// ผ่าโครงสร้าง'เพื่อไทย' ใต้บงการ 'ทักษิณ ชินวัตรและวงศ์วาน'....//

กระทู้ข่าว

การทำงานการเมืองของพรรคการเมืองในประเทศไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้น ต้องยอมรับว่า พรรคเพื่อไทย ที่ถูกมองว่าเป็นพรรคอันดับหนึ่งเรื่องการจัดวางระบบโครงสร้างพรรค โดยเป็นการสานต่อและปรับปรุงระบบมาจาก พรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน ที่โดนยุบพรรคไป

              อดีตที่ผ่านมาพรรคการเมืองในประเทศไทยนั้น เสมือนเป็นต้นสังกัดของ ส.ส.ที่มีไว้เพียงเพื่อรองรับสถานภาพ ส.ส.ในการลงสมัครเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนกิจกรรมทางการเมืองนั้น เรียกได้ว่า ส.ส.จะดูแลพื้นที่ของตัวเองและอยู่ใกล้ชิดกับแกนนำกลุ่มที่มีบทบาทในพรรคเท่านั้น เพราะหากมีการเลือกตั้งขึ้นมาคราวใด คนการเมืองจำพวกนี้พร้อมที่จะสละเสื้อ ส.ส.ที่เคยสังกัดทันที (หากมีความขัดแย้ง) และสวมเสื้อว่าที่ ส.ส.ของพรรคใหม่ที่ย้ายไปสังกัดในหลากเหตุผลที่จะนำไปใช้หาเสียงกับชาวบ้านในพื้นที่ของตัวเอง

              ปัจจัยหลักที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะ "กระสุนดินดำ" ที่นายทุนพรรคใหม่+หัวหน้ากลุ่มจะเทมาให้ว่าที่ ส.ส.ใช้ในการรณรงค์และมีเงื่อนไขเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นองค์ประกอบย่อยด้วย (หากส.ส.คนนั้นสามารถดูแล ส.ส.ในกลุ่มได้ตามจำนวน+ทะลุจำนวนโควตาที่ตั้งไว้) ส่วนนโยบายพรรคนั้นแทบจะไม่มีใครใช้หาเสียงเลย

              เมื่อพรรคไทยรักไทยเข้าสู่สนามการเมือง “นโยบายพรรค+ภาพลักษณ์แกนนำพรรคที่เป็นคนรุ่นใหม่” คือจุดขายที่ทำให้ชาวบ้านประทับใจ เพราะพรรคต่างๆ ไม่เคยใช้แนวทางนี้หาเสียง (ช่วงนั้นคนการเมืองรุ่นใหม่จำนวนมาก+ขาใหญ่การเมืองที่เจนสังเวียนจำนวนหนึ่งมาผนึกกำลังจนทำให้พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมาก) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 เมื่อครบวาระ 4 ปี ความมั่นใจตรงนี้ยิ่งทวีคูณในการเลือกตั้งปี 2548 เพราะพรรคไทยรักไทยสร้างประวัติศาสตร์ในการเป็นรัฐบาลพรรคเดียว โดยมี 376 ส.ส.พร้อมด้วยฐานเสียง 19 กว่าล้านคะแนนเป็นเครื่องบ่งชี้เบื้องต้น

              ต่อมามีความขลุกขลักในช่วงตั้งพรรคพลังประชาชน แทนที่พรรคไทยรักไทยที่โดนยุบพรรค แต่ท้ายสุดโมเดลแห่งความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยได้นำมาต่อยอดในการสร้างพรรคเพื่อไทยในวันนี้ ต้องยอมรับว่า เป็นโครงสร้างพรรคที่ถูกบิดเพื่อปิดจุดอ่อน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่พรรคเคยเจอ

              หลังจากบทเรียน 31 พฤษภาคม 2550 (การยุบพรรคไทยรักไทย) และ 2 ธันวาคม 2551 (การยุบพรรคพลังประชาชน) พรรคเพื่อไทยจึงแบ่งการทำงานใหม่ คือ ในคณะกรรมการบริหารพรรคแทบจะไม่มีคีย์แมนสำคัญอยู่ เพื่อป้องกันผลกระทบจากการยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีของผู้บริหารพรรคตามกฎหมาย

              คีย์แมนสำคัญในกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยในวันนี้ มีเพียง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคและรมว.มหาดไทย และนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นอกนั้นเป็นแกนนำพรรคที่ไม่ค่อยมีบทบาทหน้าฉาก ส่วนเวทีประชุม ส.ส.พรรคที่จัดขึ้นทุกวันอังคารนั้น พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อและแกนนำ นปช.รับหน้าที่นี้

              ส่วนโครงสร้างการบริหารพรรคที่เป็นตัวจริง(แต่ไม่เป็นทางการ)นั้น คีย์แมนเหล่านี้มาจากอดีตนักโทษการเมืองบ้านเลขที่ 111 และบ้านเลขที่ 109 ส่วนใหญ่จะเคยร่วมงานกับ พ.ต.ท.ทักษิณมาก่อน รวมทั้งโครงสร้าง ส.ส.ในสัดส่วนของคนเสื้อแดงก็จะมีมุมหนึ่งในพรรคที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อ เช่น ประสานผ่าน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.มหาดไทย หรือผ่าน ส.ส.คนเสื้อแดง อาทิ นพ.เหวง โตจิราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง

              โครงสร้างอย่างเป็นทางการและอย่างไม่เป็นทางการนั้น แน่นอนว่าจะอยู่ในสายการสั่งการแบบสไกป์เข้าร่วมประชุม รวมทั้งโทรศัพท์สายตรงสั่งการแบบเป็นการเฉพาะตัวจาก พ.ต.ท.ทักษิณอีกด้วย และหากขาดตกบกพร่องด้านใด นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย จะช่วยประสานในด้านนี้ (เพราะนางเยาวภาสามารถเข้านอกออกในวงประชุมต่างๆ ได้ทุกวงประชุม)

              ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น เห็นได้ว่ามีการป้องกันราวไข่ในหิน เพราะวาระการประชุมพรรคทั้งวงใหญ่-วงเล็ก หากมีความสุ่มเสี่ยงใดๆ นั้น จะไม่เห็นเงาของนายกฯ หญิงคนนี้ร่วมประชุม (เว้นแต่วาระสำคัญๆ ที่มีผลทางกฎหมายเท่านั้น นายกฯ จึงไปร่วมประชุม) ส่วนตำแหน่งในพรรคนั้น นายกฯ จะครองเพียง ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่านั้น เพราะข้อผิดพลาดจากพี่ชาย-พี่สาว-พี่เขยนั้น เป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องเก็บ "ขุน" ไว้ในมุมปลอดภัยที่สุดบนกระดานการเมืองแห่งสยามประเทศ

              ทั้งหลายทั้งปวงนี้ยังอยู่ภายใต้การคอนโทรลของคนไกลบ้านที่สั่งการทุกอณูในพรรคเพื่อไทย-นปช.-ครม.-ส.ส.+ส.ว.บางส่วนในการผลักดันนโยบายรัฐบาลและอายุการทำงานของรัฐนาวาลำนี้ไปให้ถึงฝั่งฝันของอดีตอัศวินควายดำที่พลัดถิ่นในวันนี้นั่นเอง

              โครงสร้างเพื่อไทย ปกป้อง "กล่องดวงใจ"

              แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี พร้อมกับการที่พรรคถูกยุบ บอกว่า ตามโครงสร้างปัจจุบันของพรรค คณะกรรมการยุทธศาสตร์ถือว่าเป็นคณะกรรมการที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนพรรค

              "เมื่อก่อนเราจะมีคณะผู้บริหารพรรค และกรรมการยุทธศาสตร์ เมื่อกรรมการยุทธศาสตร์มีมติอะไร ต้องนำเข้าคณะผู้บริหารพรรคอีกครั้ง ทั้งๆ ที่คนที่อยู่ในกรรมการยุทธศาสตร์ล้วนแต่เป็นคีย์แมนและเป็นผู้มีประสบการณ์ของพรรค ตอนหลังเราจึงตัดขั้นตอน โดยเลิกคณะผู้บริหารพรรค แล้วเหลือแต่กรรมการยุทธศาสตร์" แหล่งข่าวกล่าว

              ส่วนกรรมการบริหารพรรคนั้น แหล่งข่าวบอกว่า หลังจากมีประสบการณ์ถูกยุบพรรคมาแล้ว 2 รอบ ทำให้พรรคไม่สามารถใส่คนสำคัญๆ ของพรรคไว้ในกรรมการบริหารพรรคได้ คนที่เป็นกรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่จึงเป็นประเภทที่หากถูกยุบพรรค ถูกตัดสิทธิทางการเมืองก็ไม่กระทบต่อการดำเนินงานของพรรค

              "ที่สำคัญคือ นายกฯ จะอยู่ในกรรมการบริหารพรรคไม่ได้ เพราะนายกฯ คือกล่องดวงใจ ฉะนั้นหากโดนยุบพรรคอีกก็ไม่ต้องเปลี่ยนนายกฯ ไม่เหมือน 2 ครั้งที่ 2 ผ่านมา ที่พอถูกยุบพรรคก็กระทบตำแหน่งนายกฯ ด้วย จากประสบการณ์ทำให้เราต้องปิดช่องที่จะทำให้เกิดปัญหา" เขากล่าว

              นักวิชาการวิจารณ์โครงสร้างเพื่อไทย เป็นแบบรวมศูนย์ กก.บห.พรรคเป็นเพียงหุ่นเชิด

              อาจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า พรรคเพื่อไทยมีโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจ ที่ชัดเจนที่สุดคือ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ที่ไม่มีสถานะเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคอย่างเป็นทางการ ส่วนหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคที่มีอยู่ปัจจุบันเป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะเขากลัวการถูกยุบพรรค ซึ่งการลงโทษด้วยการยุบพรรคถือเป็นข้อจำกัดของการจัดวางโครงสร้างพรรคที่เอื้อต่อการพัฒนาพรรคในระยะยาว

              โดยประเด็นที่เห็นชัดเจนจากการรวมศูนย์อำนาจที่ชัดเจนที่สุด คือ การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่คนเสื้อแดงซึ่งเป็นฐานเสียงสนับสนุนใหญ่ของพรรคเพื่อไทยต้องการให้มีการนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชน แต่ร่างกฎหมายที่เสนอโดยคนของพรรคเพื่อไทยกลับไม่ได้เสนอตามนั้น

              "หากวันนี้ไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณ และตระกูลชินวัตร พรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นพรรคเล็กที่มีกลุ่มก๊วนจำนวนมาก"

              อาจารย์สิริพรรณ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสมาชิกพรรคและสาขาพรรคน้อยลง ตอนเป็นพรรคไทยรักไทยมีสมาชิกพรรคถึง 16 ล้านคน สาขาพรรคที่มีก็มีเฉพาะที่กฎหมายกำหนด ทั้งที่ตัวสาขา และสมาชิกพรรค มีความสำคัญต่อโครงสร้างของพรรค เพราะพรรคการเมืองที่ดีต้องมีนโยบายที่มาจากประชาชนมาสู่ผู้บริหารหรือกรรมการบริหาร

              ซึ่งนโยบายพรรคเพื่อไทย แม้ถูกใจประชาชน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีคนคิดไม่กี่คน เป็นลักษณะท็อปดาวน์ ซึ่งระยะยาวไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชน ทำให้นโยบายบางอย่างพลาดเป้า เช่น แท็บเล็ต, โครงการเอื้ออาทร เพราะไม่ได้ตอบสนองคนส่วนใหญ่ และไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวได้


โครงสร้างพรรคเพื่อไทย

              1.คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค เป็นชุดที่คิดนโยบายเพื่อใช้หาเสียงเลือกตั้งเมื่อครั้งตั้งพรรคเพื่อไทยใหม่ๆ โดยมีแกนนำพรรคที่เคยเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และบ้านเลขที่ 109 ทำงานในคณะนี้เป็นส่วนใหญ่ เช่น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ (ประธาน) พงศ์เทพ เทพกาญจนา สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ วราเทพ รัตนากร จาตุรนต์ ฉายแสง นพดล ปัทมะ โภคิน พลกุล พิชัย นริพทะพันธุ์ ภูมิธรรม เวชยชัย สาโรช หงษ์ชูเวช (คนสนิท พ.ต.ท.ทักษิณ)

              2.คณะกรรมการยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์พรรค เป็นชุดที่ถูกตั้งขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการ เพราะต้องการรองรับสมาชิกบ้านเลขที่ 109 ที่อยากเข้ามาช่วยงานการเมือง ทั้งนี้ ระยะหลังคณะนี้คนเริ่มน้อยลง เพราะถูกแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกันเป็นจำนวนมาก โดยแกนนำพรรคที่ดูแลงานด้านนี้ เช่น นพดล ปัทมะ ชูศักดิ์ ศิรินิล   นพ.วัลลภ ยังตรง พิชัย นริพทะพันธุ์

              3.คณะกรรมการกฎหมาย พรรคเพื่อไทย คณะนี้ทำงานด้านกลั่นกรองและเสนอกฎหมายสำคัญๆ ของพรรค รวมทั้งเป็นคณะที่เตรียมต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญหากมีข้อพิพาทในประเด็นการเมืองขึ้นในช่วงนั้นๆ โดยแกนนำพรรคที่ดูแลงานนี้ คือ โภคิน พลกุล นพดล ปัทมะ ชูศักดิ์ ศิรินิล พีระพันธุ์ พาลุสุข พิชิต ชื่นบาน

              4.คณะประสานภารกิจพรรค เป็นชุดที่ประกอบด้วยประธานโซนทั้ง 19 โซนที่เป็นรัฐมนตรีเพื่อดูแลจังหวัดต่างๆ ที่มีส.ส.พรรคเพื่อไทย และทำหน้าที่กลั่นกรองข้อร้องเรียนจาก ส.ส.ในพื้นที่เพื่อประสานการเร่งแก้ปัญหา

              ภาคกลางมี 4 โซน โซนที่ 1 พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.มหาดไทย โซนที่ 2 นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน โซนที่ 3 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ โซนที่ 4 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม

              ภาคเหนือมี 3 โซน โซนที่ 1 นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ โซนที่ 2 นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง โซนที่ 3 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

              ภาคอีสาน 6 โซน โซนที่ 1 นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย โซนที่ 2 นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน  โซนที่ 3 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมช.คมนาคม โซนที่ 4 นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข โซนที่ 5 พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม โซนที่ 6 นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

              ภาคใต้ 3 โซน โซนที่ 1 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.วิทยาศาสตร์ฯ โซนที่ 2 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ โซนที่ 3 นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯและรมว.ศึกษาธิการ

              กทม. 3 โซน โซนกทม.ชั้นใน นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย โซนตะวันออก น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โซนฝั่งธนบุรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ

              5.คณะกรกฎ คณะนี้ประกอบด้วยนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 (ตท.10) ที่เป็นอดีตนายทหารและนายตำรวจที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เดิมประชุมอาทิตย์ละ 2 ครั้ง แต่หลังๆ หลายคนเริ่มลาออกไป จึงไม่ค่อยประชุม แต่ช่วงก่อนเลือกตั้งปี 2554-หลังเสร็จศึกเลือกตั้งนั้น คณะนี้ประชุมกันบ่อยครั้ง เพื่อจับกระแสขั้วตรงข้ามในการที่ก่อการล้มรัฐบาลเพื่อไทย หรือแม้แต่หากมีการชุมนุมใหญ่ๆ คณะนี้ก็จะมอนิเตอร์ภาพรวมการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ทางการเมืองก่อนประมวลผลส่งพรรค

.......................

(หมายเหตุ : ผ่าโครงสร้าง'เพื่อไทย' ใต้บงการ 'ทักษิณ ชินวัตรและวงศ์วาน' : สมัชชา หุ่นสาระ, ประพันธ์ จินดาเลิศอุดมดี, ขนิษฐา เทพจรรายงานhttp://www.komchadluek.net/detail/20130610/160621/ผ่าโครงสร้างพท.ใต้บงการแม้วและวงศ์วาน.html)
-----------------------------------------------------
ปลวก แดง จะอ่านหมดมั้ยเนี่ย มันยาวมาก....
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่