คู่ชีวิต ชีวิตคู่

กระทู้สนทนา
"คู่ชีวิต" น่าจะเป็นคนที่ห่วงใยและดูแลกันและกันอย่างดีที่สุด หากพูดถึงความรัก คงยากจะตัดสินว่าระหว่างคู่ชีวิต ลูกหลาน ญาติ หรือมิตรสหาย ใครจะรักเรามากกว่ากัน แต่ถ้าวัดเฉพาะความห่วงใยและการดูแลกันยามเจ็บไข้ได้ป่วย คนที่เป็น "คู่ชีวิต" ดูเหมือนจะเป็นคนที่รู้ใจมากที่สุด ดูแลได้ดีที่สุด และอาจจะเป็นห่วงเป็นใยที่สุดเลยด้วยซ้ำ

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความผูกพัน เพราะเป็นคนที่อยู่ใกล้กันที่สุดและใช้เวลาด้วยมากที่สุดในชีวิต สิ่งที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งดูแลอีกฝ่ายหนึ่งยามเจ็บไข้ได้ป่วยอาจเป็นเพราะเขาหรือเธอรู้สึกอยู่ลึกๆ ว่า ฉันขาดคนคนนี้ไปไม่ได้ แม้ระหว่างอยู่ด้วยกันจะทะเลาะกันบ้าง หัวเราะกันบ้าง ยิ้มและบึ้งตึงสลับกันไป แต่ทั้งสุขทุกข์เหล่านั้นล้วนประกอบกันขึ้นมาเป็น "ชีวิตคู่"

"ชีวิตคู่" เป็นสิ่งที่คนที่ดำเนินชีวิตแบบ "ชีวิตคี่" อาจเข้าไม่ถึงเพราะไม่เคยสัมผัส

"ชีวิตคู่" เริ่มต้นจากการโบกมือลาความอิสระ เสียสละความเป็นตัวเองบางส่วนเพื่อเปิดพื้นที่ให้อีกคนที่เรารักได้เป็นตัวของเขา ก่อนที่ชีวิตสองชีวิตที่มีส่วนแตกต่างกันจะค่อยๆ ผสมกลมเกลียวเป็นเนื้อเดียวกัน--เป็น "ชีวิตคู่"

คำว่า "เนื้อเดียวกัน" มิได้หมายความว่ากลมกลืนกันจนไม่มีปัญหา หากหมายความว่าทั้งสองคนได้ใช้เวลาศึกษากันและกันผ่านการทะเลาะ คืนดี ง้องอน โกรธ ให้อภัย และอะไรอีกมากมายจนกระทั่งเส้นทางแห่งการใช้เวลาศึกษากันนั้นเองได้ก่อร่างสร้าง "ชีวิตคู่" ขึ้นมา ซึ่งเป็นชีวิตอีกรูปแบบที่ทั้งคู่ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน

เมื่อใช้เวลากับ "ชีวิตคู่" ที่ว่านี้นานเข้า "ชีวิตคู่" ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนทั้งสองไปพร้อมๆ กัน หาก "ชีวิตคู่" หายไปจากชีวิตของพวกเขา พวกเขาย่อมรู้สึกราวกับบางส่วนของชีวิตแหว่งวิ่นไปด้วย

กาแฟตอนเช้าที่เคยมีคนนั่งตรงข้าม ข่าวเช้าที่เคยมีคนข้างๆ นั่งฟังนั่งเม้าท์ไปด้วยกัน อาหารที่เคยมีอีกคนตักใส่จานชวนให้กิน ผลไม้ที่เคยมีคนปอกให้ เวลาจะยกของหนักก็มีอีกคนมาช่วยเหลือ ยามช้อปปิ้งที่เคยมีคนช่วยเข็นรถเข็น และอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงตอนนอนที่มีคนนอนกรนอยู่ข้างๆ ตลอดเวลานับสิบๆ ปีที่ผ่านมา

หาก "คู่ชีวิต" หายไป "ชีวิตคู่" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตย่อมหายไปด้วย

และชีวิตก็จะไม่ใช่ชีวิตเดิมที่เขาหรือเธอคุ้นเคยอีกต่อไป วันรุ่งขึ้นของการจากไปของอีกคนหนึ่งนั้นจะแตกต่างไปอย่างมากจากหลายสิบปีที่ผ่านมา อาจต้องใช้เวลาปรับสมดุล "ชีวิตใหม่" สักระยะ

เมื่อผ่านโมงยามแห่งความผูกพันมาเนิ่นนาน ไม่ว่าคู่ชีวิตที่รักกันหวานซึ้งหรือหงุดหงิดใส่กันอยู่บ่อยๆ ล้วนไม่ต้องการดำเนินชีวิตแบบเพียงลำพังโดยไม่มีอีกคน การจากไปของคู่ชีวิตอาจเป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาอยากจะจินตนาการ

คนบางคนที่อยู่กับเรามานาน เขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบ้านเท่านั้น แต่เขายังเป็น "ส่วนหนึ่งของเรา" อีกด้วย

การดูแลกันและกันของคนแก่จึงมีความจริงบางสิ่งซ่อนอยู่ในนั้น มันมิใช่ความรักหวานชื่นในช่วงเริ่มคบหาเอาใจ หากเป็นความรู้สึกหวาดหวั่น กลัวการสูญเสีย กลัวที่จะต้องอยู่ตัวคนเดียว ปะปนกับความห่วงใย ความรัก และความผูกพัน

นอกจากจะคิดถึงคู่ชีวิตแล้วยังคิดถึงตัวเอง และคิดถึง "ชีวิตคู่" ซึ่งเป็นส่วนกลางที่ทั้งสองคนแชร์ร่วมกัน ซึ่งย่อมไม่มีวันเหมือนเดิม หากใครสักคนจากไป

เมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น แน่นอนว่าผู้ป่วยย่อมต้องการกำลังใจจากผู้คนมากหน้าหลายตา แต่คนที่จะอยู่ข้างๆ อย่างกลมกลืนที่สุดย่อมหนีไม่พ้น "คู่ชีวิต" เพราะนอกจากรู้ใจแล้ว เขาหรือเธอยังดูแลผู้ป่วยด้วยความรู้สึกห่วงใยจากส่วนลึกอย่างแท้จริง

เป็นความห่วงใยที่ไม่มีใครเทียบเท่า

เป็นความห่วงใยที่บ่มเพาะผ่านกาลเวลา

ยิ่งเราผูกพันและใช้เวลากับใครมากเท่าไหร่ เรายิ่งห่วงใยเขามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในแง่หนึ่งเราก็กำลังห่วงใยตัวเองไปพร้อมๆ กัน

ความห่วงใยที่ว่านี้ลึกซึ้งกว่าใครคนใดในโลก เพราะมันเป็นความห่วงใยที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวที่จะต้องสูญเสีย "ส่วนหนึ่งของฉัน" ไปพร้อมๆ กับ "การจากไปของเธอ"

จริงอยู่, ความรักมิใช่การอยากครอบครอง แต่บางครั้ง, ความรักนำมาซึ่งความหวาดกลัวที่จะต้องพลัดพราก

มิได้ต้องการฉุดรั้งไว้เป็นของฉัน หากแต่ต้องการใช้เวลาร่วมกันต่อไปอีกนานเท่านาน

ความรู้สึกที่ซับซ้อนเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นกับ "คู่ชีวิต" ที่ได้ใช้ "ชีวิตคู่" ร่วมกันมานาน เป็นความรู้สึกที่ "คนนอก" ซึ่งไม่ใช่ "คู่ชีวิต" สองคนนั้นไม่มีวันเข้าถึง ได้แต่แอบมอง ใช้ความคิด และจินตนาการว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรต่อกัน

สิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นและไม่มีทางเข้าใจนั้นเอง เป็นสิ่งที่ "คู่ชีวิต" ทั้งสองสัมผัสจากกันและกันได้ โดยที่เขาและเธอไม่มีทางได้รับความรู้สึกนี้จากผู้อื่นใดๆ อีก

ความรัก ความผูกพัน ความห่วงใย--เราควรเรียกสิ่งนี้ด้วยถ้อยคำเหล่านี้หรือไม่ หรือมีถ้อยคำใดที่มีความหมายครอบคลุมทั้งด้านกว้างและลึกของความรู้สึกนี้

แต่ต่อให้ไม่มีชื่อเรียกความรู้สึกนี้ก็มิใช่ปัญหา เพราะมันถูกสื่อสารออกมาผ่านสิ่งที่ไม่ใช่ถ้อยคำอยู่เสมอ

ความรู้สึกที่ลึกซึ้งและพิเศษมักไม่ถูกเอ่ยออกมาเป็นถ้อยคำ หากแต่มันเกิดขึ้นจริงในช่องว่างระหว่างคนสองคนในโมงยามที่ทั้งสองต่างต้องการกันและกัน

ความจริงย่อมไม่ใช่คำพูด

สิ่งพิเศษมิอาจมองเห็นได้ด้วยตา

มีเพียงคนสองคนที่สัมผัสถึงสิ่งนั้นเท่านั้นที่รู้

ว่ามันมีอยู่จริง.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่