ขอคำปรึกษาเรื่องโดนไล่ออก ช่วงทดลองงานคะ

อยากทราบว่า ถ้าโดนไล่ออกหรือปฏิเสธการจ้างงานต่อโดยเวลาที่ทราบข่าวนั้นเป็นเวลาเลิกงานแล้วคือหลังเวลา 17.30น. โดยที่ไม่เคยได้ทราบล่วงหน้ามาก่อน ถามถึงสาเหตุการไล่ออกก็ไม่บอก ฝ่ายบุคคลบอกว่า"ไม่ทราบๆๆ"

นายจ้างเขาทำถูกหรือผิดคะ?

หลังจากนั้นก็ไม่มีเอกสารให้เซ็นลาออกหรืออะไรเลย..(ไม่มีเลยจริงๆ) มีแค่คำพูดที่เขียนมาว่า" คุณถูกปฏิเสธการจ้างงานจากบริษัท..."

แล้วตอนนี้ก็ตกงาน หางานไม่ได้มาจะสัปดาห์กว่าๆแล้ว แล้วอย่างนี้จะเอาเอกสารที่ไหนไปแจ้งว่างงานกับประกันสังคมได้ล่ะค่ะเนี่ย

ใบสลิปเงินเดือนก็ไม่มี ใบไล่ออกก็ไม่ให้มา T^T ทดลองไม่ถึง3เดือน โดนซะแล้วร้องไห้ร้องไห้ร้องไห้
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 10
เลิกจ้างระหว่างทดลองงาน นายจ้างต้องบอกล่วงหน้าหรือไม่
Post on 11-Jan-10
by jobsDB

คุณเพิ่งเข้าทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง โดยมีกำหนดระยะเวลาทดลองงาน 120 วัน แต่เมื่อคุณทำงานได้เพียง 30 วัน นายจ้างก็แจ้งให้คุณทราบว่า คุณไม่ผ่านการทดลองงานเสียแล้ว และยิ่งไปกว่านั้นการบอกกล่าวนี้มีผลบังคับใช้ทันที วันพรุ่งนี้คุณจะกลายเป็นคนว่างงานอีกครั้ง อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เหตุการณ์เช่นนี้ยุติธรรมแล้วหรือ สำหรับลูกจ้างตาดำ ๆ อย่างคุณ

เรื่องการเลิกจ้างระหว่างทดลองงานนี้เป็นปัญหาถกเถียงกันอย่างมาก ว่าลูกจ้างได้รับความยุติธรรมแล้วหรือ นายจ้างสามารถเลิกจ้างเมื่อไรก็ได้ ในระหว่างทดลองงานจริงหรือ จากหนังสือ “เลิกจ้างต้องระวัง” โดยคุณไพศาล เตมีย์ บอกไว้ว่า ปัญหาดังกล่าว เมื่อมีการฟ้องร้องกัน และมีฎีกาตัดสินออกมา ปรากฏว่า การเลิกจ้างเนื่องจากไม่ผ่านการทดลองงาน นายจ้างต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างรับทราบด้วย หากต้องการให้ลูกจ้างออกทันทีโดยไม่ต้องการบอกกล่าวล่วงหน้า นายจ้างจะต้องจ่าย “ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า” ให้ลูกจ้างด้วยจึงจะถูกต้อง



แม้นายจ้างจะทำสัญญากับลูกจ้างไว้แล้วว่า “ระหว่างทดลองงานนั้น นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ทันที หากผลการทำงาน ไม่เป็นที่น่าพอใจ” แต่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสองและวรรคสี่ ซึ่งเป็นวรรคที่กำหนดให้ การเลิกสัญญาจ้างลูกจ้าง จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หรือหากไม่บอกกล่าวล่วงหน้าก็ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ไม่มีข้อความตรงไหนที่ยกเว้นให้ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อเลิกจ้างลูกจ้างที่อยู่ระหว่างทดลองงานเลย ในเมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ จะไปตีความว่าทำได้ และให้สัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้นั้น ศาลท่านก็ถือว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ เพราะขัดกับ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 ตามที่กล่าวมา

หรือแม้นายจ้างจะอ้างว่า การทำสัญญากำหนดการทดลองงาน 120 วันนั้น เป็นเหมือนทำสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลา ดังนั้นเมื่อครบกำหนด 120 วัน หากผลงานไม่ดีก็เลิกจ้างได้เลย เพราะครบกำหนดตามสัญญาแล้ว ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะตีความมาตรา 17 วรรคหนึ่งผิด ตรงข้อความที่ว่า “สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า”

อย่างไรก็ดี ศาลท่านมีการตีความที่ต่างออกไป ซึ่งมีแนวฎีกาออกมาแล้วว่า ไม่ถือว่าการกำหนดการทดลองงานแบบ “ไม่เกิน 120 วัน” เป็น “สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา” เหตุก็เพราะในช่วงระหว่าง 120 วันที่ว่านี้ นายจ้างมีสิทธิจะเลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ได้ หรือไม่เลิกจ้างก็ได้ ในเมื่อเป็นแบบนี้แล้วศาลจึงไม่ถือว่า สัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลาทดลองงาน เป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลา

แต่ถึงแม้จะมีฎีกาออกมาเป็นแนวไว้แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าการถูกเลิกจ้างจะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าทุกกรณี หากคุณทำผิดตามมาตรา 119 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หรือจ่ายเงินชดเชยใด ๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกจ้างที่อยู่ในช่วงทดลองงาน หรือถูกบรรจุเป็นพนักงานประจำแล้วก็ตาม

สรุปแล้ว การเลิกจ้างลูกจ้างระหว่างทดลองงานจึงแยกเป็น 2 กรณีใหญ่ ๆ คือ

กรณีที่ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า คือกรณีที่ลูกจ้างได้กระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 119

กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า คือการไม่ผ่านการทดลองงาน เนื่องจากผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะอาจขาดความรู้ ความสามารถหรือคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด
ดังนั้น หากคุณถูกเลิกจ้างระหว่างทดลองงานโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าก่อนหนึ่งงวดค่าจ้าง คุณมีสิทธิ์ได้เงินแทน ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า โดยนับระยะเวลาการทำงาน ตั้งแต่วันเข้าทำงานเป็นลูกจ้าง จนถึงวันเลิกจ้างเป็นระยะเวลาทำงาน เพื่อเป็นฐานในการจ่ายค่าชดเชย

ที่มา http://th.jobsdb.com/TH/EN/Resources/JobSeekerArticle/may09-02.htm?ID=1297
ความคิดเห็นที่ 3
สิ่งที่นายจ้างต้องจ่าย
1.ค่าจ้างในงวดนั้น เช่น ได้รับเงินเดือนเดือนละ 1 ครั้งทุกวันสิ้นเดือน โดนนายจ้างไล่ออกวันที่ 5 เมษายน อย่างนี้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเดือนเมษายนเต็มเดือน
2.นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 1 เดือน
สมมุติว่าได้เงินเดือน10000 บาท งานนี้ นายจ้างต้องเสียค่าโง่รวม 20000 บาท

หากไม่ได้ตามนี้ ให้ไปร้องเรียนและเล่ารายละเอียดให้ครบถ้วน ที่แรงงานเขตท้องที่ เจ้าพนักงานจะเรียกนายจ้างมาชี้แจงหากข้อเท็จจริงเป็นอย่างที่บอก เจ้าพนักงานจะสั่งให้นายจ้างจ่ายเอง

เรื่องหลักฐานต่างๆ ไม่ต้องกลัว การไปทำงานให้นายจ้างเป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ทราบได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่