"พุทธทาส ภิกขุ บุคคลสำคัญของโลก" โดย ศ.พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)



อาจถือได้ว่าท่านพุทธทาสได้รับการยกย่องจากยูเนสโกเพราะปณิธาน ๓ ข้อ ดังนี้

๑. มุ่งส่งเสริมให้ศาสนิกของแต่ละศาสนาเข้าถึงหัวใจศาสนาของตน
๒. มุ่งสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
๓. ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาจากวัตถุนิยม

ปณิธานทั้ง ๓ ข้อนี้น่าจะเป็นคุณสมบัติโดดเด่นที่สุดของท่านพุทธทาสในสายตายูเนสโก

ข้อที่หนึ่งที่ว่ามุ่งส่งเสริมให้ศาสนิกของแต่ละศาสนาเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน หมายถึงอะไร
ท่านอาจารย์พุทธทาสอธิบายว่า
“ทุกศาสนาพระศาสดามุ่งหมายจะทำลายความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกิเลสและเกิดความทุกข์
เห็นแก่ตัวแล้วก็ทำตัวนั้นให้เป็นทุกข์ก่อน แล้วมันก็ขยายออกไป ทั้งทำผู้อื่นให้พลอยเป็นทุกข์ด้วย
เพราะความเห็นแก่ตัว”

ท่านพุทธทาสกล่าวว่าการทำลายความเห็นแก่ตัวก็คือทำลายตัวกูของกูด้วยวิธีฝึกให้จิตว่างไม่ยึดมั่นถือมั่น

ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนทำลายความเห็นแก่ตัว

ทำไมศาสนาคริสตถึงใช้ไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์ เพราะไม้กางเขนนั้นตัดตัวกูของกู มีรูปเป็นตัวไอ (I)
และศาสนาคริสต์สอนให้ทำลายตัวกูของกูด้วยการขีดเส้นตัดตัวไอก็จะได้ไม้กางเขน
ไม้กางเขนก็ไม่ใช่อะไรเลยนั่นก็คือการทำลาย ตัวกูของกู

เมื่อศิษย์คนหนึ่งขอให้พระเยซูสรุปบัญญัติ ๑๐ ประการให้เหลือเพียงข้อเดียว
พระเยซูตอบว่า ข้อนั้นคือเรื่องความรัก รักเพื่อนมนุษย์ รักพระเจ้า
เมื่อรักเพื่อนมนุษย์และรักพระเจ้า ก็จะเสียสละหรือสละความเห็นแก่ตัว
เพราะความรักต้องเป็นความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว


ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูสอนว่าในที่สุด ชีวิตของเราจะรวมกันเข้าเป็นหนึ่งกับปรมาตมันหรือพรหมัน  
ไม่มีความเป็นตัวกูเหลืออยู่

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเปรียบชีวิตของคนเราเหมือนหยดน้ำที่ต้องไปรวมกับพรหมัน
ที่เปรียบเหมือนทะเล เมื่อหยดน้ำไปรวมเป็นทะเลก็แยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นหยดน้ำ
เพราะไม่เหลือความเป็นตัวกูของกูแห่งหยดน้ำ

เมื่อบรรลุเป้าหมายคือรวมเป็นหนึ่งกับพระเจ้าในศาสนาคริสต์ อิสลามหรือพราหมณ์-ฮินดู

ก็จะไม่เหลือตัวกูของกู

เพราะฉะนั้นท่านพระพุทธทาสจึงกล่าวว่า

ทุกศาสนาเหมือนกันหมดคือมุ่งทำลายตัวกูของกู คือความเห็นแก่ตัว

ที่ท่านพุทธทาสขอให้ศาสนิกของทุกศาสนาเข้าถึงแก่นของศาสนา ก็คือเข้าถึงความไม่มีตัวกูของกู

และตรงกับที่ท่านสอนเรื่องจิตว่างมาตลอดชีวิตนั่นแหละ
เพราะฉะนั้น คำสอนเรื่องจิตว่างของท่านพุทธทาสรวมลงอยู่ในปณิธานข้อที่ ๑

ที่มา: http://watprayoon.org/index.php?topgroupid=1&subgroupid=223&groupid=43
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่