จีนปรับนโยบายเศรษฐกิจ (จบ)

กระทู้คำถาม
updated: 01 ส.ค. 2556 เวลา 14:32:53 น.

คอลัมน์ คนเดินตรอก


โดย วีระพงษ์ รามางกูร



ขณะนี้อาจจะกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจของโลกยังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาลง มีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่อาจจะเรียกว่าพอทรงตัวอยู่ได้เพราะการผลิตพลังงานขึ้นใช้เองได้ นอกนั้นไม่ว่าจะเป็นยุโรป จีน อินเดีย และภูมิภาคอื่นต่างประสบกับปัญหาเศรษฐกิจกำลังจะชะลอตัวทั้งสิ้น รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย

สหรัฐนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือนำเข้าจากญี่ปุ่น แต่เมื่อญี่ปุ่นเปลี่ยนนโยบาย

ค่าเงินเยนเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงกว่าร้อยละ 20 ระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นสนองตอบต่อการลดค่าเงินดีเกินกว่าที่คาด ญี่ปุ่นสามารถกลับไปเป็นผู้ส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกามากกว่าจีนเป็นครั้งแรกในรอบหลาย ๆ ปี จีนต้องถอยลงมาเป็นอันดับสองในการเป็นผู้ส่งสินค้าเข้าไปในสหรัฐอเมริกา

ประเทศอื่น ๆ จึงทยอยลดค่าเงินเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ของตนลงตามญี่ปุ่น เพื่อพยุงการส่งออกของตน แต่จีนกลับทำตรงกันข้าม จีนไม่ยอมลดค่าเงินหยวนของตนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ทำให้

ค่าเงินหยวนของจีนแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน เงินยูโร และเงินตราสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้มูลค่าการส่งออกของจีนจึงชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด นักเศรษฐศาสตร์ที่ติดตามนโยบายเศรษฐกิจของจีนต่างตั้งข้อสังเกตและแสดงความสงสัยกันไปทั่ว

การที่จีนไม่ยอมลดค่าเงิน เหริน หมิน ปี้ หรือเงินหยวนของตนลง แสดงว่าจีนกำลังเปลี่ยนนโยบายภายในอย่างขนานใหญ่

เนื่องจากจีนได้สะสมทุนสำรองระหว่างประเทศไว้มากเป็นจำนวนกว่า 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าทุนสำรองของญี่ปุ่นซึ่งเคยเป็นประเทศที่มีทุนสำรองมากที่สุดในโลกถึงกว่า 3 เท่า จีนคงจะคิดว่าตนมีทุนสำรองมากเกินระดับที่เหมาะสมไปแล้วก็ได้ ตามตำราเศรษฐศาสตร์ ทุนสำรองที่มากเกินระดับที่เหมาะสมทำให้เสียโอกาสในการยกระดับความอยู่ดีกินดีของประชาชน (Optimal Reserve)

ดังนั้น การจะดำเนินนโยบายเงินอ่อนผลักดันการส่งออกต่อไป ไม่น่าจะเป็นนโยบายที่ดีที่สุด ประกอบกับจีนถูกโจมตีเรื่องช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย หรือการกระจายรายได้ที่ไม่ทั่วถึง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของโลกอยู่ในช่วงขาลง ขณะเดียวกัน ค่าจ้างแรงงานของจีนก็สูงขึ้น เพราะจีนเริ่มขาดแคลนแรงงาน

ผู้นำจีนชุดใหม่จึงเปลี่ยนนโยบาย สนับสนุนการบริโภคภายในและยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ยังมีรายได้ต่ำภายในประเทศ โดยการตรึงค่าเงินของตนให้สูงกว่าประเทศอื่น ๆ อันจะเป็นการทำให้อุตสาหกรรมจีนสามารถซื้อวัตถุดิบ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน แร่เหล็ก ทองแดง ได้ถูกลงในราคาเงินหยวน เมื่อจีนไม่เร่งในการแข่งขันใน

การส่งออก หันมาผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก ลดการนำเข้าสินค้าขั้นปฐมต่าง ๆ ลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขั้นปฐมในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ถ่านหิน แร่ธาตุต่าง ๆ จึงมีราคาถูกลง ประเทศที่ถูกกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นออสเตรเลีย ทำให้คนจีนสามารถบริโภคสินค้าในราคาที่ถูกลง

ในขณะเดียวกัน จีนปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างรุนแรง โดยการลดสินเชื่อของธนาคารทั่วประเทศ เพื่อลดการใช้จ่ายที่เกินตัวของรัฐบาลท้องถิ่นลง

ขณะนี้รัฐบาลท้องถิ่นกู้เงินจากระบบธนาคารสูงถึง 3 ล้านล้านหยวน ส่วนมากเอามาลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนสร้างโรงงาน สร้างถนนหนทาง และอื่น ๆ จนเกินตัว สินค้าที่บริษัทหรือรัฐบาลท้องถิ่นลงทุนต่าง ๆ หรือสินค้านำเข้ามีปริมาณล้นตลาดทั้งตลาดภายในและภายนอก

ประเทศจีนกำลังเป็นประเทศขาดแคลนแรงงาน หน่วยงานต่าง ๆ ประกาศรับพนักงาน แต่มีคนมาสมัครไม่เต็มตามจำนวนที่ต้องการรับ จากนโยบายมีบุตร 1 คนทำให้มีคนในวัยทำงานในสัดส่วนที่น้อยลง คนสูงอายุมีสัดส่วนที่สูงขึ้น

การประกาศลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน เป็นการชะลอการขาดแคลนแรงงาน และการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

การที่จีนประกาศลดอัตราการขยายตัว จากที่เคยประกาศไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.5 มาเป็นร้อยละ 6.3 อาจจะเป็นการปรับความสมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างการ

ขยายตัวทางเศรษฐกิจ มาเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ จากที่มูลค่าสินค้าส่งออกขยายตัวในอัตราเลข 2 หลักนานกว่า 2 ทศวรรษ มาเป็นการ

ส่งออกลดลงถึงร้อยละ 3.1 ถือว่าเป็นการลดลงของการส่งออกเป็นประวัติการณ์ของจีน จีนจะไม่ยอมเป็นหัวรถจักรของเศรษฐกิจของโลกกระนั้นหรือ จีนกำลังคิดอะไรอยู่

เป็นไปได้ว่านโยบายของจีนเป็นไปตามกระแสของโลก ประกาศชะลอตัวลง ลดอัตราการขยายตัวของการส่งออก หันมาใช้ทรัพยากรทางการเงินของตน ปรับเงินเดือนข้าราชการ ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ปรับปรุงโครงสร้างการเงินสินเชื่อเสียใหม่ ไม่ให้เกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ชะลอการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเพื่อไม่ให้สินค้าล้นตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั้งในประเทศจีนและทั่วโลก ตามทฤษฎีของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เพราะทฤษฎีเศรษฐกิจมหภาคของจีนเป็นไปตามทฤษฎีของเคนส์บวกกับทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ มาโดยตลอด

การที่ญี่ปุ่นลดค่าเงินลง เพิ่มการส่งออก สนับสนุนการท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศในญี่ปุ่น จีนยืนค่าเงินของตัวเองไว้ กดการส่งออก เพิ่มการนำเข้า สนับสนุนการบริโภคในประเทศ ส่งเสริมการลงทุนนอกประเทศ ยุโรปยังแย่ต่อไป สหรัฐเริ่มทรงตัวได้ ล้วนมีผลต่อเศรษฐกิจของโลกอย่างมหาศาล หรือว่าจีนยอมพักเหนื่อย เลี้ยงญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกาให้ฟื้นตัว เพื่อเศรษฐกิจของโลกจะได้ไม่

แย่ไปกว่านี้ เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าเราจะต้องวางตัวอย่างไร ควรจะวางนโยบายของเราอย่างไร เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยจากการเปลี่ยนนโยบายของยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกในคราวนี้ จะปรับเปลี่ยนตัวเองสำหรับโอกาสที่จะมาถึงอย่างไร

ถ้ามีโอกาสพบผู้ใหญ่ของจีนจะลองถามเขาดู
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่