ฟรีดริช แอคเคอร์มานน์ หนึ่งในคณะผู้เชี่ยวชาญไทย ในคดีปราสาทพระวิหาร 2505 ตอกย้ำแผนที่ฝรั่งเศสผิด!

กระทู้สนทนา


สัมภาษณ์พิเศษ มติชน 21 เมษายน 56



ชื่อของ ฟรีดริช แอคเคอร์มานน์ อาจไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยมากนัก แต่ชายชราชาวเยอรมันผมขาวโพลนวัย 82 ปี ผู้นี้ มีบทบาทอันสำคัญเกี่ยวเนื่องกับคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 เพราะเขาคือ ทีมงานที่ วิลเลียม เซมาฮอลล์ ทนายความตัวแทนฝ่ายไทยส่งให้ลงไปสำรวจพื้นที่สันปันน้ำตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชาใกล้กับปราสาทพระวิหาร

มาถึงวันนี้ 50 ปีหลังคำพิพากษา คดีปราสาทพระวิหารถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา โดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลกอีกครั้ง หลังจากที่กัมพูชายื่นขอให้ศาลตีความคำพิพากษา ด้วยเหตุผลว่าไทยและกัมพูชายังมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่อง "บริเวณโดยรอบ" หรือ Vicinity ของปราสาท

โชคดีที่แอคเคอร์มานน์ในวัยชรายังคงมีความทรงจำที่ชัดเจน และยังเดินทางมาร่วมรับฟังการชี้แจงด้วยวาจาเพิ่มเติมที่ศาลโลกอย่างกระฉับกระเฉง เราจะพาคุณไปย้อนอดีต และรับฟังมุมมองของชายผู้ที่มีส่วนเกี่ยวพันกับคดีประวัติศาสตร์ของคนไทยในบรรทัดถัดไป

@ คุณเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสำรวจสันปันน้ำตลอดแนวชายแดนใกล้กับปราสาทพระวิหารได้อย่างไร

เวลานั้นผมทำงานให้กับสถาบันภาพถ่ายนานาชาติ (Institute of International Photography) ซึ่งศาสตราจารย์เซมาฮอลล์ เป็นผู้อำนวยการ ผมเข้าใจว่า เซมาฮอลล์ถูกทาบทามโดยผู้แทนไทยให้รับงานนี้ และได้รับภาพถ่ายทางอากาศในพื้นที่ดังกล่าวมาชุดหนึ่ง ตอนนั้นผมอายุ 32 ปี และรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดทำแผนที่ ซึ่งก็คือการหาเส้นสันปันน้ำนั่นแหละ แต่มีปัญหาเล็กน้อยบางอย่างเกิดขึ้น เนื่องจากพื้นที่นั้นปกคลุมด้วยป่าทึบและต้นไม้สูง

ซึ่งจากภาพถ่ายเหล่านั้น ผมไม่สามารถมองเห็นอะไรใดๆ บนพื้นดินได้เลย คือผมอาจเห็นว่าตรงไหนเป็นลำธาร

แต่ไม่สามารถจำแนกสภาพแวดล้อมข้างเคียงได้

ที่บริเวณปราสาทพระวิหาร มันมีลำธารเล็กๆ สายหนึ่ง และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมฝรั่งเศสจึงเกิดความผิดพลาด เพราะลำธารทอดตัวไปมาทิศนั้นทิศนี้ ที่ผมพูดได้ว่า ฝรั่งเศสทำผิดพลาดเพราะผมได้ไปลงพื้นที่จริงๆ และได้สำรวจพบอย่างชัดเจนว่า สันปันน้ำในพื้นที่นั้นทอดตัวไปตามหน้าผา ซึ่งไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยภาพถ่าย เว้นแต่จะลงไปสำรวจพื้นที่จริงเท่านั้น และนั่นก็คืองานที่ผมทำ โดยผมเป็นหนึ่งในทีมงาน 15 คน ที่เดินทางเข้าไปยังพื้นที่ปราสาทพระวิหารร่วมกับกรมแผนที่ทหารของไทยในปี 2504

@ แต่การสำรวจนั้นเกิดขึ้นหลังการทำแผนที่ของฝรั่งเศสนานมาก

ผมอธิบายอย่างนี้ก็แล้วกัน การทำแผนที่ของฝรั่งเศสเกิดขึ้นใน ค.ศ.1904 (พ.ศ.2447) อินโดจีนซึ่งเป็นดินแดนภายใต้การครอบครองของฝรั่งเศสได้ผนวกพื้นที่ดังกล่าวเป็นจังหวัดหนึ่งของกัมพูชา ภูมิภาคแถบนี้เป็นภูเขาสูง ขณะที่ฝั่งกัมพูชาเป็นที่ต่ำ ดังนั้น สันปันน้ำควรเป็นเส้นเขตแดนระหว่างสองประเทศ และควรมีการสำรวจหาสันปันน้ำในพื้นที่ แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามีการสำรวจจริงหรือไม่ เพราะขณะนั้นเป็นยุคล่าอาณานิคม ประเทศไทย (สยามในขณะนั้น) คงไม่อาจทำอะไรในเรื่องนี้ได้มาก

@ แปลว่าแผนที่ของฝรั่งเศสไม่ได้จัดทำขึ้นโดยยึดหลักสันปันน้ำหรือ

คิดว่าไม่ เพราะการจะให้ฝรั่งเศสส่งชุดลงสำรวจคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก แน่นอนว่า ผมไม่เคยเห็นบันทึกว่าฝรั่งเศสจัดทำแผนที่นี้ขึ้นได้อย่างไร แต่ในมุมมองของผม ผมเชื่อว่าฝรั่งเศสทำให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพราะถ้าไม่ลงพื้นที่ก็จะไม่เห็นข้อเท็จจริง ซึ่งจะทำให้เกิดการตีความผิดพลาด ตัวอย่างเช่น ลำห้วยในบริเวณปราสาทพระวิหาร ไม่ได้ไหลไปตอนเหนือแต่ไหลไปอีกทางซึ่งอยู่ไม่ไกล แต่หากเราพิจารณาว่าเส้นสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน และการถกเถียงกันยืนอยู่บนเหตุผลดังว่า ปราสาทพระวิหารก็ต้องอยู่ในฝั่งไทย

@ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีสันปันน้ำอีกเส้นหนึ่งที่วิ่งไปทางอื่น

สันปันน้ำในพื้นที่แบบนี้โดยทั่วไปมักจะวิ่งไปตามขอบหน้าผา ซึ่งผมก็พบเส้นตามนั้นและได้ชี้จุดไปแล้ว และยังพิสูจน์ซ้ำอีกครั้งด้วยการเดินสำรวจพื้นที่ดังกล่าวและยังพบอีกว่า ไม่มีเส้นทางน้ำบนพื้นที่นั้นเหมือนกับที่ฝรั่งเศสลากเส้นไว้ ผมไม่แน่ใจว่าฝรั่งเศสทำเรื่องนี้โดยตั้งใจหรือไม่

แต่ผมไม่มั่นใจว่าเขาจะลงสำรวจหาสันปันน้ำจริงในพื้นที่ แต่คงจะลากเส้นขึ้นมาเฉยๆ เพราะเอาเข้าจริงผมก็ไม่อาจรู้ได้หรอก เพราะสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอินโดจีนแล้ว

@ เป็นไปได้หรือไม่ว่า ฝรั่งเศสอยากได้พระวิหาร แล้วก็ลากเส้นนั้นขึ้นมา

ผมไม่รู้จริงๆ แต่คิดได้ว่ามันคงเป็นไปทำนองนั้น เพราะพวกเขาอยากให้อินโดจีนฝรั่งเศสปกครองดินแดนนั้น เส้นเขตแดนเดิมก็คือ จังหวัดกัมโพธ (province of Cambodge) ทั้งหมดซึ่งถูกยึดครองไปเมื่อปี 2447 และอีกครั้งในปี 2450 นั่นแหละ ผมคิดว่า ไทยในเวลานั้นคงทำอะไรไม่ได้มากกับอำนาจเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสที่แข็งแกร่ง

@ หลังการสำรวจ ได้จัดทำเอกสารขึ้นมาบ้างหรือไม่?

ทำแน่นอน ผมทำแผนที่ขึ้นมาตามลักษณะของพื้นที่ที่เป็นสันปันน้ำ แต่ไม่ได้เก็บมันไว้แล้ว ผมเคยเก็บไว้กับตัวตลอดเวลา แต่พอย้ายไปอยู่อีกที่หนึ่งซึ่งไม่มีที่เก็บพอเมื่อ 3 ปีก่อนนี้ก็เลยต้องทิ้งไป แล้วตอนนั้นก็ไม่ได้ติดต่อกับประเทศไทยมาเลยในช่วง 30 ปี ผมเลยทิ้งไปเหมือนกับหนังสืออื่นๆ

@ เคยขึ้นให้การในศาลโลกเมื่อ 50 ปีก่อนหรือเปล่า?

เคยครับ ผมใช้เวลาหลายวันขึ้นให้การต่อศาล เพื่อบอกสิ่งที่เราได้ทำลงไปและอธิบายเรื่องสันปันน้ำ ผมถูกซักค้านโดยทนายของฝ่ายกัมพูชาในเวลานั้นหลังจากที่ได้เสนอรายงาน คำพิพากษาของศาลระบุว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายเชื่อว่าไม่มีแนวเส้นสันปันน้ำ แล้วก็มีบริษัทหนึ่งที่สนับสนุนกัมพูชา บอกว่าในปี 1904 (พ.ศ.2447) อาจมีอะไรสักอย่างเกิดขึ้น

แต่พื้นที่ส่วนนี้สงบมาก ไม่เคยมีแผ่นดินไหวใหญ่ ไม่เคยมีภูเขาไฟ ไม่มีแผ่นดินถล่ม เรื่องนี้เป็นเรื่องยาว แต่ในที่สุด เมื่อศาลบอกว่า เอาละ สันปันน้ำไม่มีความสำคัญอีกแล้ว ศาลพิพากษาบนพื้นฐานนั้น แต่ผมเห็นว่านั่นเป็นความผิดพลาด

ผมเคยอ่านหนังสือที่บอกว่า แนวสันปันน้ำที่สามารถใช้เพื่อกำหนดเขตแดน บางทีอาจเริ่มจาก โอตาเซม, พนมตรับ แล้ววกขึ้นเหนือตามที่เห็นในแผนที่ของฝรั่งเศส

ไม่ใช่ นั่นผิดแน่ โอตาเซม ไม่ใช่แม่น้ำเป็นแค่ลำธารขนาดเล็ก และแนวสันปันน้ำไล่ไปตามแนวหน้าผา ไม่ได้ไปทางอื่น ความเห็นของผมอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงเรื่องสันปันน้ำอย่างเดียว ผมสามารถประกาศได้เลยว่า แผนที่ของฝรั่งเศสนั้นผิดพลาดในจุดจำเพาะจุดนั้น ผมพบว่า ตามความเห็นดังกล่าว พระวิหารต้องอยู่ในดินแดนฝั่งไทย แต่ตอนนั้นพระวิหารยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก เมื่อเราไปที่นั่น ผมแทบมองไม่เห็นใครมา ผมเดินไปมาแถบนั้นทุกวัน เห็นแต่ซากปรักหักพังและต้นไม้ปกคลุมเป็นส่วนใหญ่ ตัววิหารก็หักพังแน่นอน ผมไม่คิดว่าใครจะรู้จัก นักโบราณคดีน่ะรู้ แต่ไม่มีใครอาศัยอยู่ที่นั่น เราเดินสำรวจ 20 กิโลเมตร พบคนแค่คนเดียว

ในช่วงสองสัปดาห์ ผมอยู่ที่นั่นด้วย ผมคิดว่าคงเป็นชาวนา ขี่ช้างมา

@ ภูมิหลังของคุณเป็นมาอย่างไร?

ผมศึกษาด้านการสำรวจทางธรณีวิทยา ที่มหาวิทยาลัย สตุตการ์ต แล้วทำงานกับบริษัทแห่งหนึ่งนาน 4 ปี ก่อนเดินทางมายังฮอลแลนด์ (เนเธอร์แลนด์) มาที่สถาบันของศาสตราจารย์เซมาฮอลล์ ที่นั่นเป็นสถาบันนานาชาติ เรามีนักศึกษาจากทุกๆ ที่

@ ทำไมถึงมาที่ศาลไอซีเจวันนี้?

ผมสนใจคดีนี้เป็นการส่วนตัว และมาเพื่อพบกับเพื่อนเก่าคือ คุณแม็คโดนัลด์ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำแผนที่และเขตแดน ผมพบเรื่องการพิจารณาคดีพระวิหารหนนี้ในสื่อสาธารณะ

@ แล้วเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีเดิมอย่างไร? ประทับใจไทยเป็นพิเศษหรือเปล่า

ผมถูกเชิญเข้าร่วมในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญ และได้เห็นข้อผิดพลาดในแผนที่ของฝรั่งเศส ซึ่งผมไม่ชอบเอามากๆ จริงๆ

สำหรับประเทศไทยเมื่อผมเดินทางไปนั้น ผมไม่ได้ตรงไปที่ไทยเลยทีเดียว แต่เริ่มต้นการเดินทางที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ แล้วเข้าอินเดีย พม่า ก่อนที่จะมาถึงเมืองไทย จริงแล้วเกิดอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นตอนที่ผมต้องบินจากย่างกุ้งไปกรุงเทพฯ สนามบินดอนเมืองปิด เพื่อให้เครื่องบินอีกลำลงฉุกเฉิน ผมถึงไม่ได้มาถึงกรุงเทพฯในวันที่มีการแต่งตั้ง ไม่มีใครรู้ว่าผมไปอยู่เสียที่ไหน ผมไม่ได้แสดงตัวตามกำหนด แต่ไปโผล่อีกวันให้หลัง พวกนั้นตื่นกันยกใหญ่เพราะไม่รู้ว่าผมไปอยู่ไหน แล้วผมก็จับรถไฟไปอุบลราชธานี แล้วถึงขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังพระวิหาร ระหว่างทางที่อยู่บนเฮลิคอปเตอร์ คุณรู้ไหม คุณจะได้เห็นพื้นที่ทั้งหมดที่เต็มไปด้วยต้นไม้ เจ้าหน้าที่บนเครื่องเลยถามผมว่า อยากบินขึ้นไปดูอีกเที่ยวไหม ผมบอกว่าอยาก นั่นแหละเฮลิคอปเตอร์เลยต้องกลับไปเติมน้ำมัน แล้วก็ตก นักบินเสียชีวิต แต่เราไม่รู้เรื่องอะไรเลยจนหลังจากนั้นอีกพักใหญ่ ผมโชคดีมากเพราะไม่ได้อยู่ในเฮลิคอปเตอร์ลำนั้น

=========================================


เรื่องของเรื่อง ฝรั่งเศสทำแผนที่ผิดพลาด นักกฎหมายไทยปากหนัก
ศาลโลกไม่มาดูสถานที่จริง สรุปทนายความเราอ่อน เพราะถ้าย้อนไปอ่าน
เกี่ยวกับประสาทเขาพระวิหาร เส้นแบ่งเขตสันปันน้ำอยู่ในประเทศไทย

แต่ก็สายเกินแก้แล้ว ก็ต้องยอมรับเป็นพื้นที่ที่เราต้องหาผลประโยชน์ร่วมกัน
เพราะฝรั่งเศสเขาสร้างแผนที่ลวงเข้าข้างเขมรอ่ะนะ ต้องทำใจ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่