ผมแค่อยากมาเตือน !!!

กระทู้สนทนา
ก่อนหน้านี้ทำได้แค่เดือน คนสนิท เพื่อนๆ ญาติๆ วันนี้คิดว่าอยากทำความดี เอาความรู้ ประสบการณ์มาเป็นวิทยาทานให้กับเพื่อนๆใน สินธร พันทิป เพราะวันหนึ่ง ผมก็เคยเป็นเหมือนคุณ

ผมคือใคร ?
- ก็แค่คนธรรมดา ที่มีเงินเท่าไรลงทุนในตลาดหุ้น"เกือบ" หมด (ปัจจุบันยังเป็นอยู่  นิสัยเสีย แก้ไม่หาย)   ไม่ขอบอกว่าทำงานอะไร แต่ค่อนข้างเกี่ยวกับแวดวงการเงินพอสมควร

การลงทุนในหุ้น
- ผมเริ่มลงทุนในปี 2005 ก่อนวิกฤต subprime แต่ก็แค่ซื้อขายเล็กๆน้อยๆเท่านั้น เพราะไม่มีเวลา  มาลงทุนจริงจังก็ช่วงปี 2008-2009 ซึ่งช่วงนั้นดัชนีอยู่ที่ประมาณ 300 กว่าจุด (ถ้าคิดไม่ออก  เตือนความจำด้วยราคาหุ้น CPF=4 บาท)  ผมเหมือนเทพเลย ซื้ออะไรก็ขึ้น คิดว่าตัวเองเก่ง เซียน  เงินง่ายแบบนี้เองหรอ  คิดแม้กระทั่งว่าจะออกจากงานมาเทรดหุ้นด้วยซ้ำ กำไร 2000-3000 ต่อวันนี่ หมูๆเลย เริ่มให้เวลากับตลาดหุ้นมากขึ้น เรียนอ่านกราฟ  ชีวิตช่วงนี้ขาขึ้นมาก บินไปเที่ยวโน่นนี่บ่อย สบายใจ ชีวิตมีความสุข  

แล้วเกิดอะไรขึ้น ?  
- ปัญหาเริ่มมา ชีวิตที่ใช้เงินสบายๆ  กลับกลายเป็นนิสัยในขณะที่ตลาดเริ่มอิ่มตัว  การใช้จ่ายยังเป็นแบบเดิม แต่กำไรจากหุ้นไม่ได้มากเท่าเก่า   อีกทั้งการวิเคราะห์เทคนิคไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะตลาดบ้านเรานั้นมันเดาทิศทางยาก  มีคนคุมราคาเยอะ ทั้งกลุ่มทุนและการเมือง ไม่มีทางชนะเขาหรอก  เพราะการดูกราฟคือการวิเคราะห์จิตวิทยาของนักลงทุน โดยคาดการณ์จากสถิติของสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต  ซึ่งของเหล่านี้ ถูกคิดค้นและพัฒนาโดยตลาดทุนที่พัฒนาแล้วเช่น สหรัฐฯ หรือ ญี่ปุ่น แต่ในบ้านเราคนมันไม่ได้ใช้ความรู้หรือแม้แต่sense ในการเทรด   ดังนั้นหากคุณหวังเงินกินขนมรายวัน ผมว่า คุณออกจากตลาดไปเปิดร้านข้าวมันไก่ยังให้ผลตอบแทนดีกว่า  

คุณคือ VI ??
-  ผมไม่ใช่  VI^ เพราะผมไม่ได้หวังแค่ปันผล  ผมหวัง Growth หวัง Capital Gain หวังทุกอย่าง  วิธีการวิเคราะห์บริษัทของผมคือการดูที่บริษัท ความสามารถในการแข่งขันและทำกำไร จากนั้นค่อยมาดูที่ราคา  ถ้ามันแพง ต่อให้บริษัทดียังไง ผมก็ไม่ซื้อ เหมือนคุณทดลองขับ Honda City , Toyota Vios แล้วรู้สึกว่า มันคือรถที่ดี  ผมถามคุณว่าคุณอยากซื้อรถเหล่านี้ในราคาคันละ 3 ล้านหรือเปล่า ?  

^เหตุผลอธิบายอยู่ตอนท้าย

ทำยังไงให้อยู่รอดในตลาด?
- ตั้งราคาหุ้นที่อยากได้ ที่คิดว่าสมเหตุสมผล แล้วจดใส่กระดาษ แปะไว้หน้าห้องน้ำ และในห้องน้ำ  โดยทุกๆ สามเดือน ให้เปลี่ยนกระดาษใหม่ (เพราะกระดาษเดิมอาจจะเปื่อยไปแล้ว )  โดยยังคงเขียนชื่อบริษัทเดิม แต่ก่อนที่จะเขียนราคาที่อยากซื้อ ให้ดูก่อนว่า พื้นฐานมันเปลี่ยนไปไหม  เขายังดำเนินธุรกิจดีอยู่หรือเปล่า ถ้าใช่ ใส่ราคาลงไปแล้วเอาไปแปะไว้ที่เดิม   วันไหนที่ราคาหุ้นมันลงมาถึงจุดที่ใกล้ๆกับราคาที่เราอยากได้ ซื้อไปเลย อย่าไปสนใจ ทิ้งมันไว้ ก็แค่เปลี่ยนกระดาษทุกๆสามเดือนอย่างเดิม  อย่าคิดว่าจะขายที่ราคาไหน  แต่ให้ถามว่า ถ้าจะซื้อเพิ่ม คุณพร้อมที่จะจ่ายเท่าไร

ผมซื้อหุ้นโดยไม่ค่อยดูดัชนี เพราะบางครั้งดัชนีมันไม่มีเหตุผล ผมซื้อหุ้นตัวนึงตอน SET อยู่ 1600 จุด แต่มันก็ยังบวกจนถึงปัจจุบัน    

จริงๆจั่วหัวให้มันดูน่าสนใจไปงั้นแหละ ผมอยากจะเข้ามาทั้งแนะนำและเตือนนักลงทุนรุ่นใหม่ ที่เพิ่งเข้ามาและ"ทิ้ง" เงินอย่างไม่เป็นระบบระเบียบ  ผมไม่อยากจะขัดขาใคร และไม่เคยคิดจะดิสเครดิตสมาชิกในห้องนี้ แต่การลงทุนในตลาดหุ้นนั้น หากคุณต้องติดตามว่า สัญญาณหุ้นนี้เป็นอย่างไรจาก pantip อยู่สม่ำเสมอ  คุณต้องระวังตัว เพราะโอกาสขาดทุนนั้นมันมากจนประเมินไม่ถูกเลยที่เดียว

บริษัทหลายแห่งซื้อขายกันแพงมาก แต่ก็ยังมี Volume ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง

สุดท้ายนี้ ขอบอกและย้ำอีกครั้งว่า "ผมไม่ใช่ และไม่เคยเทียบตัวเองกับ Value Investor เพราะคำนี้มัน "ศักดิ์สิทธิ์" เกินกว่าที่ผมจะใช้ได้  ถึงแม้หลักการณ์จะคล้ายๆกันก็ตาม  ทุกวันนี้คนใช้คำว่า VI กันเกลื่อนมาก ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่ามันไม่สมควร  นอกจากนี้ ผมยินดีจะตอบทุกคำถาม เว้นเสียแต่จะไม่แนะนำหุ้นใดๆทั้งนั้น  ไม่บอกว่าควรซื้อควรขายหุ้นรายตัว  ตัวนี้ดีไม่ดี"  

ผมไม่อยากเห็นคนต้องเอาเงินมาทิ้งในตลาดหุ้น  ผมอยากให้ทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจ ก่อนที่จะเข้ามาลงทุน

ขอให้โชคดีครับ
สาธุ


--> เพิ่มเติม.
อย่าตามข่าวมากนะครับ เปลืองเวลาโดยใช่เหตุ อ่านบ้างเล็กๆน้อยๆ ไม่จำเป็นต้องถึงขนาด real time เฝ้าดูดัชนี ดูค่าเงินทั่วโลกตลอดเวลา
คนโง่จะหาข่าวมาอธิบายเป็นเหตุผล(ข้ออ้าง)ตอนตลาดปิดได้ตลอดสื่อไม่ได้ฉลาดมากไปกว่าเราหรอก  ถ้าแน่จริง ทายให้แม่นๆ ก่อนตลาดเปิดสิ แล้วค่อยว่ากันใหม่

คนมีเงินพอที่จะลงทุนในตลาดหุ้นได้ ควรจะมีความรู้ และความสามารถในการคิดวิเคราห์ถึงความเกี่ยวโยงกันของข้อมูล   ถ้ายังเล่นกับข่าวรายวัน ก็คงยากที่จะรวยครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่