...ทิ้งหนี้ไว้ให้ลูกหลาน...ลุงโกร่งพูดไว้น่าคิดนะ

กระทู้สนทนา
ทิ้งหนี้ไว้ให้ลูกหลาน โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร


พ.ร.บ.กู้ยืมเงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่จะไปลงทุนสร้างระบบรางรถไฟ ประโยชน์โภชน์ผลคงไม่ต้องพูดกันแล้ว เพราะฝ่ายรัฐบาลอภิปรายไปแล้ว


ก็เหลือประเด็นที่ฝ่ายค้านใช้เวลาอภิปรายว่า จะเป็นการเปิดช่องให้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง กับสร้างหนี้ไว้ให้ลูกหลาน ควรใช้งบประมาณประจำปีดีกว่า


ประเด็นเรื่องคอร์รัปชั่น ไม่มีใครกล้ารับประกันได้ แต่ต้องช่วยกันป้องกัน ถ้าเล็ดลอดไปได้ ก็ต้องหาทางเอาตัวมาลงโทษให้ได้


แม้ว่าอาจรับประกันได้ ก็ยังต้องลงทุน ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ การฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบอย่างหยาบคาย ก็เหมือนกับสังคมป่วยเป็นริดสีดวงทวาร เข้าห้องเล็กเมื่อไหร่ก็เจ็บปวด มีเลือดไหลทุกที เพราะเป็นจนเรื้อรังไปแล้ว รักษาก็ยาก แต่เมื่อเป็นริดสีดวงแล้วจะไม่ยอมเข้าห้องเล็ก ก็เห็นจะไม่ถูก เมื่อถึงเวลาก็ต้องเข้า แล้วควรระวังดูแลอย่าให้เจ็บปวดมาก รักษากันไป


เมื่อถึงเวลาก็ต้องลงทุนพัฒนาประเทศ ถ้ากลัวว่าจะมีรั่วไหล ก็ต้องหาทางป้องกันปราบปราม ได้ข่าวว่า ท่านประมณฑ์ สุธีวงศ์ ประธานกลุ่มต่อต้านคอร์รัปชั่น จะมาร่วมดูแลไม่ให้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็เบาใจ สบายใจขึ้น


ส่วนประเด็นที่สองที่กลัวกันว่า การกู้ยืมเงินมาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ควรจะตั้งเป็นรายจ่ายในงบประมาณประจำปี เพราะจะได้ปฏิบัติไปตามบทบัญญัติวิธีการงบประมาณ ไม่ควรจะเป็นงบรายจ่ายพิเศษ เพราะจะกลายเป็นภาระกับลูกหลานที่จะต้องมารับภาระ สมัยก่อนหนังสือพิมพ์ชอบคำนวณว่า คนไทยพอเกิดมาปุ๊บก็เป็นหนี้ทันที คนละเท่านั้นเท่านี้บาท


โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างที่รัฐบาลเสนอขอกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทจากประชาชนนั้น เป็นการกู้เงินจากประชาชนในประเทศเพื่อทำการลงทุนขนาดใหญ่ หรือภาษาการคลังเรียกว่าเป็น "Capital Expenditure"


รายจ่ายสำหรับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ มีอายุใช้งานเป็นเวลายาวนาน เช่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มักจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนมาก เช่น ทางหลวงแผ่นดิน ทางรถไฟ สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก ทางด่วนพิเศษ โครงการชลประทาน และอื่น ๆ


โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เหล่านี้ อาจจะแยกประเภทตามลักษณะในการลงทุนเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก โครงการที่รัฐบาลทำให้ราษฎรใช้โดยไม่คิดค่าใช้งาน เช่น ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ระบบชลประทาน กับอีกประเภทหนึ่ง รัฐลงทุน แต่มีการเก็บเงินจากผู้ใช้ จ่ายคืนการลงทุนภายหลัง เข้าลักษณะใครใช้ใครจ่าย ซึ่งกว่าจะคุ้มกับเงินลงทุน อาจจะช้าบ้าง เร็วบ้าง แล้วแต่นโยบาย


สำหรับโครงสร้างพื้นฐานประเภทแรก ก็มักจะอยู่ในอำนาจของกรมใดกรมหนึ่ง เวลาจะลงทุน ก็ตั้งจากงบประมาณประจำปี และผูกพันปีต่อไปเรื่อย ๆ ปีต่อปี รัฐบาลก็ตั้งให้ตามที่ผูกพัน แต่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องตั้งให้ตามที่ขอทุกปี น้อยบ้าง มากบ้าง แล้วแต่ฐานะทางด้านรายได้ เราจึงเห็นทางหลวงแผ่นดินหลายสายมีการก่อสร้างไว้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือโครงการรถไฟรางคู่ทั่วประเทศเริ่มลงทุนมากกว่า 15 ปีแล้ว ก็ยังไม่เสร็จ เพราะงบประมาณได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วแต่นโยบายและความจำเป็นเร่งด่วน


สำหรับโครงการที่รัฐบาลต้องการทำเป็นโครงการที่จะเรียกเก็บค่าบริการมาใช้คืนเงินค่าลงทุนอย่างกรณีรถไฟความเร็วสูงก็ดีท่าอากาศยานก็ดี ท่าเรือน้ำลึกก็ดี ระบบไฟฟ้าก็ดี น้ำประปาก็ดี หรืออื่น ๆ ที่จะทำในลักษณะรัฐพาณิชย์ จึงมักจะมอบให้อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐวิสาหกิจ รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แล้วแต่ความเหมาะสม เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ทั้งในด้านการผลิต การเงิน บุคคล


ในกรณีรถไฟความเร็วสูง ก็คงจัดในรูปรัฐวิสาหกิจรูปใดรูปหนึ่ง คงไม่ตั้งกรมรถไฟความเร็วสูงขึ้นมาเป็นผู้ลงทุน ส่วนจะเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปใด ก็คงต้องคอยฟังกันต่อไป


เมื่ออยู่ในรูปรัฐวิสาหกิจรูปใดรูปหนึ่ง การตั้งงบประมาณประจำปีเพื่อใช้ในการลงทุน ก็ไม่น่าจะเหมาะสม ควรให้รัฐวิสาหกิจเจ้าของโครงการเป็นผู้รับผิดชอบเงินลงทุนเอง แทนที่จะคอยเงินภาษีอากรของประชาชนมาลงทุนเหมือนกรมทางหลวงแผ่นดิน กรมชลประทาน กรมทางหลวงชนบท หรือกรมอุตุนิยมวิทยา


โครงการขนาดใหญ่อย่างนี้ อายุการใช้งานเป็นร้อย ๆ ปี ถ้าต้องการทำเร็วเช่นที่รัฐบาลประกาศไว้ 7 ปีสำหรับรถไฟความเร็วสูง และเร็วกว่านั้นสำหรับโครงการอื่น ๆ หากต้องจ่ายเมื่อการลงทุนเริ่มขึ้น ก็ต้องจ่ายเป็นเงินจำนวนมากในแต่ละปี ปีละ 3-4 แสนล้านบาท ก็จะเต็มวงเงินลงทุนของรัฐบาล แต่ถ้าจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยของเงินลงทุน ถ้าดอกเบี้ยกู้ยืม 3-4 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลก็สามารถตั้งงบประมาณ จ่ายเพียงปีละ 6 ถึง 8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ไม่เต็มวงเงินงบประมาณประจำปี


เมื่อไม่เต็มวงเงินกู้ ก็จะสามารถตั้งงบประมาณลงทุนในด้านอื่นๆ เป็นโครงการสาธารณสุข โครงการการศึกษา โครงการพัฒนาอาชีพ รวมทั้งโครงการทางหลวงแผ่นดิน โครงการชลประทานได้อีก ไม่ใช่เอางบประมาณรายจ่ายทั้งหมดมาลงทุนในโครงการนี้อย่างเดียว อย่างที่ฝ่ายคัดค้านอยากเห็น


การกู้ภายในประเทศ หรือการกู้เงินบาท ก็เท่ากับการระดมเงินออมจากประชาชนไทยมาลงทุน ผู้ออมก็ได้ประโยชน์ คือได้ดอกเบี้ยสูงกว่า และมั่นคงสบายใจกว่าฝากธนาคารพาณิชย์ เพราะผู้กู้คือกระทรวงการคลัง เป็นการเอาเงินออมจากคนรุ่นนี้มาลงทุนสร้างทรัพย์สินไว้ให้ลูกหลาน แทนที่จะไปลงทุนซื้อพันธบัตรอเมริกัน อังกฤษ ยุโรป เพราะทรัพย์เหล่านั้นดอกเบี้ยก็ต่ำ ความเสี่ยงที่ค่าเงินดอลลาร์ เงินปอนด์ และเงินยูโรจะเสื่อมค่า เมื่อเทียบกับรางรถไฟ หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งมีแต่จะมีราคามากขึ้นแพงขึ้น


ผู้รับภาระจ่ายดอกเบี้ยก็คือคนรุ่นนี้ เพราะช่วง 10-15 ปีแรก โครงการก็คงจะขาดทุนอยู่ จะไปทำกำไรได้คืนทุนก็คือรุ่นลูก ยิ่งรุ่นหลานก็คงกำไรมากขึ้น ไม่น่าจะมีภาระมากเท่ากับรุ่นเรา ข้อสำคัญ รายจ่ายที่รัฐบาลจ่าย ก็จ่ายให้ประชาชนคนไทยด้วยกันเอง เจ้าหนี้ก็คือคนไทยด้วยกัน


ดูอย่างครั้งเมื่อรัฐบาลพระพุทธเจ้าหลวงไปออกพันธบัตรเป็นเงินปอนด์ขายที่ยุโรปเพื่อมาเป็นค่าเวนคืนที่และลงทุนสร้างระบบรถไฟขึ้นเมื่อปี 2447 บัดนี้ก็ใช้หนี้หมดไปนานแล้ว พวกเรารุ่นหลานรุ่นเหลนไม่เคยทราบด้วยซ้ำว่าเราเคยมีหนี้ก้อนนี้ แต่เรามีรางรถไฟจากเหนือจดใต้ จากตะวันตกไปตะวันออก


โครงการเงินกู้ธนาคารโลกมาสร้างเขื่อนยันฮี หรือเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ และเขื่อนอื่นที่เราให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตกู้เงินมาก่อสร้าง ก็สามารถคืนเงินกู้ได้จนหมดแล้ว รุ่นเรารู้แต่ว่าเรามีทรัพย์สินเป็นเขื่อน เป็นระบบชลประทาน เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ใช้ไปได้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเรา


ยิ่งเป็นเงินกู้ภายในประเทศ ลูกหนี้ก็เป็นรัฐบาล เจ้าหนี้ก็เป็นประชาชน ประชาชนเป็นทั้งเจ้าของทรัพย์สินและเป็นเจ้าหนี้ ถ้าเกิดประมาทพลาดพลั้ง เช่น ภาษีไม่เข้าเป้า จะยืมประชาชนใหม่มาใช้หนี้เก่าก็ยังได้ ไม่เหมือนกู้ต่างประเทศ ถ้าเครดิตไม่มี อาจจะถูกเรียกหนี้คืนได้ง่าย ๆ หรือยืมใหม่มาใช้หนี้เก่าไม่ได้ ลูกหลานไทยจึงเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพราะเป็นทั้งผู้ถือพันธบัตรและผู้จ่ายภาษีใช้หนี้


พอถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน หนี้ 2 ล้านล้าน มูลค่าจะเหลือนิดเดียว แต่ทรัพย์สินจะมีมูลค่าสูงขึ้นมหาศาลเหมือนหนี้สร้างเขื่อนภูมิพล 2,000 ล้านบาท สมัยโน้น เทียบไม่ได้เลยกับมูลค่าที่ดินและตัวเขื่อนในราคาปัจจุบัน


การกู้เพื่อการลงทุนสร้างทรัพย์สินคราวนี้จึงไม่มีอันตรายเท่าใดเลย


ขออย่างเดียว ลูกหลานเราอย่าบริหารให้ขาดทุนจนพังก็แล้วกัน


ผมเห็นของผมอย่างนี้ ลูกหลานจะด่าก็ตามใจ


ที่มาจาก คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
นสพ.ประชาชาติธุรกิจ

------------

อ่านจบก็ เอ้อ...น่าคิดนะ

ผมก็ผ่อนบ้าน ผ่อนรถอยู่ เหมือนคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้
มีตังค์ก็ไล่โปะไปเรื่อย เพราะอยากให้มันจบเร็วๆ หมดหนี้หมดสิน
แต่มาคิดอีกทีเงินค่างวด ห้าหมื่น แสนนึง ล้านนึง ในวันนี้
จะเหลือค่า เท่าไหร่หนอ ในอีก สิบปียี่สิบปีข้างหน้า

แล้วไอ้มูลค่าของทรัพย์สิน ที่เราผ่อนอยู่ล่ะ
รถนี่คงเห็นๆ ว่า ขาดทุนแน่ หรือ อย่างมากก็คุ้มกะการได้ใช้แค่นั้นเอง
แต่ อสังหา บ้านที่ดินนี่ มูลค่า มันน่าจะแซงหน้า ค่าเงินที่ลดลงเห็นๆ นะ

เอ๊ะ แล้วอย่างนี้ ไอ้ที่ผมไปกู้เงินซื้อบ้านนี่ ตกลงผมทิ้งภาระไว้ให้ลูกหลานไหมหว่า (แถมไม่ได้ถามมันสักคำว่า เห็นด้วยไหม)
แล้วผมจะยังควรไล่โปะ แบบเดิมให้มันหมดหนี้หมดสินไวๆ ดี หรือค่อยๆ ส่งเพราะเงินมันเล็กลง
สมมติว่า ค่างวดวันนี้  ห้าหมื่นบาท  ในวันที่ก๋วยเตี๋ยวยังชามละประมาณ 35-40 (ยกเว้นร้านคุณสาหร่ายนะ)
อีกสิบปี ยี่สิบปีข้างหน้า ในวันที่ราคาก๋วยเตี๋ยวอาจพุ่งไปเป็นชามละ 100 บาท
เงินส่งบ้านเดือนละ ห้าหมื่นนี่ จะเหลือค่าเงินเท่าไหร่หนอ ในวันนั้น

หรือผมควรหยุดสร้างภาระให้ลูกหลานตามที่คนต่อต้าน โครงการสองล้านล้านว่า
แล้วให้ลูกหลานไปกู้ซื้อบ้าน ในวันนั้น เอาเอง


.....น่าคิดนะ.....
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่