เรย์ ดาลิโอ : สุดยอดแห่ง Macro Investor

เรย์ ดาลิโอ : สุดยอดแห่ง Macro Investor

เรย์ ดาลิโอ เป็นผู้บริหารกองทุน Hedge Fund ระดับโลกที่ร่ำรวยติดอันดับที่ 55 ของนิตยสาร Forbes ในรายชื่อล่าสุด Forbes 400

ทว่าสิ่งที่ทำให้นายดาลิโอ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คนที่ร่ำรวยแบบธรรมดาๆ ได้แก่ ความลึกของการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์และอารมณ์ที่ชอบบอกให้โลกรู้ว่าเขาเป็นนักคิดและนักปรัชญาระดับโลก คล้ายกับนักลงทุนคู่แข่งอย่าง จอร์จ โซรอส พูดง่ายๆ ว่า "รวยแบบติสท์" ในภาพรวมแล้ว นายดาลิโอ มีคุณลักษณะที่แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อยู่ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่

หนึ่ง มองทุกอย่างในโลกเหมือนเครื่องจักรกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไกการทำงานของฟันเฟืองทางเศรษฐกิจของโลก โดยในเดือนตุลาคม ปี 2008 ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์กำลังถึงจุดสูงสุด นายดาลิโอได้เขียนบทความความยาว 20 หน้า ชื่อว่า "แผนภูมิที่ช่วยให้เข้าใจว่าจะเกิดอะไรต่อจากนี้" โดยเขาได้กล่าวว่า เศรษฐกิจในขณะนั้นไม่ใช่เกิดเพียงแค่ ความถดถอยทางเศรษฐกิจ ทว่าเกิดสิ่งที่เรียกกันว่า Deleveraging หรือช่วงเวลาที่ผู้คนปฏิเสธที่จะกู้ยืมและพยายามเก็บออมเพียงอย่างเดียว โดยจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาชั่วอายุคนเลยทีเดียว แม้จะมีบางสำนักวิเคราะห์ไว้ทำนองนี้เช่นกัน ทว่าเมื่อระยะเวลาผ่านไปกว่า 3 ปี สิ่งที่เขาได้เขียนไว้ก็ยังคงเป็นความจริงอยู่

สอง การลงทุนแบบ Macro Investor ซึ่งหมายถึง การนำข่าวสารแบบรายวัน ทั้งข่าวเศรษฐกิจ สังคม การเงิน และการเมือง แล้วนำมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบเพื่อสร้างโอกาสการลงทุนให้กับตนเอง

ในขณะที่บรรดานักลงทุนของกองทุนกลุ่มเฮดจ์ฟันด์ทั้งหลาย ต่างพากันจ้องหน้าจอทั้งวันทั้งคืนเพื่อคอยเช็คดูความเปลี่ยนแปลงของตลาด ทว่านายดาลิโอ กลับนั่งพิจารณาเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อนำมารวบรวมให้เข้าเป็นจิ๊กซอว์อยู่ในกรอบใหญ่ที่เขาได้ออกแบบไว้ ซึ่งเขาเรียกมันว่า "เครื่องจักรกลทางเศรษฐกิจ" โดยเขามั่นใจว่าหากผู้ใดสามารถเข้าใจลายแทงหรือแบบแปลนของเครื่องจักรกลดังกล่าวได้อย่างถ่องแท้ กำไรจากการลงทุนเป็นเพียงแค่ผลพวงของความเข้าใจดังกล่าวเท่านั้น กำไรจากการลงทุนไม่ใช่เรื่องใหญ่ในสายตาเขา สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ มองฟันเฟืองของเครื่องจักรกลทางเศรษฐกิจให้ทะลุปรุโปร่ง เนื่องจากภาพที่ชัดเจนตรงจุดดังกล่าว สามารถนำมาซึ่งกำไรที่ไม่รู้จบและแทบจะปราศจากความเสี่ยงอีกต่างหาก โดยทุกวันที่นายดาลิโอตื่นขึ้นมาทำงาน สิ่งเดียวที่เขาทำก็คือ การเข้าใจว่าเครื่องจักรทางเศรษฐกิจในเวลานั้นทำงานอย่างไร

ทั้งนี้ ลูกค้าของนายดาลิโอทั้งหมด เป็นนักลงทุนสถาบันมิใช่บุคคลร่ำรวยที่นำเงินมาให้เขาบริหาร ดังนั้น นายดาลิโอจึงมีอิสระมากกว่าในการเลือกตราสารการลงทุน เนื่องจากมีนโยบายการลงทุนที่นิ่งกว่า รวมถึงมีหลักการในประเมินผลตอบแทนและความเสี่ยงที่สามารถใช้บริษัทการลงทุนอื่นมาเปรียบเทียบ ทั้งนี้ หลายคนทึ่งกับผลประกอบการของกองทุนของนายดาลิโอที่ดีอย่างต่อเนื่องไม่ว่าโลกจะเกิดวิกฤตอย่างไร ด้วยสไตล์การลงทุนแบบ Macro Investor ดังรูปที่ 1 และความเข้าใจต่อภาพเศรษฐกิจของโลกที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก ดังตัวอย่างในรูปที่ 2

เคล็ดลับความสำเร็จในการลงทุนของนายดาลิโอ ได้แก่ การบริหารความเสี่ยงที่ดีเยี่ยม แน่นอนว่าเขาเองเป็นคนที่กล้าได้กล้าเสีย ชอบการล่าสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ ทว่าเมื่อมาถึงบทต้องลงทุนจริงๆ แล้ว จะลงมือแบบกล้าเสี่ยงแบบนั้นไม่ได้ ภาพทางเศรษฐกิจและบรรยากาศการลงทุน ทุกอย่างต้องถูกมองแบบเป็นระบบ อะไรที่เป็นความเสี่ยง ต้องหลีกให้ห่าง ยกตัวอย่างเช่น กองทุนที่พยายามเอาชนะดัชนีตลาดที่ชื่อว่า Pure Alpha ของเขา เวลาจะลงทุน ก็กระจายความเสี่ยงแบบที่โอกาสขาดทุนแทบไม่มีอยู่ โดยเมื่อกลางปีที่แล้ว เขาได้ลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และ เงินเยน และขายเงินสกุลยูโรและหุ้นยุโรป แบบพร้อมๆ กัน แน่นอนว่าการลงทุนในลักษณะนี้ โอกาสพลาดมีอยู่น้อยมาก

ทั้งนี้ แนวทางการลงทุนดังกล่าว ไม่ใช่มองภาพเศรษฐกิจแบบนักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป การวิเคราะห์เพื่อลงทุนในรูปแบบนี้ ต้องมีความเข้าใจถึงมิติของตราสารทางการเงินที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลของตราสารการลงทุนแล้วมองขึ้นมาเป็นภาพใหญ่ อีกทั้งต้องสามารถประเมินความสัมพันธ์ของตัวแปรทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศในภูมิภาคของโลกได้อย่างเข้าใจเป็นอย่างดีอีกด้วย

สาม กลเม็ดในการบริหารจัดการบริษัทและบุคลากร ก็เป็นเหมือนเครื่องจักรกลเช่นกัน โดยพนักงานทุกคนจะได้ "คู่มือหลักการ" ความยาวหลายร้อยหน้า กล่าวถึงทุกอย่างที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตทำงานในบริษัทของเขา ที่เด่นๆ ได้แก่ กิจกรรม "getting in synch" นั่นคือ กระบวนการที่พนักงานทุกระดับชั้นจะได้รับการท้าทายแนวคิดหรือความเชื่อเกี่ยวกับมุมมองต่อตลาดอย่างเปิดเผยและไม่มีการ เกรงอกเกรงใจกัน โดยเขาเชื่อว่าสิ่งที่ขัดขวางพัฒนาการขององค์กร ได้แก่ การมีอัตตาในตนเองของพนักงาน ดังนั้น กระบวนการที่ว่าจะมีหน้าที่ทำลายอัตตาของพนักงานทุกคนในบริษัทของเขา ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงเพียงใดนั้น และจะช่วยให้สามารถบอกได้ว่าจุดเด่นและจุดด้อยของความคิดและความเชื่อของพนักงานแต่ละท่านว่าคืออะไร รวมถึงทัศนคติที่ว่าต้องกังวลอยู่เสมอว่าตนเองยังไม่พร้อมหรือขาดในความชำนาญในจุดใดหรือขาดข้อมูลอัปเดตของโลกภายนอกในประเด็นใด และคอยเติมเต็มในสิ่งนั้น อันนำมาอีกกิจกรรมที่ชื่อว่า "What’s going on in the world?" โดยได้นำหลักการของนักคิดระดับโลกที่กล่าวว่า ความก้าวหน้าจะเกิดขึ้นได้เมื่อสามารถนำความเจ็บปวดหรือบทเรียนมาพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งกิจกรรมที่ว่าจะมีการจัดให้มีการประเมินและถกเถียงความผิดพลาดในอดีตอย่างละเอียด

http://bit.ly/12ImDXc
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่