กู้วิกฤตศรัทธา เร่งเครื่อง"พีอาร์"ปราบโกง หลัง"ประชานิยม"พ่นพิษ

กระทู้สนทนา
อ่านมุมมองจากสื่อ...ต่อรัฐบาล ที่เปลี่ยนทีมงานโฆษกเป็นว่าเล่น
เป็นเพราะทีมงาน ไม่เก่ง ไม่เป็นมืออาชีพ ไม่สามารถ"สร้างภาพ"
ให้รัฐบาลจากประชาชน 15 ล้านเสียงเป็นดั่งเทพธิดาที่ไร้มลทิน

หรือว่า รัฐบาลไร้ราคา ไร้ผลงาน มีแต่..ขาดทุน และ ล้มเหลว และ ทุจริตโกงกิน
เลือกใช้เทวดามาเป็นพีอาร์ก็ไม่มีความหมาย หากทำงานผิดพลาด ปรับ ครม.ถี่ยิบ

ลองอ่านดู...ทำใจนิสนุงไม่มีอวย มีแต่ความจริง



ปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำเนินนโยบายประชานิยมของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สร้างความสั่นสะเทือนต่อสถานะของรัฐบาลอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะ "โครงการรับจำนำข้าว" ที่ถูกฝ่ายค้านหยิบยกมาโจมตีอย่างต่อเนื่อง ถึงความไม่โปร่งใส ตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง จนขาดทุนนับแสนล้านบาท อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อวินัยการเงิน การคลังของประเทศ

รวมถึงโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่กำลังอยู่ในขั้น "วิกฤต" เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่ง "เบรก" แผนการดำเนินงาน จนกว่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง และศึกษาผลกระทบต่อชุมชนที่อาจสร้างความรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อม

และการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของ "ศรีสุวรรณ จรรยา" นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เพื่อขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีที่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี "ปลอดประสพ สุรัสวดี" ประธาน กบอ. และ "ธงทอง จันทรางศุ" ประธานกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการบริหารจัดการน้ำ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

ล่าสุด ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้รวบรวม 132 รายชื่อ ยื่นถอดถอนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปู 2 ยกคณะ ฐานส่อทุจริตทำผิดกฎหมาย 5 ฉบับ ต่อประธานวุฒิสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นเหตุให้การเดินหน้า "โครงการน้ำ" ต้องสะดุดลง

โครงการ "ข้าว" และ "น้ำ" จึงกลายเป็น "มรสุมใหญ่" ของรัฐบาล อันนำไปสู่การปรับกระบวนทัพใหม่ถึง 18 ตำแหน่ง เพื่อหวังการแก้มือของ "รัฐมนตรี" ใหม่ ที่จะมาช่วยอุดช่องโหว่ และลดกระแสร้อนๆ ในการดำเนินงานของรัฐบาล

ทว่า บาดแผลความ "ไม่โปร่งใส" ของการดำเนินนโยบาย "ประชานิยม" ที่ได้รับความบอบช้ำอย่างหนัก ทำให้การปรับ ครม.ปู 5 ต้อง "โฟกัส" หรือเน้นหนักไปที่การลบภาพการทุจริตเป็นพิเศษ เพื่อเรียกความเชื่อมั่น-ศรัทธาของประชาชน รวมถึงนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศกลับคืนมา

โดยที่ล่าสุด "ยิ่งลักษณ์" เร่งเดินเครื่อง ร่วมประกาศเจตนารมณ์เดินหน้าพัฒนาประเทศไทย โดยยึดหลักธรรมาภิบาล ร่วมสานต่อนโยบายปราบปรามการทุจริต เพื่อสร้างมิติใหม่ และให้ทุกฝ่ายของสังคมร่วมตรวจสอบ ให้เป็น ครม.ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

ขณะที่ อาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ผ่าน "มติชน" ว่า การที่นายกรัฐมนตรีเปิดตัวโครงการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น แสดงให้เห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการคอร์รัปชั่นโดยฝ่ายตรงข้ามน่าจะได้ผล ถึงขั้นที่รัฐบาลต้องหยิบประเด็นนี้มาพิจารณา และพยายามปรับปรุงเรื่องนี้ แต่วิธีการอย่างนี้ จะเห็นว่ารัฐบาลหลายยุคหลายสมัยเคยใช้มาก่อน เมื่อบริหารบ้านเมืองไปสักระยะหนึ่งก็จะมีการประกาศว่าจะปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างเข้มข้นขึ้น

สำหรับรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในขณะนี้นั้นเผชิญกับปัญหาความไม่เชื่อมั่นของประชาชนเรื่องความโปร่งใส โดยเฉพาะในโครงการรับจำนำข้าว ประชาชนเริ่มไม่เชื่อถือเรื่องการบริหารจัดการข้าว ตั้งแต่การเก็บข้าวและการระบายข้าว ตลอดจนการใช้จ่ายเงินในโครงการนี้ก็ทำให้ประชาชนเริ่มมีความเคลือบแคลงใจ และเมื่อรัฐบาลมีการปรับราคารับจำนำไปมาก็ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของนโยบาย

แต่กลยุทธ์ปราบคอร์รัปชั่นในครั้งนี้จะได้ผลหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนที่อยู่กลางๆ ก็ยังไม่คิดถึงเรื่องนี้ เพราะยังให้โอกาสรัฐบาลได้ลงมือทำก่อน แต่ในขณะนี้เมื่อรัฐบาลทำงานมาได้ 2 ปี ประชาชนก็เริ่มคิดต่างออกไป คนที่อยู่กลางๆ เริ่มไม่เชื่อมั่นในการบริหารและความโปร่งใสของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น

กลยุทธ์ที่มีลักษณะเหมือนเป็นการตีฆ้องร้องป่าวว่าจะปราบคอร์รัปชั่นอาจเป็นกลยุทธ์ที่มาช้ากว่าที่ควรจะเป็น เพราะการปราบคอร์รัปชั่นควรมาพร้อมกับนโยบายตั้งแต่ต้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทยอาจไม่คำนึงถึงเรื่องนี้มากนักในตอนแรก แต่ถ้าถามว่ามาช้าดีกว่าไม่มาหรือไม่ ก็คงตอบว่า แต่อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์เช่นนี้คงไม่สามารถทำให้คนเชื่อมั่นได้เหมือนเมื่อ 2 ปีก่อน

ที่ผ่านมา การจัดการกับเรื่องคอร์รัปชั่นของรัฐบาล เราแทบไม่เคยได้ยินข่าวเรื่องนี้อย่างจริงจัง หรือเห็นกรณีที่เป็นรูปธรรม ขณะนี้ถ้าจะมีวิธีใดที่สามารถเรียกความเชื่อมั่นในเรื่องนี้กลับมา รัฐบาลคงต้องสรรหาบุคคลมาดูแลด้านนี้อย่างเข้มแข็งและเป็นบุคคลที่สังคมให้ความเชื่อมั่น แต่หากพิจารณาจากการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ายังไม่พบบุคคลที่มีความโดดเด่นในด้านนี้เลย

การที่ถูกมองว่า ประเด็นคอร์รัปชั่นมักจะเป็นข้อกล่าวหาลำดับแรกๆ ในการจุดกระแสล้มรัฐบาลนั้น ในเกมการเมืองระบบรัฐสภา การล้มรัฐบาลสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่ นายกรัฐมนตรีประกาศลาออกจากตำแหน่ง หรือประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ กระบวนการเหล่านี้ถือเป็นวิธีการในระบอบประชาธิปไตย และจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อพรรคเพื่อไทยทันที แต่ถ้ามีกลุ่มบุคคลใดหวังใช้ประเด็นคอร์รัปชั่นเป็นเพียงข้ออ้าง เพื่อเปิดทางให้มีการยึดอำนาจด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สถานการณ์จะกลับกัน รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยจะกลับมาสร้างความสนับสนุนทางการเมืองได้ทันที โดยการบอกว่านี่คือวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

การลุกขึ้นมาคัดค้านตรวจสอบรัฐบาลเป็นเรื่องที่ดี และเป็นสิ่งที่คนจำนวนมากใฝ่ฝัน เพราะเมื่อเลือกรัฐบาลเข้ามาแล้ว เราไม่ได้มอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้รัฐบาล แต่คำถามคือสังคมไทยจะผลักการตรวจสอบไปสู่การใช้ทุกวิธีการในการล้มรัฐบาลหรือไม่ เพราะในด้านหนึ่ง เมื่ออำนาจฝ่ายบริหารถูกจำกัดมากเสียจนทำอะไรไม่ได้เลย รัฐบาลก็จะดูเหมือนทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และอาจกลายเป็นว่าทำให้ผู้คนเสื่อมศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย

ธำรงศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าคนจำนวนมากจะไม่ต้องการให้มีการคอร์รัปชั่น แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ไม่ต้องการอำนาจนอกระบบ หรือการรัฐประหารเช่นกัน ดังนั้น หากฝ่ายใดต้องการดึงความนิยมจากประชาชนกลุ่มที่เป็นกลางๆ เหล่านี้ ต้องคำนึงทั้งการตรวจสอบคอร์รัปชั่นและการรักษารัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย

หน้า 11,มติชยนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2556

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1372930900&grpid=&catid=01&subcatid=0100
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่