บันทึกของผู้เฒ่า ๕ ส.ค.๕๖

กระทู้สนทนา
บันทึกของผู้เฒ่า

บันทึกของผู้เฒ่า

เรื่องหนังสือรวมเล่ม (๑)

เมื่อคราวก่อนได้บันทึกถึงความสำเร็จอย่างลำบากลำบนของ สามก๊กฉบับลิ่วล้อ ไปแล้วเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๑ จึงอยากจะบันทึกต่อไปในวันครบรอบการเขียนหนังสือ ๑๑ ต.ค. ของปีถัดไป จนถึงปี ที่ ๖๐ คือ ๑๑ ต.ค.๕๑ จะได้จดจำถึงความมานะพยายาม ในการที่จะเป็นนักเขียนอย่างแท้จริง แต่ได้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของนักเขียนเท่านั้น เริ่มตั้งแต่เมื่อได้พิมพ์สามก๊กชุดแรก

๑๑ ต.ค.๔๒

ครบรอบปีที่ ๕๑ ของการเป็นนักเขียน มีผลงานในรอบปีนี้ตั้งแต่ ม.ค. ถึงวันนี้ มีเรื่องที่เขียนเพิ่มขึ้นรวม ๓๙ ตอน

มีเรื่องงานเขียนที่อยากจะบันทึกไว้ เพราะจำไม่ได้ว่า เคยบันทึกแล้วหรือยัง คือนามปากกา "เพทาย" ได้กำเนิดขึ้นเมื่อ ๑๑ ต.ค.๙๑ ต่อมาก็ได้เพิ่มนามสกุลเป็น "เพทาย ทิพยสุนทร" ได้เขียนเรื่องสั้นถึง ม.ค.๓๙ เป็นจำนวน ๗๓ เรื่อง

ได้ลงพิมพ์ในหนังสือ ๒๗ ชื่อ คือ โบว์แดง , สายสัมพันธ์, ไทยใหม่, อารมณ์, จิตรวัฒนา, สตรีสาร, หลักเมือง, นครสาร, แนวหน้า, พิมพ์ไทย, หญิงไทย, ศรีกรุง, ข่าวภาพ, เมืองหลวง, เดลิเมล์, เสนาสาร, รักษาดินแดน, กะดึงทอง, สกุลไทย, วปถ.ปริทรรศ์, เพื่อนบ้าน, แฟนสัมพันธ์, ไทสัปดาห์, ทหารสื่อสาร, พล.ร.๓, พล.ร.๔, และ สพ.ทบ.รวมเวลาถึง ๔๘ ปี แต่ก็ไม่มีใครรู้จัก และไม่กล้าเสนอให้ใครพิมพ์รวมเล่ม

เมื่อหันมาเรียบเรียง สามก๊กฉบับลิ่วล้อ ตั้งแต่ ม.ค.๓๔ ถึง ก.ค.๔๑ เป็นจำนวน ๑๑๔ ตอน ลงพิมพ์ในหนังสือ ๑๔ ชื่อ คือ เสนาสาร, ทหารสื่อสาร, สวนดุสิต, ฟ้าหม่น, พล.ร.๔, พล.ร.๓, สพ.ทบ. หลักเมือง, ยุทธโกษ, ปืนใหญ่, สุรสิงหนาท, สยามอารยะ, รักษาดินแดน และ ทหารช่าง ใช้เวลาเกือบ ๗ ปี ก็ได้พิมพ์รวมเล่ม ด้วยการเที่ยวไปเสนอต่อสำนักพิมพ์ ยาดอง, คณาธร, ดอกหญ้า, นานมีบุ๊คส์ และประพันธ์สาส์น จึงเป็นผลสำเร็จ

จากนั้นจึงได้เขียนเป็นชุด ฉากชีวิต ในนามปากกา "เพทาย" ตามเดิม ได้ลงพิมพ์จนถึง ธ.ค.๔๑ อีก ๑๔ ตอน และได้ลงพิมพ์ในปีนี้อีก ๒ ตอน ยังเหลือที่ไม่ได้ลงพิมพ์อีก ๒๐ กว่าตอนทั้ง ๆ ที่ได้ส่งไปในที่ต่าง ๆ หลายตอนแล้ว เข้าใจว่าจะไม่ถูกใจ บก.เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้เขียนมากเกินไป ก็จะได้เก็บไว้พิมพ์แจกในงานศพ ซึ่งคงจะได้เล่มขนาดพ็อคเก็ตบุ๊คส์ หนาร่วม ๒๐๐ หน้า ต่อไป

๑๑ ต.ค.๔๓

ครบรอบปีที่ ๕๒ ของการเขียนหนังสือ ยังมีผลงานได้ลงพิมพ์เพิ่มขึ้นอีก ๓๒ ตอน และเวลานี้ค้นหาเรื่องจีน ชั่นถังหงอโต้ เอามาเรียบเรียงเป็น ทหารเสือแผ่นดินถัง แต่ค่อนข้างสั้นไม่เกิน ๑๕ ตอน เป็นทุนเอาไว้ส่งให้นิตยสารโล่เงินต่อไป

๒๙ ธ.ค.๔๓

เมื่อหลายวันก่อน คุณวาทิน ปิ่นเฉลียว เจ้าสำนักต่วยตูน ได้โทรศัพท์มาบอกว่า ปกิณกะสามก๊ก ของ “เล่าเซี่ยงชุน” รู้สึกว่าเข้าท่า ให้ค้นหาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ส่งไปให้อีก ก็ดีใจเหมือนกับเมื่อครั้งที่ คุณทัศน์ทรง ชมภูมิ่ง โทรศัพท์มา แต่ก็อาจจะไม่สำเร็จเหมือนครั้งนั้นเช่นเดียวกันก็ได้ เพราะเขาประเมินความสามารถของเราผิด คิดว่าจะมีความรู้เรื่องกลยุทธกลศึกหรือยุทธวิธี เหมือนอย่างที่นายทหารทั้งหลายเขาชอบเขียนกัน

จึงสารภาพไปว่าเรามีความรู้ด้านนี้น้อย เพราะเรียนไม่มาก และลืมเลือนไปหมดแล้ว ไม่อาจจะวิพากษ์วิจารณ์ ยุทธวิธีในสามก๊กได้ นอกจากจะเก็บเอาเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้อ่านจำไม่ได้มาเล่าแบบนิทาน ไม่ทราบว่าเขาจะคิดอย่างไร แต่เราก็เตรียมเอาไว้ทยอยส่งไปสัก ๘ ตอน ถ้าได้ลงเพียงครึ่งหนึ่ง ก็นับว่าสำเร็จสมความมุ่งหมายแล้ว ที่เหลือก็เอาไปส่งให้นิตยสารของทหาร เพื่อนเก่าของเราก็แล้วกัน

๑๘ ม.ค.๔๔

วันนี้มีข่าวดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น โทรศัพท์มาบอกว่า กำลังจะพิจารณาเอาซ้องกั๋งออกมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อดำเนินการพิมพ์ เราก็อนุญาตให้ทำได้ตามความเหมาะสม ในการที่จะออกสู่ตลาด โดยไม่ต้องปรึกษา แต่ถ้าเรียบร้อยแล้วขอดูบ้าง เผื่อจะมีอะไรที่จะช่วยออกความเห็น ส่วน”เรื่องไม่ขำ”(หรือฉากชีวิต)ขอระงับ เราก็สนับสนุนว่าเรื่องประเภทเล่าความหลังของตนเองนี้ จะทำได้เฉพาะผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง คนรู้จักทั่วเมืองแล้วเท่านั้น เราจะได้เอาไว้พิมพ์แจกงานศพต่อไป ถึงอย่างไรก็ขอบคุณที่กรุณาอ่าน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่