อิสลามกับหลักสิทธิมนุษยชน

โดย อ.อับดุลลอฮ แดงโกเมน


         ชาวโลกส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าโลกตะวันตก คือ ฝ่ายที่ประกาศเรื่องสิทธิมนุษยชนก่อนใคร เพราะพวกเขาประกาศตนว่าเป็นกลุ่มที่พัฒนาแล้วในทุกๆด้าน โดยเฉพาะในเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งมีข้ออ้างสามประการคือ ภารดรภาพ เสรีภาพ และความเสมอภาค ในทำนองเดียวกันได้มีปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน องค์กรสหประชาชาติได้ประกาศเมื่อ 60 กว่าปีมาแล้ว เพื่อพัฒนาและแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ที่มีอยู่ในคำประกาศของฝรั่งเศสเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน

          แต่ในความเป็นจริง มุสลิมและชาวโลกทั้งหมดต้องทราบความจริง คือ แท้จริงแล้วอิสลามได้ประกาศเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่า 14 ศตวรรษแล้ว ก่อนที่ฝรั่งเศสจะประกาศถึง 12 ศตวรรษ และก่อนที่องค์กรสหประชาชาติจะประกาศมากกว่า 1380 ปี  

         อิสลามมิได้ประกาศเรื่องนี้เฉพาะชนชาติใดชนชาติหนึ่งเท่านั้น หรือเฉพาะยุคใดยุคหนึ่ง แต่เป็นการประกาศเพื่อเป็นหลักการที่สมบูรณ์แบบสำหรับชาวโลกทั้งมวล อิสลามมิได้บังคับให้ผู้คนนับถือศาสนาด้วยการใช้กำลัง และใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด ตามที่ถูกกล่าวหา โจมตีจากผู้ไม่หวังดีต่อศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นยังประกาศอย่างชัดแจ้งว่า อิสลามให้สิทธิเสรีภาพในความเชื่อ โดยได้รับการค้ำประกันภายใต้ร่มธงร่มเงาแห่งอิสลาม ดังที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน อายะฮ์ที่ 256 ซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ ความว่า

"ไม่มีการบังคับใดๆ (ให้นับถือ) ในศาสนาอิสลาม ความถูกต้องนั้นได้เป็นที่ประจักษ์แล้ว จนแยกออกจากความผิด"

         อิหม่าม อิบนุกะษีร อธิบายอายะฮ์ นี้ว่า

         "พวกเจ้า อย่าได้บังคับผู้หนึ่งผู้ใด ให้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม เพราะศาสนาอิสลามกระจ่างชัดด้วยความจริง ชัดเจนด้วยหลักฐาน และข้อพิสูจน์ ตลอดทั้งโต้แย้งกับผู้คนทุกยุคทุกสมัย ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ใครเข้ารับอิสลาม แต่ทว่าคนใดที่อัลลอฮ์ทรงนำทางให้เขาเข้ารับอิสลาม และเปิดใจให้ความสว่างแก่เขา ด้วยการศึกษาหาข้อเท็จจริง เขาก็จะยอมรับ ส่วนคนที่อัลลอฮ์ ให้หัวใจเขามืดบอด ไม่ยอมฟัง ไม่ยอมคิด ไม่ใช้สติปัญญา ก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่เขาจะเข้ารับอิสลาม โดยปราศจากความจริงใจ ด้วยการถูกบังคับขู่เข็ญ"

         ท่านเราะซูล  ไม่ตอบรับข้อเสนอของ ฏุฟัยล์ บิน อัมร อัดเดาซีย์ เมื่อเขาต้องการให้ส่งทหารเพื่อทำสงครามกับกลุ่มชนของเขา เพื่อใช้กำลังบีบให้พวกเขาเข้ารับศาสนาอิสลาม ท่านเราะซูล   กล่าวตอบว่า

"ท่านจงกลับไปยังพวกของท่าน จงดูแลและปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างอ่อนโยน"

        ครั้งหนึ่งมีศอฮาบะฮ์ เป็นชาวมะดีนะฮ์ มาหาท่านเราะซูล  ขอร้องให้ใช้วิธีการบีบให้พ่อแม่รับอิสลาม แต่ก็ถูกปฏิเสธไป

         อาจมีผู้สงสัยว่า ในเมื่ออิสลามให้สิทธิเสรีภาพในการเชื่อถือเคารพบูชาสิ่งอื่นจากอัลลอฮ์  แล้วทำไมการทำสงครามสมัยท่านเราะซูล  และการพิชิตดินแดนของบรรดาเคาะลีฟะฮ์ จึงเกิดขึ้นกับชนที่ไม่ใช่มุสลิม ?

คำตอบ - การทำสงครามและการพิชิตดินแดนที่เกิดขึ้นมากมายหลายครั้ง ไม่ใช่เพื่อใช้กำลังบีบบังคับให้ผู้คนเข้ารับอิสลามแต่อย่างใดทั้งสิ้น จากหลักฐานได้มีการทำสัญญาประนีประนอม มีการเจรจาสันติภาพ ซึ่งท่านเราะซูล  ได้ทำขึ้นกับคู่สงครามที่ต่อต้านการประกาศศาสนาของท่าน เมื่อพวกเขาต้องการยุติการสู้รบ และยังมัหลักฐานการทำสัญญาหลายครั้งที่บรรดาเคาะลีฟะฮ์ ได้ให้ไว้แก่บรรดากลุ่มชนและชาวเมืองต่างๆที่ไมใช่มุสลิม แต่แท้ที่จริงแล้ว การทำสงครามและการพิชิตดินแดนในอิสลาม มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองและค้ำประกันการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ให้ปลอดภัยจากการรุกรานและการทำลายร้าง จากบรรดาศัตรูที่จ้องขัดขวาง และฉกฉวยโอกาสบดขยี้อาณาจักรอิสลาม และมุสลิมให้อ่อนแอลง

         อิสลามประกาศการให้สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ในความเป็นมนุษย์ทางด้านสิทธิและหน้าที่ ในกรณีต่างๆที่อิสลามให้การยอมรับคือ ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ในการวัดกันที่สีผิว เชื้อชาติ สายตระกูล ความมั่งมี ความยากจน แต่ความประเสริฐ ณ ที่อัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า ผู้สร้างมนุษย์ คือ การมีคุณธรรม การยำเกรงต่ออัลลอฮ์   อัลลอฮ์  ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮ์ อัลฮุญุรอต อายะฮ์ ที่ 13 ความว่า

"โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเรา(อัลลอฮ์) ได้สร้างพวกเจ้ามาจากชาย(อาดัม) และหญิง(ฮาวาอ์) และเราได้ให้พวกเจ้ากระจายเป็นเชื้อชาติตระกูล และเป็นเผ่าชนต่างๆ เพื่อพวกเจ้าจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮ์ คือ ผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริง อัลลอฮ์นั้นทรงรู้ อย่างหาผู้ใดเปรียบมิได้ ผู้ทรงเชี่ยวชาญหยั่งรู้(อย่างสมบูรณ์ทุกเรื่องไม่มีสิ่งใดที่พระองค์จะไม่รู้)"

         อิบนุ กะษีร อธิบายอายะฮ์นี้ว่า

         "มนุษย์ทุกคนนั้นมีเกียรติในความเป็นมนุษย์ ที่มีเชื้อสายมาจากธาตุดิน มีต้นกำเนิดเดียวกัน คือ นะบีอาดัม  เท่าเทียมกันทั้งสิ้น แต่จะมีความเหลื่อมล้ำกว่ากัน ขึ้นอยู่กับความรู้ในเรื่องศาสนา หมายถึงการฏออัตต่ออัลลอฮ์ (เชื่อฟัง) และการปฏิบัติตามเราะซูลของอัลลอฮ์  คือ ท่านนะบีมุฮัมมัด  ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮ์  ทรงตรัส ห้ามการนินทา และเหยียดหยามซึ่งกันและกัน เพราะทุกคนมีความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ "

         มีรายงานจาก อบูฮุรอยเราะฮ์  ว่า ท่านเราะซูล  ถูกถามว่ามนุษย์กลุ่มใดที่มีเกรียติมากที่สุด ท่านตอบว่า "คนที่มีเกรียติในหมู่พวกเขา ณ อัลลอฮ์ คือ  ผู้ยำเกรงมากที่สุด" พวกเขากล่าวว่า เราไม่ได้ถามท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านเระซูล  กล่าวว่า "ดังนั้นคนที่มีเกรียติที่สุดคือ ยูซุฟ ผู้เป็นนะบีของอัลลอฮ์  บุตรของนะบีอัลลอฮ์ (ยะอ์กูบ) บุตรของนะบีอัลลอฮ์ (อิสหาก) บุตรของสหายของอัลลอฮ์ (อิบรอฮีม)" พวกเขากล่าวว่า เราไม่ได้ถามท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านเราะซูล  กล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้นก็หมายถึงเชื้อสายอาหรับใช่ไหม ที่พวกท่านถามฉัน ?" พวกเขาตอบว่า ครับ ท่านเราะซูล   กล่าวว่า "ดังนั้นคนดีของพวกท่านในยุคญาฮิลิยะฮ์ ก็เป็นคนดีของพวกท่านในอิสลาม เมื่อพวกเขาเข้าใจ(ในเรื่องศาสนาอิสลาม)" (รายงานโดย บุคอรีย์)

         จากอะบีซัร เล่าว่า ท่านนะบี  กล่าวแก่เขาว่า

"ท่านจงมองดูตัวเองให้ดี เพราะว่าท่านไม่ได้ดีกว่าคนผิวแดง ไม่ได้ดีไปกว่าคนผิวดำแต่อย่างใด นอกจากท่านจะประเสริฐกว่าเขา ก็ด้วยการมีความตักวา(ยำเกรง)ต่ออัลลอฮ์ มากกว่ากันเท่านั้น" (รายงานโดย อะหมัด)

         สรุปว่า : อิสลามไม่มีบัญญัติบังคับผู้คนให้เข้ารับอิสลาม และปราศจากการใช้กำลังและความรุนแรง อัลลอฮ์  ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮ์ยูนุส อายะฮ์ที่ 99 ความว่า

" และหากพระเจ้าของเจ้า ทรงประสงค์แล้วไซร้ ผู้ที่อยู่ในแผ่นดินนี้ทั้งมวล จะต้องศรัทธาอย่างแน่นอน เจ้าจะบังคับผู้คนทั้งหลาย จนกระทั่งเขากลายเป็นผู้ศรัทธากระนั้นหรือ ?"


- เรื่องการศึกษา อิสลามได้กำหนดให้ทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิงต้องเรียนรู้ เพื่อปฏิบัติสิ่งที่จำเป็นในชีวิตเท่ากัน เพราะการศึกษานั้นเป็นสิ่งจำเป็น

- บัญญัติอิสลามคุ้มครองผู้บริโภค

- บัญญัติอิสลาม คุ้มครองเด็ก สตรี คนชรา คนอ่อนแอ คนป่วย คนพิการ

- อิสลามคุ้มครองมนุษย์ทุกคน ด้วยหลักการทำดีต่อกัน หลักประกันสังคม โดยอาศัยบัญญัติซะกาต การบริจาคเพื่อช่วยเหลือสังคม การว่าจ้าง การค้าขาย การยืม การรักษาพยาบาล ฯลฯ

จาก :สารดาริสสลาม


http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=30&id=1898

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่