โครงการ WHO-RTG เตือนไทยเตรียมรับมือ “ภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรง”

กระทู้ข่าว
โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (WHO-RTG) แผนงานการจัดการทางด้านภัยพิบัติ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของบุคลากรทางการแพทย์หลายฝ่าย โดยมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) เป็นผู้รับผิดชอบหลักได้ร่วมกันจัดสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติ เรื่อง “ความท้าทายของระบบบริการการแพทย์ไทยในการจัดการภัยพิบัติ” (National Conference on Challenges of Thai Medical System for Disaster Management) ขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2556 ณ ห้องราชมณเฑียร  โรงแรมมณเฑียร  กรุงเทพมหานคร เวลา 8.00-16.30 น. เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้  และประสานความร่วมมือ ของหน่วยงานที่ดูแลด้านภัยพิบัติในประเทศไทย ทั้งภาครัฐ  เอกชน องค์กรไม่แสวงผลกำไร  รวมไปถึงองค์กรต่างประเทศ  โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิจิตต รัตตกุล มาเป็นประธานเปิดงาน

                ดร.พิจิตต  รัตตกุล กล่าวว่า “ในอนาคตภัยพิบัติจะเปลี่ยนไป โดยจะมีความถี่มากขึ้น รุนแรงมากขึ้น และแปลกอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เช่น จากเดิมที่ลมเคยพัดเข้าประเทศไทยด้วยความเร็ว 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็จะเปลี่ยนไปเป็น 80-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นขั้นตอนการรับมือภัยพิบัติแบบเดิมๆที่มี 4 ขั้นตอน คือ ลดความเสี่ยง เตรียมความพร้อม เผชิญเหตุ และฟื้นฟู อาจไม่เพียงพอแล้ว การแพทย์ก็ต้องเตรียมอย่างมากในการช่วยชีวิต เช่นจากกรณีน้ำท่วมเมื่อปี 54  มีผู้เสียชีวิตไป 800 กว่าคน ขณะที่ประเทศเวียดนามซึ่งโดนน้ำไหลจากตอนบนประมาณ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าประเทศไทยเกือบสองเท่าครึ่ง แต่กลับมีผู้เสียชีวิตเพียง 80 คน แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังขาดการจัดการที่ดี ซึ่งจากสถิติของภัยพิบัติทั่วๆไป พบว่ามีผู้เสียชีวิตในขณะเกิดภัยพิบัติประมาณ 2 ใน 3 ขณะที่อัตราผู้เสียชีวิตภายหลังเกิดภัยพิบัติสูงถึง 30 % ดังนั้นการเตรียมความพร้อมทางการแพทย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจึงสำคัญมาก”

                “ทุกวันนี้ประเทศไทยไม่ได้เผชิญกับภัยพิบัติแบบเดิมๆอีกแล้ว ไม่ใช่แค่น้ำท่วมหรือคลื่นยักษ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ แต่ภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ “ภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรง”   ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนอย่างมาก เช่น ภัยจากภาวะแห้งแล้ง ก่อให้เกิดโรคระบาดที่ดื้อยา  โรคระบาดที่มากับน้ำท่วมขังยาวนาน หรือในเขตเมืองก็เกิดปรากฎการณ์โดมแห่งความร้อน ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ ที่มีกิจกรรมหลายอย่างที่ระบายความร้อนหรือมลพิษออกมาทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น เช่น แอร์คอนดิชั่น ไอเสียรถยนต์ เมืองก็จะร้อนมาก” ดร.พิจิตต  กล่าวสรุป

                นอกจากนั้นแล้ว นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์มหาอุทกภัยในประเทศไทยเมื่อปี 2554 ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ฟูกูชิมา ประเทศญี่ปุ่น, พายุทอร์นาโด  แคทรีน่า  ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  และแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น  สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยยังขาดระบบการจัดการภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมในหลายระดับ ทั้งระดับความร่วมมือระหว่างนานาชาติ  ระดับประเทศไปจนถึงระดับชุมชน

                สำหรับผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ได้แก่ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติจากองค์กร/หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ หน่วยงานจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) สภากาชาดไทย องค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงกลาโหม ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยหัวข้อการสัมมนามีดังนี้ การบริหารจัดการภัยพิบัติในอาเซียน (บทบาทของประเทศไทยในเวทีอาเซียน) ความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติขององค์กรระหว่างประเทศ(การมีส่วนร่วมของประเทศไทย) นวตกรรมในการจัดการภัยพิบัติทางการแพทย์ของประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การช่วยเหลือพิบัติภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น คาดว่าจะได้นำประสบการณ์องค์ความรู้ในการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพิ่มพูนศักยภาพในการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

                สภากาชาดไทย หนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ได้นำเสนอว่า ในอนาคตข้างหน้าประเทศไทยไม่อาจหลีกหนีเหตุการณ์น้ำท่วมได้ เนื่องจากอยู่ในโซนน้ำท่วม อย่างกรุงเทพฯ ระดับพื้นดินก็สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1 เมตรเท่านั้น น้ำแข็งจากขั้วโลกก็ละลายมากขึ้นทุกปี เพราะฉะนั้นควรเตรียมเรือไว้สำหรับหนีภัย และเรียนรู้วิธีการทำน้ำให้สะอาด เช่นนำน้ำที่ไม่สะอาดไปแกว่งสารส้มให้สิ่งสกปรกตกตะกอน หากสามารถจุดไฟได้ ให้นำน้ำไปต้ม ก็จะกลายเป็นน้ำสะอาดที่ดื่มได้ หากไม่สามารถจุดไฟได้ก็ต้องใช้ตัวช่วยที่เรียกว่า คลอรีนแท็บเล็ต  ซึ่งเป็นยาเม็ดฆ่าเชื้อที่ควรซื้อติดบ้านไว้ทุกบ้าน

                ด้านการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัตินั้น สภากาชาดไทยเสริมว่า ได้เตรียมไว้ทั้งในส่วนของครัวเคลื่อนที่ ที่มีทั้งหมด 5 ชุด แต่ละชุดสามารถผลิตอาหารได้ประมาณ 3,500-5,000 ชุด/วัน  แล้วก็ยังมี แฟมิลี่ เต้นท์ สำหรับเป็นที่พักชั่วคราวให้ผู้ประสบภัย  เตรียมไว้ทั้งหมด 200 กว่าหลัง  โดย 1 เต้นท์จะอาศัยอยู่ได้ 4 คน มีพื้นที่ 16 ตารางเมตร และก็หน่วยผลิตน้ำดื่มฉุกเฉิน รถสื่อสารเคลื่อนที่  รวมไปถึงทีมแพทย์ฉุกเฉิน

                นอกจากนั้นแล้ว ภายในงาน  สพฉ.ยังเตรียมเผยแพร่สื่อความรู้ “รู้แล้วรอด” ในรูปแบบที่หลากหลายสำหรับประชาชน นักเรียน ผู้สูงอายุ และคนพิการ อาทิเช่น “คู่มือรับมือภัยพิบัติ(ฉบับพกพา)” ซึ่งเป็นการ์ตูนสีสันสดใส ที่ทุกเพศทุกวัยเข้าใจง่าย “หนังสือเสียง” ที่ได้นักร้องชื่อดังอย่าง ป๊อด โมเดิร์นด็อก มาพากย์เสียงให้  “หนังสืออักษรเบรลล์” สำหรับผู้พิการทางสายตา  “การ์ตูนอนิเมชั่น” ซึ่งสร้างจากตัวการ์ตูนที่ชนะเลิศการประกวดคัดเลือกจากทั่วประเทศ โดยเร็วๆนี้ จะนำไปเผยแพร่ใน youtube และสื่อโทรทัศน์ต่อไป รวมไปถึงคู่มือ “แบบเช็ครายการสิ่งของจำเป็นในกระเป๋ายังชีพ” “เกมส์ต่อภาพจิ๊กซอว์”  และยิ่งกว่านั้นยังมี “เกมส์ผจญเมืองมหาภัยกับครอบครัวรู้รอด” เสริมทักษะความรู้ในการรับมือภัยพิบัติ ซึ่งเป็นเกมส์ด้านภัยพิบัติที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน โดยทาง สพฉ.เตรียมเผยแพร่สื่อความรู้ชุด “รู้แล้วรอด” สู่ประชาชนทั่วไปในเดือนสิงหาคมนี้ ติดตามรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ www.niems.go.th หรือ Facebook/สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่