๒ เดือน เมื่อถูกถามจึงกล่าวว่า "เราอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดม ในพระเชตวัน" ยังความสงสัยให้เกิดขึ้นแก่ปุถุชนทั้งหลายว่า "ข้อนั้นจริงหรือไม่หนอ?"
               โดยกาลล่วงไป ๓-๔ เดือน เอาท่อนผ้าพันท้อง แสดงเพศของหญิงมีครรภ์ ให้เหล่าชนอันธพาลถือเอาว่า "ครรภ์บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยพระสมณโคดม" โดยกาลล่วงไป ๘-๙ เดือน ผูกไม้กลมไว้ที่ท้องห่มผ้าทับข้างบน ให้ทุบหลังมือและเท้าด้วยไม้คางโค แสดงอาการบวมขึ้น มีอินทรีย์บอบช้ำ
               เมื่อพระตถาคตประทับนั่งแสดงธรรมบนธรรมาสน์ที่ประดับแล้วในเวลาเย็น ไปสู่ธรรมสภา ยืนตรงพระพักตร์ของพระตถาคตแล้ว กล่าวว่า "มหาสมณะ พระองค์ (ดีแต่) แสดงธรรมแก่มหาชนเท่านั้น เสียงของพระองค์ไพเราะ พระโอษฐ์ของพระองค์สนิท ส่วนหม่อมฉันอาศัยพระองค์ได้เกิดมีครรภ์ครบกำหนดแล้ว, พระองค์ไม่ทรงทราบเรือนเป็นที่คลอดของหม่อมฉัน ไม่ทรงทราบเครื่องครรภบริหารมีเนยใสและน้ำมันเป็นต้น เมื่อไม่ทรงทำเอง ก็ไม่ตรัสบอกพระเจ้าโกศล หรืออนาถบิณฑิกะ หรือนางวิสาขามหาอุบาสิกาคนใดคนหนึ่ง แม้บรรดาอุปัฏฐากทั้งหลายว่า ‘ท่านจงทำกิจที่ควรทำแก่นางจิญจมาณวิกานี้ พระองค์ทรงรู้แต่จะอภิรมย์เท่านั้น ไม่ทรงรู้ครรภบริหาร" เหมือนพยายามจับก้อนคูถ ปามณฑลพระจันทร์ฉะนั้น ด่าพระตถาคต ในท่ามกลางบริษัทแล้ว.
               พระตถาคตทรงงดธรรมกถาแล้ว เมื่อจะทรงบันลือเยี่ยงอย่างสีหะ จึงตรัสว่า "น้องหญิง ความที่คำอันเจ้ากล่าวแล้วจะจริงหรือไม่ เราและเจ้าเท่านั้น ย่อมรู้."
               นางจิญจมาณวิกา. อย่างนั้น มหาสมณะ ข้อนั้นเกิดแล้วโดยความที่ท่านและหม่อมฉันทราบแล้ว.

               เทพบุตรทำลายกลอุบายของนางจิญจมาณวิกา              
               ขณะนั้น อาสนะของท้าวสักกะแสดงอาการร้อน. ท้าวเธอทรงใคร่ครวญอยู่ ก็ทราบว่า "นางจิญจมาณวิกา ย่อมด่าพระตถาคตด้วยคำไม่เป็นจริง" แล้วทรงดำริว่า "เราจักชำระเรื่องนี้ให้หมดจด" จึงเสด็จมากับเทพบุตร ๔ องค์. เทพบุตรทั้งหลายแปลงเป็นลูกหนูกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้กลม ด้วยอันแทะทีเดียวเท่านั้น ลมพัดเวิกผ้าห่มขึ้น ไม้กลมพลัดตกลงบนหลังเท้าของนางจิญจมาณวิกานั้น ปลายเท้าทั้ง ๒ ข้างแตกแล้ว.
               มนุษย์ทั้งหลายพูดว่า "แน่ะนางกาลกรรณี เจ้าด่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ถ่มเขฬะลงบนศีรษะ มีมือถือก้อนดินและท่อนไม้ ฉุดลากออกจากพระเชตวัน.

               นางจิญจมาณวิกาถูกแผ่นดินสูบ              
               ครั้นในเวลานางล่วงคลองพระเนตรของพระตถาคตไป แผ่นดินใหญ่แตกแยกช่องให้แล้ว เปลวไฟตั้งขึ้นจากอเวจี นางจิญจมาณวิกานั้นไปเกิดในอเวจี เป็นเหมือนห่มผ้ากัมพลที่ตระกูลให้. ลาภสักการะของพวกเดียรถีย์เสื่อมแล้ว (แต่กลับ) เจริญแก่พระทศพลโดยประมาณยิ่ง.
               ในวันรุ่งขึ้น พวกภิกษุสนทนากันในธรรมสภาว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย นางจิญจมาณวิกาด่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ควรทักษิณาอันเลิศ ผู้มีคุณอันยิ่งอย่างนี้ ด้วยคำไม่จริง จึงถึงความพินาศใหญ่แล้ว."
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่