องค์กรต้านคอร์รัปชันหนุน คสช.ตั้ง กก.สอบโกงจำนำข้าว / ไทยรฐ



องค์กรต้านคอร์รัปชันหนุน คสช.ตั้ง กก.สอบโกงจำนำข้าว


องค์กรต้านคอร์รัปชันหนุน คสช.ตั้งกรรมการสอบจำนำข้าว จ่อเสนอนโยบาย 4 ข้อเร่งด่วน เพื่อหวังให้ประเทศเดินหน้าด้วยความโปร่งใส...

วันที่ 29 พ.ค. 57 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (แห่งประเทศไทย) นำโดย นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนการปฏิรูปประชาธิปไตยด้วยการขจัดคอรัปชัน ว่า ช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามามีบทบาทในการสร้างความสามัคคีและความสงบให้ประเทศนั้น ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่จะปฏิรูปมาตรการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน เพื่อปิดช่องทางในการทุจริตทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ

ทั้งนี้ องค์กรต่อต้านคอรัปชันฯ ขอเสนอให้ คสช. เร่งพิจารณาเรื่องต่อไปนี้อย่างเร่งด่วน คือ 

1.แก้ไขกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคของหน่วยงานภาครัฐ ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน และจัดทำแผนปฏิบัติการให้เป็นฐานการป้องกันการคอร์รัปชัน ไม่ว่าบุคคลใดจะเข้ามามีอำนาจในอนาคต

2.ส่งเสริมและให้อำนาจองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชัน เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำงานอย่างมีอิสระและมีประสิทธิภาพ

3.ส่งเสริมและสร้างกลไกให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส

และ 4.ปฏิรูประบบการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ให้โปร่งใส เพื่อให้ได้ผู้นำที่ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบ เข้ามาบริหารบ้านเมือง ทั้งนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในงานที่เกี่ยวข้อง



ทางด้าน นายสมพล เกียรติไพบูลย์ รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ทางเครือข่ายองค์กรต่อต้านการคอร์รัปชันฯ ได้หารือร่วมกัน โดยมีบุคคลสำคัญ อาทิ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส, นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย, นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมประชุม

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือร่วมกันตามข้อเสนอของตน ในประเด็นการตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวที่พบว่า มีการทุจริตมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านบาท โดยใช้อำนาจพิเศษของ คสช. ที่ถือว่ามีอำนาจในการบริหารและทางนิติบัญญัติ เพื่อให้การตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เป็นไปได้ด้วยความรวดเร็ว และมีส่วนในการช่วยงานของ ป.ป.ช. ที่พบว่าการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ยังติดขัดเรื่องการขอข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดพิเศษดังกล่าว ที่ประชุมยังไม่ได้หารือในรายละเอียด แต่ได้ฝากให้บุคคลที่ร่วมประชุมนำไปเป็นข้อเสนอ ในการประชุมร่วมกับหัวหน้าฝ่ายต่างๆ ของ คสช.ด้วย 



ขณะที่ นายประมนต์ กล่าวเสริมว่า คณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อตรวจสอบการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวนั้น ถือเป็นข้อเสนอเชิงคำถามไปยัง คสช. หากผู้มีอำนาจเห็นด้วย สามารถรับไปดำเนินการได้ในทันที ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการด้านการลงทุน ตามที่ข่าวระบุว่า คสช. เตรียมดำเนินการนั้น ตนขอเรียกร้องให้มีมาตรการตรวจสอบด้วยการส่งเสริมภาคประชาชนให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด หาก คสช. ต้องการให้เครือข่ายฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ตนยินดีที่จะที่เข้าไปมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนมาตรการปราบปรามและป้องกันการทุจริต



ส่วนนายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านการคอร์รัปชันฯ กล่าวว่า ขณะนี้โลกออนไลน์ได้ตั้งคำถามต่อแนวทางปฏิบัตติของ คสช. ในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันว่า จะทำจริง หรือเป็นแค่เรียกคะแนนนิยม ตนมองว่า ปัจจุบันมีเสียงของประชาชนต่อแนวทางการผลักดันเรื่องการปฏิรูป ด้านป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชัน ดังนั้น เชื่อว่าแนวทางของภาคประชาชนและผู้ที่มีอำนาจในประเทศ คือ คสช.จะเห็นตรงกัน ส่วนมาตรการเพื่อการขจัดการคอร์รัปชันได้ คือ

1.ลงนามในร่างกฎหมายตามการร่วมลงนามในอนุสัญญาประชาชาติ ว่าด้วยการคอร์รัปชัน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ หลังจากที่กระทรวงยุติธรรมได้ยกร่างและนำเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาแล้วถึง 2 ครั้ง

2.ลงนามในร่างกฎหมายว่าด้วยองค์การอิสระ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค หลังจากที่ผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการร่วมแห่งสภาแล้ว

และ 3.กำหนดนโยบายของรัฐ ให้มีการบริหารจัดการที่มีมาตรฐานและธรรมาภิบาล โดยเทียบเท่ากับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อมีเกณฑ์ในการตรวจสอบ หรือเปิดเผยการทำงาน


ระหว่างการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงความเหมาะสมต่อชื่อบุคคล ในคณะที่ปรึกษา คสช. โดยนายสมพล กล่าวว่า ถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ มีประสบการณ์ ดังนั้น รายชื่อคณะที่ปรึกษาที่ คสช. เลือกมานั้น ไม่มีประเด็นใดที่น่าสงสัย.

http://www.thairath.co.th/content/426113
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่